เด็กไทย กับ การสอบ O-NET
** เด็กบอก สอบ O-NET ยาก!!! อยากให้ออกข้อสอบง่ายกว่านี้และตรงกับที่เรียนมา**
จากที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ หรือมีชื่อย่อว่า (สทศ.) ออกมาเปิดเผยผลการสอบ O-NET ของนักเรียน ม.6 ทั่วประเทศ พบว่าค่าเฉลี่ยผลสอบในวิชาหลัก ได้แก่ ภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ในปีการศึกษานี้ตกต่ำลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ ที่ได้คะแนนต่ำมาก เฉลี่ยไม่ถึงร้อยละ 20 "สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จึงได้สอบถามความคิดเห็นจากนักเรียนที่เคยผ่านการสอบ O-NET และพักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,102 คน ระหว่างวันที่ 6-9 เมษายน 2554 สรุปผลได้ดังนี้
1. นักเรียน เรียนกวดวิชาหรือไม่?
อันดับ 1 เรียน 60.59%
เพราะ ช่วยให้เกิดความเข้าใจในวิชาที่เรียนมามากขึ้น, ได้ความรู้นอกเหนือจากที่เรียนในห้องเรียน ,จะได้รู้แนวข้อสอบและได้ลองทำข้อสอบในแต่ละวิชาก่อน ,อยากสอบเข้าสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงได้ ฯลฯ
อันดับ 2 ไม่เรียน 39.41%
เพราะ อ่านหนังสือทบทวนเอง ,ค่าใช้จ่ายสูง ครอบครัวฐานะไม่ดี ,ต้องช่วยที่บ้านทำงาน การบ้านเยอะ ไม่มีเวลา ฯลฯ
2. การเรียนกวดวิชาช่วยให้นักเรียนทำข้อสอบ O-NET ดีขึ้นหรือไม่?
อันดับ 1 ดีขึ้น 54.94%
เพราะ มีความรู้ความเข้าใจทั้งในเนื้อหาที่เรียนและได้รับความรู้ใหม่ๆเพิ่มมาก ขึ้น ,มีเทคนิคช่วยให้จดจำเนื้อหาต่างๆได้ง่ายขึ้น ฯลฯ
อันดับ 2 เหมือนเดิม 45.06%
เพราะ เนื้อหา วิธีการสอนคล้ายกับที่เรียนในโรงเรียน เป็นการอธิบายแบบรวบรัด ,จำนวนผู้ที่เรียนมีมากทำให้ผู้สอนไม่มีเวลาดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ,แนวข้อสอบในแต่ละปีไม่เหมือนกัน ฯลฯ
3. วิชาหลักที่นักเรียนคิดว่าสอบยากที่สุด คือ
อันดับ 1 ภาษาอังกฤษ 26.74%
เพราะ คำศัพท์ยาก ,คำถามยาว ต้องใช้เวลาในการอ่านและแปลความหมาย ,ตัวเลือกเยอะ ทำให้สับสน ฯลฯ
อันดับ 2 คณิตศาสตร์ 24.23%
เพราะ ข้อสอบยาก เน้นให้เขียนโดยการแสดงวิธีทำ และใช้สูตรในการคำนวณมากเกินไป โจทย์ยาว ฯลฯ
อันดับ 3 วิทยาศาสตร์ 21.08%
เพราะ ข้อสอบยาก ,ต้องคิด วิเคราะห์ และต้องใช้สูตรในการคำนวณหลายข้อ ทำข้อสอบไม่ทัน ฯลฯ
อันดับ 4 สังคม 14.36%
เพราะ เป็นการทดสอบความรู้รอบตัว ,ข้อสอบออกไม่ตรงกับเนื้อหาที่เรียนมา ฯลฯ
อันดับ 5 ภาษาไทย 13.59%
เพราะ แนวข้อสอบเป็นไปในลักษณะให้คิด วิเคราะห์มากเกินไป ,โจทย์ยาว ตัวเลือกเยอะ ทำข้อสอบไม่ทัน ฯลฯ
4. นักเรียนมองลักษณะภาพรวมของการสอบเป็นอย่างไร?
อันดับ 1 ข้อสอบยาก ไม่ตรงกับเนื้อหาที่เรียนหรือที่เตรียมมา 48.35%
อันดับ 2 ทำให้รู้ถึงระดับความรู้ความสามารถของนักเรียน และคุณภาพการเรียนการสอน 20.08%
อันดับ 3 เป็นข้อสอบที่ต้องอาศัยการคิดและวิเคราะห์อย่างมาก 18.63%
อันดับ 4 แนวข้อสอบของแต่ละปีไม่เหมือนกัน ทำให้เก็งข้อสอบยาก 12.94%
5. นักเรียนคิดว่ารายวิชาต่างๆ ที่เรียนมาครอบคลุมข้อสอบ O-NET ที่ออกหรือไม่?
อันดับ 1 ไม่ครอบคลุม 53.19%
เพราะ เนื้อหาที่เรียนไม่ตรงกับข้อสอบที่ออกมา , ไม่สามารถคิด วิเคราะห์ได้ตามโจทย์ที่ตั้งคำถามไว้ ฯลฯ
อันดับ 2 ครอบคลุม 46.81%
เพราะ ข้อสอบ O-NET เป็นการนำเนื้อหา วิชาต่างๆที่เคยเรียนมา มาถามใหม่ ,ขึ้นอยู่กับการเตรียมตัวและความขยัน ตั้งใจเรียนของแต่ละคนด้วย ฯลฯ
6. อาจารย์ผู้สอน สอนได้ครอบคลุมข้อสอบ O-NET ที่ออกหรือไม่?
อันดับ 1 ไม่ครอบคลุม 56.22%
เพราะ อาจารย์ส่วนใหญ่สอนไม่ตรงกับข้อสอบที่ออกมา บางข้อคำถามไม่เคยเรียนในห้องเรียน ,วิธีการสอนของแต่ละท่าน ไม่เหมือนกัน ฯลฯ
อันดับ 2 ครอบคลุม 43.78%
เพราะ มีการนำข้อสอบเก่าๆที่ผ่านมา มาติวและสอนแบบเจาะลึกมากขึ้น ,อาจารย์มีประสบการณ์ในการสอนสูง ฯลฯ
7. ปัญหาสำคัญที่สุด ในการทำข้อสอบ คือ
อันดับ 1 ข้อสอบยากเกินไป อ่านแล้วไม่เข้าใจ สับสนกับคำถาม 57.76%
อันดับ 2 เนื้อหา บทเรียนที่เรียนมาไม่ตรงกับข้อสอบที่ออกมา 16.34%
อันดับ 3 เป็นข้อสอบที่ต้องให้คิด วิเคราะห์ /มุมมองของผู้สอบอาจไม่ตรงกับผู้ออกข้อสอบ 13.66%
อันดับ 4 ข้อสอบมีหลายข้อมากเกินไป คำถามยาว ตัวเลือกเยอะ ทำให้ทำข้อสอบไม่ทัน 12.24%
8. นักเรียนคิดว่าควรมีการแก้ไข ปรับปรุงเกี่ยวกับการสอบ O-NET อย่างไรบ้าง?
อันดับ 1 ควรออกข้อสอบให้ง่ายกว่านี้ เพราะข้อสอบยากเกินไป 47.09%
อันดับ 2 ควรออกข้อสอบให้ตรงกับเนื้อหาวิชาที่เรียนมาจากในห้องเรียน 27.15%
อันดับ 3 ควรปรับเนื้อหาของคำถาม จำนวนข้อ ให้เหมาะสมกับระยะเวลาที่กำหนด 15.21%
อันดับ 4 อยากให้ทบทวนหรือหาวิธีการในการออกข้อสอบให้เหมาะสมกว่านี้ 10.55%
กด Like เพื่อติดตามเรื่องเด็ดๆ โดนๆ จากทีมงาน Sanook! Campus