"รัตน์ ปทุมวัฒน์" ที่ 1 แอดมิสชั่นส์ ปีล่าสุด เปิดใจเลือก "ทุนเล่าเรียนหลวง"เรียนต่ออเมริกา

"รัตน์ ปทุมวัฒน์" ที่ 1 แอดมิสชั่นส์ ปีล่าสุด เปิดใจเลือก "ทุนเล่าเรียนหลวง"เรียนต่ออเมริกา

"รัตน์ ปทุมวัฒน์" ที่ 1 แอดมิสชั่นส์ ปีล่าสุด เปิดใจเลือก "ทุนเล่าเรียนหลวง"เรียนต่ออเมริกา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประกาศผลแอดมิสชั่นส์ ปี 2554 กันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คนเก่งที่ทำคะแนนสอบได้สูงสุดของแต่ละคณะจะเป็นใครกันบ้างต้องติดตาม วันนี้พวกเขาแท็กทีมกันมาเผยเคล็ดลับความสำเร็จ โดยเฉพาะ "น้องแก้ว" นายรัตน์ ปทุมวัฒน์ ผู้ที่ทำคะแนนสอบได้สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ และเป็นอันดับ 1 ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ปัจจุบันกำลังเตรียมตัวไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาด้วยทุนเล่าเรียนหลวง จึงต้องสละสิทธิ์ที่นั่งในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ไป ฉบับนี้น้องแก้วจะมาเปิดใจพูดถึงเรื่องราวดังกล่าวให้ทราบกัน

"น้องแก้ว" นายรัตน์ ปทุมวัฒน์ เปิดใจว่า ที่ผมเรียนได้ดีนั้น เพราะว่าผมได้เรียนในสิ่งที่ชอบ ในสิ่งที่รัก เลยทำคะแนนออกมาได้ดี เกรดเฉลี่ยสะสมอยู่ที่ 3.99 ตัวผมชอบและสนใจทางด้านภาษาและสังคมอยู่แล้ว เลยเลือกเรียนสายศิลป์-ฝรั่งเศส ตอนมัธยมปลาย ความชอบจะช่วยผลักดันให้เรามีความกระตือรือร้น อยากรู้อยากเห็น อยากค้นคว้า ทำให้ผลการเรียนออกมาดี ผมมองว่าชีวิตนักเรียนมัธยมปลายไม่ใช่มีไว้เพื่อหาความรู้เพียงอย่างเดียว เราต้องหาประสบการณ์อื่น ๆ จากการทำกิจกรรมด้วย ที่ผ่านมาผมทำกิจกรรมของโรงเรียนเยอะมาก เช่น โต้วาที ละครเวที กีฬาสี ฯลฯ ส่วนนอกเวลาเรียนก็มีไปเที่ยวกับเพื่อน ๆ บ้าง เล่นกีฬา ฟังเพลง ใช้ชีวิตเหมือนวัยรุ่นทั่ว ๆ ไป

เทคนิคการอ่านหนังสือของผม ถ้าต้องอ่านหนังสือที่มีเนื้อหาเยอะ ๆ ผมจะทำเป็นหัวข้อย่อย ๆ คล้ายสารบัญว่ามีหัวข้ออะไรบ้าง จะช่วยให้เราเข้าใจได้ง่ายขึ้นกว่าการทำความเข้าใจรวดเดียว แต่ถ้าเป็นเรื่องของภาษาอังกฤษ ควรเริ่มต้นอ่านเพื่อให้เกิดความเคยชิน อ่านจากน้อย ๆ แล้วค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้น เวลาทำข้อสอบจะได้อ่านได้ทันเวลาและจับใจความได้อย่างถูกต้อง เรื่องของภาษาเป็นเรื่องของทักษะ ต้องฝึกฝนบ่อย ๆ แล้วจะพัฒนาได้ดีขึ้น ตัวผมก็มีฟังเพลง ฟังข่าว ฝึกพูด ฝึกเขียน ฝึกอ่าน ภาษาอังกฤษ ทำให้ผมสามารถพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษได้ดียิ่งขึ้น

ผมดีใจมากที่สอบแอดมิสชั่นส์ได้คะแนนอันดับ 1 ของประเทศ และอันดับ 1 ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แต่สุดท้ายก็ต้องสละสิทธิ์ไป เสียดายเหมือนกัน เพราะผมได้รับ "ทุนเล่าเรียนหลวง" ทุนนี้ถือเป็นเกียรติและความภาคภูมิใจที่สุดของชีวิตผมและครอบครัว เนื่องจากเป็นทุนของในหลวง ผมคิดไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าถ้าได้ทุนเล่าเรียนหลวงก็จะไปเรียนต่อต่างประเทศแน่นอน พอทราบว่าตัวเองได้รับทุนนี้ดีใจมาก ๆ เพราะกว่าที่จะได้ทุนนี้มาต้องทุ่มเทและใช้ความพยายามอย่างมาก ผมกำลังจะบินไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาปลายเดือนนี้ ทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ University of California, Berkeley ที่นี่เขามีความเชี่ยวชาญทางด้านสังคมศาสตร์ มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน และมีความขลังอยู่ในตัว ที่สำคัญยังเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกด้วย ตอนแรกตั้งใจจะไปเรียนที่ฝรั่งเศส แต่เปลี่ยนใจมาเรียนที่อเมริกาแทน เพราะว่าคุณพ่อคุณแม่อาจจะไปอยู่ที่นั่นด้วย สำหรับผมที่เลือกเรียนมหาวิทยาลัยทางฝั่งตะวันตก เพราะคุ้นชินกับอากาศและการใช้ชีวิตมากกว่า ที่จริงผมเริ่มเรียนเดือนสิงหาคม แต่บินไปเตรียมตัวก่อนล่วงหน้า ถึงเวลาเรียนจริงจะได้ไม่มีปัญหา

ตอนที่ตัดสินใจสมัครทุนเล่าเรียนหลวง ต้องเตรียมตัวหนักมาก เพราะคนที่ได้ต้องเก่งมาก ๆ ก็มีปรึกษาคุณพ่อคุณแม่ด้วยเรื่องสมัครทุนนี้ ผมได้ไปปรึกษาอาจารย์ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่ติวให้เด็กทุนมาเกือบ 10 ปี ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ท่าน ท่านก็แนะนำให้ผมไปฝึกเขียนเยอะ ๆ เพราะข้อสอบทุกวิชาของทุนเล่าเรียนหลวงจะเป็นการเขียนทั้งหมด ยกเว้นวิชาภาษาอังกฤษอย่างเดียว เนื้อหาที่ใช้สอบข้อเขียนจะไม่ได้อยู่ในหนังสือเพียงอย่างเดียว ขอบเขตจะกว้างมาก ๆ เราต้องเข้าใจในเนื้อหานั้นจริง ๆ ถึงจะเขียนออกมาได้ดี วิชาที่สอบชิงทุนของสายศิลป์ก็จะมีภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา โดยเขาจะให้โจทย์มา เราก็เขียนตอบไป ตัวอย่างโจทย์เช่น วิกฤตเศรษฐกิจค่าเงินบาท การใช้เทคโนโลยีทางภูมิศาสตร์ที่เป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อม นอกจากสอบข้อเขียนแล้วยังมีแยกออกมาสอบอีก 2 ตัว คือ writing และ translation เราไม่มีทางรู้เลยว่าข้อสอบจะออกอะไร ทางที่ดีที่สุดคือ ต้องฝึกเขียนให้มาก ๆ ก่อนสอบผมเขียนไป 20-30 บทความ ในทุก ๆ วิชาที่มีสอบต้องทุ่มเทและตั้งใจมาก ๆ

ส่วนวิชาภาษาอังกฤษผมไม่ค่อยกังวลมาก เพราะมีโอกาสได้เดินทางไปต่างประเทศบ้าง และได้ฝึกฝนอยู่บ่อย ๆ ก็มีไปติวภาษาอังกฤษเพื่อฝึกการแปลกับเพื่อนของคุณแม่ในส่วนของการสอบ translation เพราะข้อสอบ translation ของทุนจะยาวประมาณ 1 หน้าครึ่ง แปลไทยเป็นอังกฤษ แปลอังกฤษเป็นไทย และย่อความไทยเป็นอังกฤษ ย่อความอังกฤษเป็นไทย ทั้งหมด 6 ข้อ ในเวลา 3 ชั่วโมง การแปลนั้นไม่ยาก แต่ต้องมีลีลาทางภาษาที่ดี และสามารถสื่อความหมายออกมาได้อย่างชัดเจน ผมต้องฝึกแปลเยอะมากเพื่อจะได้ทำคะแนนสอบออกมาได้ดี ตอนนั้นมีคนสอบทุนเล่าเรียนหลวงทั้งหมด 600 คน แต่มีทุนเพียงแค่ 9 ทุนเท่านั้น ต้องทุ่มเทกันอย่างเต็มที่ หลังจากนั้นจะคัดเลือกให้เหลือ 18 คน เพื่อสอบสัมภาษณ์ต่อไป

ในส่วนของการสอบสัมภาษณ์ กรรมการเขาจะถามเรื่องส่วนตัวมากกว่า สัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ รอบนี้จะเป็นการคัดกรองคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ดูว่าจะเรียนไหวไหม มีทัศนคติในด้านต่าง ๆ ยังไง เมื่อจบแล้วพร้อมที่จะกลับมารับใช้ประเทศชาติหรือไม่ ตัวอย่างคำถามในการสัมภาษณ์ เช่น คิดยังไงกับคนที่ได้ทุนแต่ไม่กลับมาทำงานรับใช้ชาติ ชอบเรียนวิชาไหนบ้าง ลองพูดถึงแผนการเรียนว่าจะไปเรียนที่ไหน สาขาไหน ทำไมถึงอยากเรียนทางด้านนี้ มหาวิทยาลัยที่เราเลือกไปเรียนต่อดีจริงไหม ฮีโร่ในสายอาชีพที่คุณอยากทำงานในอนาคตคือใคร และทำไมถึงชอบเขา ฯลฯ คำถามก็จะมีประมาณนี้ เมื่อประกาศผลออกมาผมสอบได้ที่ 1 ของทุนเล่าเรียนหลวง ในสายศิลป์-ภาษา ดีใจและภูมิใจที่สุดในชีวิตเลยครับ

มาถึงคิวน้อง ๆ คนเก่งคนอื่น ๆ เล่าถึงความสำเร็จกันบ้าง เริ่มต้นกันที่ "น้องซิม" น.ส.บุลพร แซ่ลิ่ม จากโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ทำคะแนนได้สูงสุด 89.53 เปอร์เซ็นต์ ของคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เล่าถึงความรู้สึกว่า ซิมเตรียมตัวสอบตั้งแต่ชั้นม.4 แล้ว พยายามตั้งใจเรียนในห้องให้มาก ๆ หรือถ้าไปเรียนพิเศษก็จะตั้งใจเรียนมาก ๆ เข้าเรียนตรงเวลา จดเลกเชอร์เยอะ ๆ สำคัญเลยคือต้องเก็บความรู้ในห้องเรียนให้ได้มากที่สุด ทำการบ้านตามที่ครูสั่ง ถ้าช่วงก่อนสอบก็จะเพิ่มเวลาในการอ่านหนังสือให้มากขึ้น เทคนิคในการอ่านหนังสือของซิมคือ อ่านหนังสือหลาย ๆ รอบ ช็อตโน้ตหรือไฮไลต์ในจุดที่สำคัญ ๆ เพื่อจะได้กลับมาอ่านภายหลัง ก็มีไปเรียนพิเศษบ้าง เพราะที่เรียนพิเศษเขาจะสรุปเนื้อหามาให้แล้ว จะเรียนเฉพาะวิชาที่ไม่ถนัดและต้องท่องเยอะ ๆ เช่น วิชาสังคมศึกษา

"น้องบอน" นายนพพล สิระนาท จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ทำคะแนนได้สูงสุด 87.04 เปอร์เซ็นต์ ของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เปิดใจว่า ที่ผ่านมาผมจะตั้งใจเรียนในห้องมาก ทำการบ้านตามที่ครูสั่ง อ่านหนังสือ ทำโจทย์แบบฝึกหัดเยอะ ๆ เทคนิคการอ่านหนังสือของผมคือไฮไลต์ตรงส่วนที่สำคัญ ๆไว้ จะได้จำได้เมื่อกลับมาอ่านทบทวนภายหลัง สำหรับผมการเรียนพิเศษเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งเท่านั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องอ่านหนังสือด้วยตัวเอง ทำแบบฝึกหัดเยอะ ๆ ผมจะเรียนพิเศษเฉพาะวิชาที่ไม่ค่อยถนัดเท่านั้น

"น้องเบญ" น.ส.เบญญดา ถาวรเศรษฐ จากโรงเรียนสตรีวิทยา 2 ทำคะแนนได้สูงสุด 83.87 เปอร์เซ็นต์ ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเบญจะตั้งใจเรียนเวลาที่อาจารย์สอน หมั่นทบทวนในสิ่งที่ได้เรียนมา การเรียนที่มีคุณภาพไม่ใช่การคร่ำเคร่งเรียนเพียงอย่างเดียว ต้องรู้จุดดีและจุดด้อยของตนเองว่าวิชาไหนที่เราไม่ค่อยถนัด ก็ต้องให้ความสำคัญมากกว่าวิชาที่เราถนัด และควรให้ความสำคัญกับทุกวิชาด้วย สำหรับเรื่องเรียนพิเศษ คิดว่าเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ในตอนนี้ ถ้าให้แนะนำก็ควรจะเรียนพิเศษเฉพาะวิชาที่คิดว่าตัวเองไม่ถนัดจะดีกว่า ที่สำคัญคือต้องตั้งใจเรียนในห้องเรียนให้มากที่สุด

"น้องปรัชญ์" นายปรัชญ์วรกิตติ์ แก้วศิริรัตน์ จากโรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย ทำคะแนนได้สูงสุด 83.59 เปอร์เซ็นต์ ของคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าให้ฟังว่า สำหรับเคล็ดลับการเรียนของผม คือ ต้องตั้งใจฟังอาจารย์เวลาที่ท่านสอน สงสัยอะไรก็ถาม ที่สำคัญต้องทำการบ้าน และก็เรียนพิเศษบางวิชาที่เราคิดว่าต้องเรียนเสริม ส่วนเรื่องของการเตรียมตัวสอบ ผมจะฝึกทำโจทย์เยอะ ๆ วางแผนการอ่านหนังสือ แบ่งปันความรู้กับเพื่อน ช่วยกันติว เพราะการติวกับเพื่อนทำให้เราได้ทบทวนความรู้ไปในตัว และต้องแบ่งเวลาสำหรับอ่านหนังสือ ส่วนใหญ่ผมจะอ่านหนังสือตอนกลางคืน เพราะว่ามันเงียบ และมีสมาธิ จะอ่านจับใจความแล้วก็เอามาวิเคราะห์ พร้อมกับทำความเข้าใจ

"น้องฟาง" น.ส.ลออรัตน์ จงฐิตินนท์ จากโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ทำคะแนนได้สูงสุด 82.21 เปอร์เซ็นต์ ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าถึงเคล็ดลับการเรียนว่า ต้องมีสมาธิและตั้งใจฟังในสิ่งที่อาจารย์สอนให้มากที่สุด ทำความเข้าใจกับสิ่งที่เรากำลังเรียนอยู่ และที่สำคัญต้องฝึกทำโจทย์เยอะ ๆ ส่วนเทคนิคการอ่านหนังสือของตนคือ เวลาอ่านต้องมีสมาธิและพักผ่อนให้เพียงพอ แล้วจะจำได้ดี


"น้องปู้" น.ส.ตะวันรัตน์ รุ่งปัญญารัตน์ จากโรงเรียนสตรีวัดระฆัง ทำคะแนนได้สูงสุด 84.69 เปอร์เซ็นต์ ของคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะเคล็ดลับการเรียนว่า เทคนิคการเรียนของปู้คือตั้งใจเรียนในห้องเรียน และอ่านหนังสือมาก ๆ ที่สำคัญเวลาเข้าห้องสอบต้องตั้งสติดี ๆ อย่าตื่นเต้น ส่วนภาษาอังกฤษพยายามท่องศัพท์เยอะ ๆ การอ่านหนังสือเราต้องแบ่งเวลาให้ดี ๆ ควรอ่านวิชาละ 1 ชั่วโมง ไม่อย่างนั้นจะทำให้เราเบื่อไม่อยากอ่าน ควรอ่านสลับกันหลาย ๆ วิชา และตั้งเป้าไว้ด้วยว่าจะอ่านเมื่อไหร่ และอ่านกี่เล่ม

ปิดท้ายที่ "น้องเจีย" น.ส.กานตา ทิพย์ธาร จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ทำคะแนนได้สูงสุด 86.98 เปอร์เซ็นต์ ของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าให้ฟังว่า การสอบที่ผ่านมาค่อนข้างยากเหมือนกัน พยายามทบทวนหนังสือเยอะ ๆ ค้นหาข้อมูลความรู้ทางอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับเรื่องทั่ว ๆ ไป ส่วนเทคนิคการอ่านหนังสือของเจียเน้นการอ่านให้เข้าใจมากกว่าท่องจำ เมื่อเราเข้าใจแล้วเราจะสามารถจดจำได้เอง

สุดท้ายน้อง ๆ คนเก่งฝากถึงเพื่อน ๆ ว่า อย่ามองว่าอะไร ๆ มันยากเกินตัวเรา อนาคตของเราอยู่ที่ตัวเราเอง ถ้าเราได้พยายามอย่างเต็มที่แล้ว ผลออกมาอย่างไรไม่ต้องเสียใจ เพราะสุดท้ายแล้วไม่ว่าจะได้ทุนดียังไง เรียนที่ดี ๆ ยังไง ก็อยู่ที่ตัวเรา ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน อยู่ที่เราว่าจะสร้างโอกาสให้ตัวเองได้ไหม พยายามใช้โอกาสนั้นให้ดีที่สุด แล้วชีวิตจะออกมาดีเอง

ที่มา "การศึกษาวันนี้"
ผู้เขียน : กองบรรณาธิการ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ "รัตน์ ปทุมวัฒน์" ที่ 1 แอดมิสชั่นส์ ปีล่าสุด เปิดใจเลือก "ทุนเล่าเรียนหลวง"เรียนต่ออเมริกา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook