โลกเรา...หน้าที่ใครดูแล???

โลกเรา...หน้าที่ใครดูแล???

โลกเรา...หน้าที่ใครดูแล???
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

ปัจจุบันดูเหมือนปัญหาภัย ธรรมชาติดูจะทวีความรุนแรงและมีความถี่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงเดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวฝนฟ้าคะนอง ทั้งยังเกิดภัยพิบัติแผ่นดินไหว น้ำท่วมในหลายพื้นที่ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศอีกด้วย หรือนั่นอาจเป็นสัญญาณที่เตือนให้รู้ว่า เราควรจะหันมาใส่ใจเรื่องของการดูแลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกันอย่างจริงจัง เสียทีได้แล้ว...

เมื่อเป็นเช่นนั้น การดูแลสิ่งแวดล้อมบนโลกจึงกลายเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างมาก และเพื่อปลุกจิตสำนึกการอนุรักษ์ธรรมชาติให้แก่คนทั้งโลก จึงมีการกำหนดให้มี "วันคุ้มครองโลก"เกิดขึ้น ซึ่งตรงกับวันที่ 22 เมษายนของทุกปี โดยถือกำเนิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเมื่อ 27 ปีก่อน ในวันที่ 22 เมษายน 2513 นักอนุรักษ์ธรรมชาติกลุ่มหนึ่งได้จัดให้มีการแสดงพลังครั้งใหญ่ เพื่อปลุกเร้าจิตสำนึกเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่นับวันยิ่งถูกมนุษย์ทำลาย ในการแสดงพลังครั้งนั้นมีผู้เข้าร่วมกว่า 20 ล้านคนและปรากฏขึ้นตามเมืองใหญ่ๆ เกือบทั้งสหรัฐ หลังจากนั้นความห่วงใยปัญหาสภาพแวดล้อมของสหรัฐอเมริกาก็เพิ่มพูนขึ้นและมี การออกกฎหมายควบคุมการกระทำที่สร้างความเสียหายให้กับธรรมชาติอีกด้วย...

สำหรับในประเทศไทยเริ่มพูดถึง "วันคุ้มครองโลก"ครั้งแรก เมื่อปี 2533 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของสังคมไทยที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะหลังจาก สืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี กระทำอัตวินิบาตกรรม อาจารย์และนักศึกษา 16 สถาบันได้ร่วมกันจัดงานวันคุ้มครองโลกขึ้นเพื่อรณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญ ของป่าอนุรักษ์ และตระหนักถึงวิกฤติที่เกิดจากการทำร้ายสัตว์ป่าและทำลายป่าไม้ประเทศไทย รวมทั้งยังได้จัดงานเพื่อหาทุนเข้ามูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อใช้ในการปกป้องรักษาผืนป่าที่เป็นมรดกของโลกอีกด้วย

ดังนั้น ในวันคุ้มครองโลกที่จะถึงนี้ อาจถือเป็นจุดเริ่มต้นที่เราทุกคนจะหันมาร่วมกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดย ผศ.ดร.จิรพล สินธุนาวา อุปนายกสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม บอกกับเราว่า ปัญหาเรื่องของสิ่งแวดล้อมมีมาตลอดอย่างต่อเนื่อง และที่ใหญ่ที่สุดในตอนนี้คงจะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ที่มีหลากหลายในฤดูเดียวกัน ซึ่งนั่นอาจสืบเนื่องมาจากพฤติกรรมการบริโภคทั้งกินทั้งใช้ของมนุษย์เรานั่น เอง เมื่อเป็นเช่นนั้นก็คงไม่ต้องบอกว่าแล้วใครจะมีหน้าที่ในการช่วยดูแลมัน สิ่งที่เราทุกคนจะช่วยได้และสามารถทำได้ง่ายๆ และใกล้ตัวที่สุด คือ ต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค ไม่ใช่หาวิธีเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ

"คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจถึงสาเหตุของการเกิดภัยต่างๆ จึงยังคงบริโภคกันตามใจตนเอง ตามกระแสนิยม สนใจแต่สิ่งที่จะอำนวยความสะดวก ทำให้ตนเองมีความสุขสบายเท่านั้น โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาที่จะเกิดกับคนรุ่นหลังๆ ซึ่งสิ่งที่อยากให้ทุกคนตระหนักถึงคือ เราจะบริโภคกันแบบที่เป็นมาในอดีตไม่ได้อีกแล้ว ต้องมีการปรับเปลี่ยนเสียใหม่ คิดใหม่ ทำใหม่ เช่น การใช้รถยนต์มีผลต่อสภาพอากาศอย่างชัดเจนเพราะยิ่งรถมาก ก็ยิ่งมีก๊าซคาบอนไดออกไซด์มาก เราควรลดการใช้รถยนต์ให้น้อยลง เดินทางให้น้อยลง บางรายขับรถไปตั้งไกล เพื่อไปรับประทานอาหารหนึ่งมื้อ ซึ่งนั่นถือเป็นเรื่องไม่จำเป็น เราควรซื้อใกล้บ้าน และรับประทานใกล้บ้าน เพื่อลดก๊าซพิษต่างๆ ลง หากจำเป็นก็ให้ใช้ขนส่งมวลชน หรือหันมาใช้จักรยานหรือเดินออกกำลังกายน่าจะดีกว่า อันนี้เป็นแนวทางที่ทุกคนจะต้องปฏิบัติ ไม่ใช่แค่คิดเฉยๆ ต้องทำได้จริงด้วย"ดร.จิรพลกล่าว

ดร.จิรพล บอกต่อว่า เราควรปรับเปลี่ยนการใช้สิ่งของบางอย่างที่อาจเกิดผลเสียต่อธรรมชาติ เช่น น้ำที่ใส่ขวดพลาสติกถ้าเลิกได้ ก็ควรเลิกใช้ เพราะพลาสติกย่อยสลายยาก มันสร้างปัญหามากกว่าสร้างประโยชน์ ทางที่ดีเราควรพกพาขวดน้ำที่สามารถใช้ซ้ำได้ที่เป็นของตนเอง หลีกเลี่ยงการทานผักผลไม้นอกฤดูกาล และมาจากต่างประเทศ และที่สำคัญควรใช้ถุงพลาสติกให้น้อยลงเพราะเป็นตัวการในการเพิ่มก๊าซ เรือนกระจกอย่างรวดเร็ว และอีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจนึกไม่ถึง รู้หรือไม่ว่าเปลือกกล้วยและเปลือกสับปะรดที่ทิ้งใส่ถุงและปิดปากถุงไว้นั้น เมื่อมีการย่อยสลายจะเกิด "แก๊สมีเทน"ขึ้น ซึ่งอันตรายกว่าก๊าซคาบอนไดออกไซเสียอีก เป็นการทำร้ายธรรมชาติเช่นกัน ทั้งหมดนี้ถือเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกบ้านจะต้องตระหนักถึงผลเสียและเปลี่ยน แปลงพฤติกรรมเสียที

"นอกจากนี้การใส่เสื้อผ้าก็มีส่วนในการช่วยโลกเราได้ ซึ่งเราควรหันมาใส่เสื้อผ้าสีสัน แทนการใส่เสื้อผ้าสีขาวเพราะการใส่เสื้อสีขาวจะเป็นตัวเพิ่มแรงกดดันให้แก่ ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ผ้าขาวจำเป็นต้องใช้น้ำ ผงซักฟอกและน้ำยากัดขาวมากกว่าผ้าสีอื่น จึงต้องหลีกเลี่ยง นี่รวมไปถึงผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนผ้าเช็ดตัวก็ควรหลีกเลี่ยงสีขาวด้วยเช่นกัน"ดร.จิรพล

อุปนายกสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ในวันคุ้มครองโลกนี้ถือเป็นวันดีที่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการที่เราทุกคนจะหัน มาดูแลโลกอย่างจริงจัง ช่วยกันส่งเสริมให้การรณรงค์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้มันขยายตัวเร็วขึ้น เพื่ออนาคตของลูกหลาน เพราะปัจจุบันถือว่าคนยังไม่ตื่นตัวเรื่องของการอนุรักษ์ มัวแต่หันไปสนใจเรื่องบ้านเมืองจนลืมมองย้อนดูโลกว่ากำลังถูกทำร้าย ซึ่งเรื่องของโลกใบนี้จะอยู่ต่อไปได้หรือไม่ได้นั้น สำคัญกว่าเรื่องอื่นๆ อย่ารอให้สถานการณ์มันรุนแรงไปกว่านี้ แล้วค่อยลงมือปฏิบัติ เพราะนั้นคือความประมาท และก็จะไม่ทันการเสียแล้ว...

เมื่ออนาคตของโลกทั้งใบอยู่ในมือเราทุกคน อย่าถามว่าหน้าที่นี้ใครต้องดูแล เพราะมันไม่ใช่เรื่องของคนคนเดียว เราทุกคนต้องร่วมมือกัน เพื่อให้โลกของเราเป็นโลกที่น่าอยู่เพื่อคนรุ่นหลังๆต่อไป ก่อนจะไม่มีโลกให้อยู่ต่อไปนะคะ

เรื่องโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่ Team content www.thaihealth.or.th

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook