ยาน MESSENGER: กุญแจไขปริศนาดาวพุธ
องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซ่ายินดีกันยกใหญ่ เมื่อยานอวกาศ "MESSENGER" ที่ถูกส่งไปสำรวจดาวพุธ สามารถถ่ายภาพหลายร้อยภาพและส่งข้อมูลภาพกลับมายังนาซ่าได้สำเร็จ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นการโคจรรอบดาวพุธเป็นเวลา 1 ปี เพื่อสำรวจดาวเคราะห์ ที่อยู่ใกล้ดาวอาทิตย์มากที่สุดในระบบสุริยะจักรวาล
ชื่อยานอวกาศ "MESSENGER" มาจากอักษรตัวต้นของ MErcury, Surface, Space, ENvironmet, GEochemistry, และ Ranging เข้าสู่วงโคจรของดาวพุธเมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา หลังเดินทางออกจากโลกตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2547 ใช้เวลาเดินทางยาวนานถึง 6 ปีครึ่ง รวมระยะทางทั้งสิ้น 7,900 ล้านกิโลเมตร
หลังจากที่เข้าวงโคจรได้ 2 อาทิตย์ MESSENGER ก็เริ่มไขปริศนาของดาวพุธ ที่อุณหภูมิเดือดพุ่งปรี๊ดถึง 427 องศาเซลเซียสในตอนกลางวัน และทะลุจุดเยือกแข็งในตอนกลางคืน ซึ่งอุณหภูมิติดลบถึง 100 องศาเซลเซียส
นาซ่าเปิดเผยว่า ในช่วงเช้าของวันอังคาร ยาน MESSENGER สามารถถ่ายภาพแห่งประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นภาพถ่ายภาพแรกของดาวพุธที่ถ่ายจากยานอวกาศที่ลอยล่องอยู่ในวงโคจร ในภาพแสดงให้เห็นหลุมขนาดใหญ่และเป็นปล่องภูเขาไฟที่มีชื่อเรียกขานว่า Debussy อยู่ด้านบนของภาพ และพื้นผิวอื่นๆ บริเวณขั้วด้านใต้ของดาว ซึ่งไม่เคยมียานลำใดเคยบันทึกไว้ได้
นอกจากนี้ MESSENGER ยังถ่ายภาพได้อีก 363 ภาพภายใน 6 ชั่วโมงและส่งมายังโลกเมื่อวันพุธ บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างเร่งประชุมหารือเกี่ยวกับภาพที่ได้รับมาใหม่ ซึ่งจะใช้ประกอบกับข้อมูลชุดเดิมที่ได้จากการสำรวจของยานอวกาศ Mariner 10 ซึ่งเคยบินโฉบผ่านดาวพุธถึง 3 ครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2517 - 2518 เพื่อสำรวจและแสดงรายละเอียดของสภาพพื้นผิวเป็นปล่องภูเขาไฟบนดาวพุธ
หลังจากนี้ยาน MESSENGER จะเริ่มปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องในการเก็บข้อมูลรายละเอียดเพื่อสำรวจแผนที่บนดาวพุธเริ่มตั้งแต่วันที่ 4 เมษายนนี้ โดยยานจะโคจรอยู่ในระยะความสูงเหนือดาวพุธ 200 กิโลเมตร และโคจรรอบดาวทุก ๆ 12 ชั่วโมง
การค้นพบครั้งนี้ถือว่าเป็นการไขปริศนาที่สำคัญมาก เพราะดาวพุธเป็นดาวที่สำรวจยากมากที่สุดดวงหนึ่งในระบบสุริยะ แม้จะมีองค์ประกอบพื้นฐานคล้ายโลกก็ตาม เนื่องจากเป็นดาวเคราะห์ที่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ทำให้ได้รับแรงดึงดูดและรังสีปริมาณมหาศาลจากดวงอาทิตย์
กด Like เพื่อติดตามเรื่องเด็ดๆ โดนๆ จากทีมงาน Sanook! Campus