"ดอกส้มสีทอง" หนึ่งบททดสอบรู้ทันสื่อของสังคมไทย

"ดอกส้มสีทอง" หนึ่งบททดสอบรู้ทันสื่อของสังคมไทย

"ดอกส้มสีทอง" หนึ่งบททดสอบรู้ทันสื่อของสังคมไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กลายเป็นกระแสข่าวครึกโครมสำหรับละครดังที่ว่าด้วยเรื่องสถาบันครอบครัว ภรรยาน้อย ภรรยาหลวง และการเสนอพฤติกรรมที่ผู้ปกครองหลายคนติติงว่าไม่เหมาะสม แต่จะว่าไปแล้วเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย กรณีละครฉาว คาว เสื่อม ถูกตีข่าวมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ทว่าปัญหาเดิมก็มักจะมีให้เห็นอีกเมื่อเวลาผ่านไป

"ณัฐยา บุญภักดี" ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวถึงกระแสการต่อต้านละครโทรทัศน์ เรื่อง "ดอกส้มสีทอง" เนื่องจากผู้ปกครองหลายท่านเห็นว่าเนื้อหาและการแสดงไม่เหมาะสมว่า ในการชมสื่อโทรทัศน์หรือภาพยนตร์นั้น ผู้ปกครองและเด็กควรดูอยู่ด้วยกัน และควรถือเป็นช่วงเวลาที่ผู้ปกครองจะใช้เป็นโอกาสในการพูดคุยกับลูกเกี่ยวกับเนื้อหาละคร เกมโชว์ โฆษณา หรือทอล์กโชว์ที่ออกอากาศอยู่ในขณะนั้น ไม่ควรจะต่างคนต่างดู ซึ่งหากจะให้การรับรู้สื่อของเด็กเกิดเป็นกระบวนการเรียนรู้ ก็ไม่ควรจะพิจารณาเฉพาะละครหลังข่าว เพราะสื่ออื่นๆ ล้วนมีผลในการสอดแทรกค่านิยมทางสังคม

"พ่อแม่ต้องเอาใจใส่ ไม่ให้ทีวีเลี้ยงลูก เป็นหน้าที่ของคนดูแลเด็กที่จะฉวยโอกาสในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ระหว่างดูทีวีร่วมกัน โดยอาจใช้การตั้งคำถามว่า พูดคุยให้เข้าใจว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ลูกจะทำอย่างไร จะทำอย่างในละครไหม หรือถามว่าลูกดูแล้วรู้สึกอย่างไร โดยไม่จำเป็นต้องสั่งสอนตลอดเวลาก็ได้ แต่ใช้คำถามเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ และสอดแทรกค่านิยมที่ดีให้กับลูก" ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศกล่าว

น.ส.ณัฐยา กล่าวอีกว่า สำหรับนิยายเรื่องดอกส้มสีทองนั้น หากพิจารณาถึงเนื้อหาของนิยายแล้ว จะพบว่าละครมีการวางพฤติกรรมของตัวละครที่เด่นชัด ว่าเกิดและเติบโตมาอย่างไรในวัยเด็ก ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของตัวละครเมื่อเติบโตขึ้น เช่น นางเอกของเรื่องที่ถูกล้อเลียนมาตั้งแต่เด็กว่า เป็นลูกไม่มีพ่อบ้าง หรือเป็นลูกแขกบ้าง อยู่ท่ามกลางคนรอบข้างที่ไม่ได้ชื่นชมยินดี จึงทำให้นางเอกรู้สึกว่าไม่มีอะไรที่อยากจะรักษาไว้ เมื่อถูกดูถูกดูหมิ่นจึงทำให้มีแรงขับที่จะก้าวให้พ้นจากสภาพที่เป็นอยู่ บวกกับสังคมให้คุณค่ากับการแสวงหาประสบการณ์ทางเพศของผู้ชาย เมื่อมีโอกาสจึงใช้ร่างกายแลกกับช่องทางการยกระดับตัวเอง ซึ่งละครเรื่องนี้สะท้อนสภาพของสังคมไทย

"สังคมไทยยังไม่สามารถปรับตัวเรื่องการเรียนรู้เท่าทันสื่อ ทั้งที่กระบวนการเรียนรู้เท่าทันสื่อเป็นสิ่งสำคัญมากในยุคปัจจุบัน เนื่องจากเราสามารถเสพความบันเทิงได้จากสื่อหลากหลายประเภท ง่ายดายขึ้นและได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่ในหลักสูตรเรื่องทักษะชีวิตของเราไม่มีเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ ขณะที่ในประเทศที่ใส่ใจในเรื่องนี้ จะมีการเตรียมความพร้อมให้เด็กสามารถรับมือกับสื่อต่างๆ ได้ เช่น นำเอาโฆษณาขนมหวานมาให้เด็กดูแล้วพูดคุยร่วมกันว่า ดูแล้วเชื่อหรือไม่ เชื่ออย่างไร ให้เห็นกระบวนการในการผลิตโฆษณาว่าเป็นอย่างไร ให้เด็กเห็นว่าสิ่งที่เห็นหน้าจอไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมด ทำให้เด็กคิดวิเคราะห์ และแยกแยะเป็น แต่บ้านเราไม่ได้ให้ความสำคัญ ใช้วิธีง่ายๆ คือ ห้ามฉาย ซึ่งไม่ช่วยสร้างปัญญาให้กับเด็ก" น.ส.ณัฐยากล่าว

ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ กล่าวไปว่า การนำเสนอของสื่อมวลชนต่อกรณีดังกล่าวนั้น ควรนำเสนอผ่านการวิเคราะห์ในลักษณะของข่าวสอบสวนไม่ใช่การสร้างกระแสเร้าความรู้สึก เช่น ย้อนกลับไปดูบทละคร พูดคุยกับคนเขียนนิยายว่าต้องการนำเสนอเรื่องอะไร หรือผู้ปกครองที่มีความคิดเห็นหลากหลาย นักวิชาการแขนงต่างๆ เพิ่มมุมมอง และปัญญาให้สังคม เพราะแม้ว่าละครเรื่องนี้จะจบไปก็จะมีละครเรื่องใหม่มาฉายแทน ซึ่งคนในสังคมควรรู้เท่าทันสื่อไปพร้อมๆ กัน ฟังอย่างนี้แล้วพ่อแม่ผู้ปกครองหลายๆ บ้าน อาจต้องยอมสละเวลาพูดคุยกับเด็กๆ ในครอบครัวให้มากขึ้น เพื่อสร้างความคุ้มกันให้เจ้าตัวเล็กได้เสพสื่ออย่างรู้เท่าทันสื่อ

เรื่องโดย : คีตฌาณ์ ลอยเลิศ

ภาพประกอบ : ช่อง 3

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook