การเตรียมตัวสอบและการสมัครคัดเลือก

การเตรียมตัวสอบและการสมัครคัดเลือก

การเตรียมตัวสอบและการสมัครคัดเลือก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

เพื่อเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ปี 2555

เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องย้ำเตือนและบอกกล่าวถึงความสำคัญของการเตรียมตัวสอบและการสมัครคัดเลือกฯ ด้วยเหตุที่ทั้งสองประเด็นดังกล่าวมีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างไม่อาจแยกออกจากกันได้ ทั้งนี้เพราะมีการกำหนดเงื่อนไขวิชาที่ใช้และคุณสมบัติของผู้สมัครคัดเลือกในแต่ละสาขาวิชา/หลักสูตรแล้ว ดังนั้นผู้ที่ต้องการจะสมัครคัดเลือกฯ ไม่ว่าจะเป็นสถาบัน/มหาวิทยาลัยใดจึงจำเป็นต้องสำรวจและตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง เพราะหากขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งโอกาสในการผ่านการคัดเลือกย่อมหมดไปโดยปริยาย

การเตรียมตัวสอบที่จำเป็นมากที่สุด ณ เวลานี้ที่ทุกคนต้องพร้อมก็คือ การเตรียมตัวสอบกลุ่มวิชาพื้นฐานจากการเรียนที่โรงเรียนซึ่งเป็นกลุ่มวิชาที่ขาดสอบไม่ได้เพาะในทุกระบบการสอบทั้งการรับตรง โควตาหรือระบบรับกลางล้วนกำหนดเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นไว้ทั้งสิ้น ดังนั้นการเตรียมตัวสอบในวิชาพื้นฐานเหล่านี้จึงสำคัญมากเหนืออื่นใด

การเตรียมสอบที่ว่านั้นจำเป็นต้องมีความรู้ที่แท้จริงและกว้างพอสมควร ชนิดที่เห็นโจทย์มองคำตอบก็พอคาดเดาได้ว่าน่าจะเลือกหรือตัดคำตอบใดทิ้งออกไปได้ก่อนเป็นลำดับแรก ด้วยเหตุที่ว่าคำตอบที่มีมาให้ใน 4 ลำดับเลือกนั้นข้อใดเป็นคำตอบแบบหลอกๆ ที่เล่นกลให้ลงทางได้ง่ายแถมมีข้อสงสัยผิดสังเกตมากที่สุด ซึ่งคำตอบที่มีให้เลือกทำนองนี้มักมีให้พบเห็นเสมอในการทำข้อสอบ ด้วยเป็นวิธีการออกข้อสอบที่ใช้แยกหรือวัดระดับความสามารถของผู้เข้าสอบ และเป็นตัวชี้วัดที่แสดงให้ถึงระดับความรู้ความสามารถทั้งในด้านทักษะเฉพาะทางและความเข้าใจในเนื้อหาของโจทย์ที่ต้องการถาม

นอกจากนี้แล้วในบางรายวิชา ผู้เข้าสอบยังจำเป็นมีทักษะในการสังเคราะห์และวิเคราะห์โจทย์หรือคำถามรวมถึงการมีความรู้เกี่ยวเรื่องราวเหตุการณ์หรือประวัติศาสตร์บางแง่มุมด้วย เพราะจะเป็นตัวช่วยให้เกิดการคิดวิเคราะห์ที่เป็นเหตุเป็นผลในการหาคำตอบที่ถูกต้องได้ ซึ่งความเป็นเหตุเป็นผลในการอธิบายดังกล่าว นับเป็นหนึ่งหลักคิดที่เรียกว่า "ความเป็นระบบของเหตุและผล" หรือ "ตรรกะการหาเหตุผล" ซึ่งแท้จริงแล้วก็ถูกบรรจุหรือแฝงไว้ในระบบการเรียนการสอนอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น ระบบการเรียนคณิตศาสตร์ ที่มีการบวกลบ คูณหารหรือแก้สมการ เป็นตัวแบบของการหาเหตุผลหรือการหาผลลัพท์ที่ถูกต้องนั่นเอง

จากที่กล่าวมาข้างต้นถือเป็นเพียงคำอธิบายที่พยายามชี้ให้เห็นว่า ระบบการเรียนที่เรียนมาทั้งหมดนั้นมีประโยชน์เพียงใดในการที่ช่วยเสริมเต็มแต่งความรู้ความสามารถของแต่ละคน หากแต่ทั้งนี้ทั้งนั้นความรู้ความสามารถของแต่ละคนก็ล้วนมีปัจจัยหรือองค์ประกอบที่มีความหลากหลายเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอทั้งความพร้อมด้านเศรษฐกิจ ฐานะของครอบครัว หรือแม้กระทั่งโรงเรียน ครูผู้สอน เพื่อนฝูง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่อาจละเลยหรือมองข้าม

การเรียนหรืออ่านตำราเพื่อทบทวนความรู้อย่างเป็นระบบมีแผนรองรับจึงนับว่ามีความสำคัญต่อการเตรียมสอบเป็นอย่างมาก และควรมีการเสริมทักษะด้วยวิธีการฝึกหัดทำข้อสอบเก่าหรือโจทย์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับข้อสอบเก่าให้มาก และเมื่อนั้นผู้เรียนก็ย่อมรู้ว่าแท้จริงแล้วตนเองมีความพร้อมหรือมีความรู้ในวิชาที่ต้องสอบมากน้อยแค่ไหนเพียงใด โดยที่การเตรียมตัวที่ดีนั้น ควรมีระยะเวลาที่พอเพียง ไม่ควรเป็นแบบเร่งรัดหรือเฉพาะกิจชนิดที่เรียกว่า "สุกเอาเผากิน" เพราะไม่เกิดประโยชน์กับค่าใช้จ่ายและเวลาที่เสียไป โดยเฉพาะกับบางรายวิชาที่การเรียนในระยะเวลาสั้น ไม่มีผลต่อความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง

การเตรียมตัวสอบเพื่อสมัครเข้ามหาวิทยาลัยอาจเปรียบได้กับการฝึกฝนหรือเข้าแค้มป์เก็บตัวนักกีฬา กล่าวคือ มักเริ่มต้นตั้งแต่การฝึกหัดสภาพร่างกายเตรียมความพร้อม การฝึกเทคนิคหรือทักษะเฉพาะด้าน และการฝึกทอดลองในสนามจริง ดังนั้นจึงพบว่า นักกีฬาที่ประสบความสำเร็จมากๆ นั้น มิใช่ได้มาโดยโชคช่วยหรือวาสนาพาไป หากแต่การอดทน การมีระเบียบวินัยรวมถึงการวางแผนที่ต้องเป็นระบบและขั้นตอน เรียนรู้และลองผิดลองถูก ล้มและลุกคละเคล้าสลับกันไปมา โดยที่จะพบว่า นักกีฬาที่ดีไม่อาจท้อถอยหรือท้อแท้ได้แต่ประการใด ดังคำกล่าวที่มักได้ยินเสมอว่า "ไม่มีชัยชนะใดได้มาโดยง่ายและทำอะไรเลย" ในกรณีของการเรียนและการเตรียมสอบ ความเหน็ดเหนื่อยเคร่งเครียด ลำบาก ย่อมนำมาซึ่งทักษะความรู้ ความสามารถเช่นเดียวกันและเมื่ออดทนฝึกฝนจนถึงระดับหนึ่งย่อมนำพาไปสู่ความสำเร็จได้ในที่สุด

ที่มา "การศึกษาวันนี้"
ผู้เขียน : ณัฐพงศ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook