กอดต่างแบบ สื่อความหมายต่างกัน

กอดต่างแบบ สื่อความหมายต่างกัน

กอดต่างแบบ สื่อความหมายต่างกัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การกอด ไม่เพียงให้ความรู้สึกที่ดีเท่านั้น แต่ยังมีส่วนเพิ่มพลังในการบำบัดหรือเยียวยาผู้ป่วยอีกด้วย จึงอยากเชิญชวนให้คนในครอบครัวกอดกันและกันบ้าง วันละครั้งก็ยังดีค่ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อาจต้องพึงระวังสักหน่อยหากจะกอดคนที่ไม่ใช่ครอบครัวของเรา หรือแม้แต่การกอดเพื่อนก็ตามนะคะ เพราะในสังคมไทยอาจไม่ค่อยคุ้นเคยนักกับการกอดผู้อื่นหรือการกอดในที่สาธารณะ ดังนั้น หากเราจะใช้การกอดบำบัด หรือกอดเพื่อสื่อความรู้สึกต่าง ๆ แล้วก็จะต้องกอดอย่างถูกกาลเทศะ และเหมาะสมกับวัฒนธรรมไทยด้วยค่ะ ซึ่งได้มีผู้รู้กล่าวถึงความหมายของการกอดแต่ละแบบไว้ดังนี้ค่ะ

1.กอดแบบหมี (Bear Hug) เป็นการกอดแบบจารีต ที่มีให้เราเห็นทั่วไป การกอดแบบนี้ควรกอดด้วยความมั่นคง เพื่อให้กำลังใจ ความอบอุ่นและความปลอดภัย มักใช้กับผู้กอดที่ทั้งคู่สูงและตัวโตไม่เท่ากัน

2. กอดแบบหน้าแนบหน้า (A Frame Hug) การกอดแบบนี้ใช้แทนคำพูด "สวัสดี" หรือ "ลาก่อน" ถือเป็นการกอดแบบสุภาพและเป็นทางการ แสดงถึงการต้อนรับหรือความชื่นชม ซึ่งอาจจะเป็นเพื่อนร่วมงาน หัวหน้ากอดลูกน้อง อาจารย์กอดลูกศิษย์ รวมทั้งคนที่เพิ่งรู้จักหรือเคยเห็นหน้ากัน ดังที่เราเห็นชาวต่างชาติเขามักทักทายกันด้วยการกอดแบบนี้ค่ะ

3. กอดด้วยแก้ม (Cheek Hug) เป็นการกอดโดยให้ด้านข้างของใบหน้าแนบชิดกัน แบบแก้มแนบแก้ม มืออาจโอบไหล่กันและกัน เพื่อให้หน้าแนบกันได้สนิทนุ่มนวลมากขึ้น การกอดแบบนี้ต้องทำด้วยความนุ่มนวล อ่อนโยน ในลักษณะของการสื่อถึงจิตวิญญาณ และความเมตตาปราณีต่อกัน การกอดแบบนี้สื่อสารประโยค "ฉันเสียใจด้วย" เมื่อเพื่อนกำลังผิดหวังค่ะ

4. กอดกันกลม (Sandwich Hug) เป็นการกอดสำหรับคนสามคน สองคนหันหน้าเข้าหากันโอบคนที่อยู่ตรงกลางไว้ ศีรษะทั้งสามรวมกันเป็นหนึ่ง ร่างกายสัมผัสกันอย่างอบอุ่น เป็นการสร้างความมั่นใจให้คนที่อยู่ด้านใน เมื่อเขาหรือเธอคนนั้นต้องออกไปเผชิญสถานการณ์ยากลำบาก ผู้ที่กอดกันส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเพื่อน พ่อแม่กอดลูก หรือสามีภรรยาที่ร่วมกันปลอบใจหรือให้กำลังใจใครบางคน

5. กอดเป็นกลุ่ม (Group Hug) ทุกคนมายืนหันหน้าเข้าหากันเป็นวงกลม กายชิดกันมากเท่าที่จะมากได้ มือข้างหนึ่งโอบไหล่ อีกข้างโอบเอว ถ่ายทอดความรู้สึกดีๆถึงเพื่อนทั้งสองข้างผ่านการโอบรัด สักครู่หนึ่ง กลุ่มเพื่อนมักกอดกันด้วยวิธีนี้ เพื่อให้กำลังใจหรือเพิ่มความมั่นใจกันและกัน เพราะทุกคนจะรู้สึกว่าตัวเองไม่โดดเดี่ยว และเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน

6. กอดจากหัวใจ (Heart-Centered Hug) เป็นการกอดที่มีพลังมาก สามารถถ่ายทอดความอ่อนโยน เอาใจใส่ การยอมรับกันและกัน รวมไปถึงกำลังใจและการสนับสนุนช่วยเหลือ ไม่จำกัดระยะเวลาในการกอด เหมาะสำหรับคนที่มีความผูกพันกันลึกซึ้งยาวนาน เช่น เพื่อนเก่าที่เคยร่วมทุกข์สุขกันมานาน เป็นต้น

ไม่ว่าเราจะเลือกกอดแบบไหน เพื่อสื่อความหมายใดก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องเริ่มกอดด้วยใจรัก กอดด้วยสัมผัสแห่งรัก เราจะต้องมั่นใจว่าใจเราต้องรู้สึก "รัก"ก่อน รักแบบไม่มีเงื่อนไข แม้ว่าคนที่อยู่ข้างหน้าตอนนั้นไม่ใช่พ่อแม่เรา ไม่ใช่ญาติ เราก็ต้องไม่กอดด้วยความสงสารหรือปราศจากความรัก มิเช่นนั้นอ้อมกอดนั้นจะเจ็บปวด เป็นอ้อมกอดรสขมและไม่ช่วยให้ดีขึ้น แต่ถ้าเมื่อไรที่กอดด้วยความรัก ความรู้สึกที่เป็นบวก ก็จะได้ผลในเชิงการบำบัดเยียวยาได้ค่ะ

ธัญญลักษณ์ เหล็กพิมาย
สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook