อเมริกาปลอมสินค้าจีน
ผลพวงจากการที่ยาแผนโบราณจากประเทศจีนสามารถรักษาอาการปวดเมื่อยตามร่างกายได้ผลชะงัด
ผลพวงจากการที่ยาแผนโบราณจากประเทศจีนสามารถรักษาอาการปวดเมื่อยตามร่างกายได้ผลชะงัดทันตาเห็น ทำให้นักต้มตุ๋นชาวอเมริกันผลิตสินค้าปลอมเลียนแบบแต่ไม่มีคุณสมบัติในการรักษาโรค สร้างความเสียหายไปถึงยาต้นตำรับจนกลายเป็นคำสามัญใช้เรียกแทนสินค้าปลอมแปลงไร้คุณภาพทุกชนิด
ผู้ที่อ่านบทความหรือชมภาพยนตร์จากอเมริกามักจะเคยผ่านตากับคำว่า "น้ำมันงู" (Snake Oil) กันมาไม่มากก็น้อย คำคำนี้ใช้เรียกแทนสินค้าที่ผู้ผลิตโอ้อวด แอบอ้างประสิทธิภาพของสินค้าเกินกว่าความเป็นจริงหรือสินค้าที่ไม่มีประโยชน์เลยสักนิดเดียว หากแต่ในความเป็นจริงแล้วน้ำมันงูของแท้มีประโยชน์มากมายมหาศาล
ชื่อเสียงที่เสียไปกลายเป็นชื่อเสียนั้นเกิดจากความมักง่ายของนักต้มตุ๋น ผลิตสินค้าเทียมเลียนแบบกอบโกยเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง สร้างความเสื่อมเสียไปถึงสินค้าต้นตำรับจนคนส่วนใหญ่เหมารวมเอาว่าเป็นสินค้าหลอกลวงเช่นเดียวกัน
แรงงานถูกแต่ผลผลิตสูง
หลังจากมีการค้นพบขุมทองในรัฐแคลิฟอร์เนียช่วงทศวรรษที่ 1860 ทำให้ชาวอเมริกันจากทั่วทุกสารทิศพากันหลั่งไหลกันมาอาศัยอยู่แถบตะวันตกของทวีปอเมริกา รัฐบาลจึงมีนโยบายสร้างทางรถไฟข้ามทวีปรองรับการอพยพของคนจำนวนมากจากฝั่งตะวันออกมายังฝั่งตะวันตกผ่านหนองน้ำ หุบเขา และทะเลทราย เป็นระยะทาง 1,800 ไมล์
การก่อสร้างช่วงแรกประเมินค่าใช้จ่าย 186 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่างบประมาณส่วนกลางประจำปีมากกว่าเท่าตัว กรรมกรชาวยุโรปและอเมริกันไม่พอใจกับค่าแรงที่ได้รับและเรียกร้องให้มีการขึ้นค่าแรง บริษัทรับเหมาจึงแก้ปัญหาด้วยการนำเข้าแรงงานราคาถูกจากมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน โดยให้เหตุผลว่าหากคนจีนสามารถสร้างกำแพงเมืองจีนได้และประดิษฐ์ดินปืนได้ พวกเขาก็มีความสามารถพอที่สร้างทางรถไฟข้ามทวีป
แรงงานจีนกลุ่มแรกเดินทางมาถึงอเมริกาในปี 1850 คนงานเหล่านี้ได้รับค่าจ้างระหว่าง 26-35 ดอลลาร์ต่อเดือน ทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน วันละ 12 ชั่วโมง โดยไม่มีสวัสดิการอาหารและที่พักอาศัย ในขณะที่แรงงานคนผิวขาวได้รับค่าจ้างขั้นต่ำอย่างน้อย 35 ดอลลาร์ต่อเดือน พร้อมอาหารและที่พักอาศัย
คนจีนพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาขยันกว่า อดทนกว่า ทำงานตามที่ได้รับคำสั่งไม่มีปากไม่มีเสียง ไม่เรียกร้อง และที่สำคัญที่สุดคือค่าจ้างถูกกว่า ดังนั้น เพียงแค่ 2 ปีต่อมากรรมกรสร้างทางรถไฟกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ถูกแทนที่ด้วยแรงงานนำเข้าจากประเทศจีน ในปี 1852 มีกรรมกรชาวจีนมากถึง 25,000 คน
ยาวิเศษ
เคล็บลับที่ทำให้ชาวจีนทำงานหามรุ่งหามค่ำติดต่อกันเป็นเวลานานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นก็เพราะพวกเขามียาวิเศษ หลังจากเลิกงานกลับที่พัก กรรมกรชาวจีนเหล่านี้จะนวดทั่วตัวด้วย "น้ำมันงู" เมื่อถึงรุ่งเช้าของวันใหม่ กล้ามเนื้อของพวกเขาก็ผ่อนคลาย สามารถออกทำงานหนักได้อีกครั้งโดยไม่มีอาการเมื่อยล้าแสดงออกมาให้เห็น
น้ำมันงูที่ชาวจีนนำติดตัวมาด้วยเป็นยาแผนโบราณที่ชาวจีนรู้กันดีมานานนับพันปี มันเป็นน้ำมันสกัดจากงูสายรุ้ง งูที่มีพิษอ่อนมากอาศัยอยู่ในน้ำ มีสรรพคุณรักษาอาการเคล็ดยอกกล้ามเนื้อและปวดเมื่อยตามร่างกาย ดังนั้น ถ้าจะเรียกให้ถูกต้องจริงๆแล้วควรจะเรียกว่าน้ำมันงูน้ำเมืองจีนมากกว่า (Chinese Water Snake Oil)
ประสิทธิภาพมหัศจรรย์ที่เห็นได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องอาศัยคำโฆษณาทำให้เป็นที่ยอมรับกันว่ามันเป็นยาวิเศษอย่างไม่ต้องสงสัย แต่คนอเมริกันรู้แค่เพียงสกัดมาจากงู เลยเข้าใจไปว่าใช้งูชนิดไหนก็ได้ กลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชื่อเสียงน้ำมันงูต้องป่นปี้
น้ำมันงูแท้ ๆ เป็นของหายาก ต้องนำเข้าจากประเทศจีน ประกอบกับการขนส่งในสมัยนั้นไม่ได้ทำกันง่ายๆเหมือนปัจจุบัน หากมีการนำเข้าจริงๆแล้วละก็ มันจะต้องมีราคาสูงเอาการเลยทีเดียว ในขณะเดียวกันมีคนพบว่าชาวอินเดียนเผ่าช็อคทอว์ ใช้น้ำมันงูหางกระดิ่งบรรเทาความเจ็บปวดจากโรคข้ออักเสบ
ด้วยเหตุนี้เองชาวอเมริกันเลยทึกทักเหมาเอาว่าน้ำมันงูหางกระดิ่งมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้เช่นเดียวกันกับน้ำมันสะกัดจากงูสายรุ้งของชาวจีน
ปาหี่ขายยา
ปี 1879 คล๊าร์ก สแตนเลย์ (Clark Stanley) คาวบอยหนุ่มวัย 25 ปี อุทิศตนเรียนวิชาปรุงยากับหมอผีอินเดียนเป็นเวลา 2 ปี หลังจากร่ำเรียนวิชาจนแตกฉาน เขากลับมายังเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์คบคิดกับเภสัชกรนำสิ่งที่เรียนรู้มาจากหมอผีอินเดียนผสมผสานกับความรู้สมัยใหม่ปรุงแต่งยาแผนปัจจุบันชื่อว่า "น้ำมันงู"
ปี 1893 น้ำมันงูหางกระดิ่งสูตรคล๊าร์ก สแตนเลย์ ก็พร้อมออกวางตลาด แต่เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือเขาสถาปนาตัวเองเป็น "ราชางูหางกระดิ่ง" (Rattlesnake King) อวดอ้างว่าตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่พเนจรไปตามถิ่นทุรกันดาร เขาสังหารงูหางกระดิ่งไปแล้วหลายร้อยตัว
สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น คล๊าร์กแต่งกายในชุดคาวบอยเต็มยศ เปิดการแสดงสาธิตวิธีการจับงูหางกระดิ่ง คล้ายๆการแสดงเล่นกับงูเห่า งูจงอางในบ้านเรา หลังจบการแสดง คล๊าร์กก็ทำเป็นรีดเอาน้ำมันออกมาจากตัวงูหางกระดิ่งบรรจุลงขวด โชว์ให้คนดูได้เห็นกันทั่วๆพร้อมกับอวดอ้างสรรพคุณ "ยาใช้ทาภายนอก รักษาโรคไขข้ออักเสบ ปวดข้อเท้า ปวดหลัง ปวดเอว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดฟัน แก้เคล็ดขัดยอก ลดอาการอักเสบ แก้โรคหิมะกัด สมองชา แผลฝกช้ำ แมลงสัตว์กัดต่อย แก้อาการเจ็บคอ ใช้ทาภายนอกแก้ได้ทุกโรค ราคาขวดละ 50 เซ็นต์"
หน้าม้าเดินออกมาจากกลุ่มคนดู ทดลองทาน้ำมันงูหางกระดิ่ง สักพักหนึ่งก็แสดงอาการตื่นเต้นดีใจที่อาการเจ็บปวดตามร่างกายหายเป็นปลิดทิ้ง น้ำมันงูหางกระดิ่งเลยขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ยาอะไรจะวิเศษขนาดนี้ สามารถรักษาได้ทุกโรค ความสำเร็จของคล๊าร์ก สแตนเลย์ ทำให้มีคนทำสินค้าเลียนแบบอีกหลากหลายยี่ห้อ เช่น Miller's Antiseptic Oil และ Lincoln Oil (อาศัยชื่อประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น)
ปลอมสองชั้น
น้ำมันงูเดินสายขายกันอย่างสนุกสนานทั่วทวีปอเมริกาโดยใช้เซลส์แมน เกิดสินค้าเทียมเลียนแบบมากมายจนผู้ผลิตรายใหญ่ต้องตีตรายี่ห้อของตนเองเอาไว้บนขวดเพื่อให้ประชาชนมั่นใจ ปี 1905 นิตยสารคอลลิเออร์ (Collier's Magazine) ตีพิมพ์บทความเตือนภัยผู้บริโภคโดยชี้ให้เห็นว่ามียาหลายชนิดที่อวดอ้างสรรพคุณเกินความจริงและอาจถึงขั้นเป็นอันตรายกับร่างกาย
ถึงกระนั้นก็ยังไม่มีใครล่วงรู้ถึงภัยของน้ำมันงูปลอมและน้ำมันงูเลียนแบบของปลอม แม้จะมีการสถาปนาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (Food and Drug Administration) ขึ้นในปี 1906 มีการเรียกร้องให้ตรวจสอบส่วนผสมของยาชนิดต่างๆที่วางขายอยู่ตามท้องตลาด
น้ำมันงูยังคงรอดตัว วางขายอยู่ต่ออีกหลายปีจนถึงปี 1917 จึงมีการนำน้ำมันงูมาตรวจสอบส่วนผสม พบว่ามันประกอบไปด้วยน้ำมันใส (Mineral Oil) ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบ พริกไทยแดง (เพื่อทำให้ระคายเคืองผิว เกิดอาการแสบร้อน ทำให้รู้สึกเหมือนยาออกฤทธิ์) น้ำมันสนและการบูร (เพื่อให้มีกลิ่นเหมือนยา) และไขมันสัตว์ 1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมาจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ไม่มีส่วนผสมใดๆเลยที่สกัดมาจากงูหางกระดิ่งหรืองูชนิดอื่นๆ
นั่นแหละครับชาวอเมริกันถึงได้รู้ตัวว่าถูกแหกตามาตลอดหลายสิบปี ขนาดน้ำมันงูเจ้าแรกของคล๊าร์ก สแตนเลย์ ยังไม่ใช่น้ำมันงูจริงๆ แล้วยี่ห้ออื่นที่ทำเลียนแบบจะเหลืออะไร
ของแท้ต้องมีโอเมก้า 3
ตั้งแต่นั้นมาน้ำมันงูกลายเป็นคำสามัญใช้เรียกสินค้าไร้คุณภาพ หาประโยชน์อะไรไม่ได้จนผู้คนลืมเลือนไปว่าน้ำมันงูของต้นตำรับจากเมืองจีนนั้นมีสรรพคุณรักษาโรคจริงๆ จนกระทั่งเมื่อปี 1990 นี้เอง ดร.ริชาร์ด คุนยิน (Richard Kunin) นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน รื้อฟื้นเรื่องราว ลงมือสืบสวนหาความจริง
ริชาร์ดพบว่าน้ำมันงูของแท้นั้นต้องสกัดจากงูสายรุ้งเท่านั้น เพราะไขมันที่ได้จากงูสายรุ้งมีส่วนประกอบของโอเมก้า 3 ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่งูหางกระดิ่งมีเพียง 8.5 เปอร์เซ็นต์ แม้แต่ปลาแซลมอนยังมีน้อยกว่ามีแค่ 18 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ร่างกายมนุษย์สามารถดูดซับโอเมก้า 3 ไปใช้ประโยชน์ได้โดยทันที มีสรรพคุณในการคลายกล้ามเนื้อ ลดอาการอักเสบ ลดความดันเลือด ลดโคเลสเตอรอล และแม้กระทั่งลดความเครียด ซึ่งนั่นหมายถึงว่าน้ำมันงูของแท้ต้นตำรับนั้นมีสรรพคุณในการรักษาโรคปวดเมื่อยได้จริง
ต่อให้คล๊าร์ก สแตนเลย์ ใช้น้ำมันสกัดจากงูหางกระดิ่งก็ยังมีสรรพคุณไม่เท่ากับน้ำมันงูจากเมืองจีน แต่เขาใช้น้ำมันใสเป็นส่วนประกอบหลักซึ่งไม่มีคุณประโยชน์ใดๆกับร่างกายเลย (เว้นแต่ทำให้ผิวชุ่มชื่น) แล้วหลอกผู้คนว่าเป็นน้ำมันสกัดจากงูหางกระดิ่ง ทำให้ชื่อเสียงของน้ำมันงูต้องแปดเปื้อนมัวหมองไปตลอดกาล
ที่มา "การศึกษาวันนี้"
ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ silp@watta.co.th