"น้องฝน" กมลพร ปั้นทอง ประสบการณ์ล้ำค่าที่เมืองลุงแซม
อดีตนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐ Ohio เมือง Montpelier โรงเรียน Montpelier High School ในระดับชั้น Sophomore (Grade 10)
น้อง ๆ คนไหนที่อยากเข้าร่วมโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนบ้าง แต่ยังไม่แน่ใจหรือยังไม่มีข้อมูลในการตัดสินใจ ฉบับนี้ทีมงาน "การศึกษาวันนี้" คว้าตัว "น้องฝน" กมลพร ปั้นทอง นักเรียนแลกเปลี่ยนคนเก่งจากโครงการ W.I.S.E. มาบอกเล่าประสบการณ์ที่ประทับใจครั้งเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่สหรัฐอเมริกา ข้อมูลตรงนี้อาจช่วยให้น้อง ๆ ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
"น้องฝน" น.ส.กมลพร ปั้นทอง อดีตนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐ Ohio เมือง Montpelier โรงเรียน Montpelier High School ในระดับชั้น Sophomore (Grade 10) ตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ แผนกการเรียนศิลป์ - ภาษาฝรั่งเศส
ตอนแรกฝนเลือกโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศอังกฤษกับอีกโครงการหนึ่ง แต่ระยะเวลาในการเข้าร่วมโครงการจำกัดไว้ที่ 6 เดือน อาจารย์ที่ปรึกษาจึงแนะนำว่า โครงการ W.I.S.E. มีการจัดโปรแกรมนักเรียนแลกเปลี่ยนไปที่ประเทศสหรัฐอเมริการะยะเวลา 1 ปีการศึกษา ทางครอบครัวและตัวฝนเองจึงตัดสินใจเปลี่ยนโครงการ ซึ่งในตอนนั้นฝนคิดว่า โครงการ W.I.S.E. อาจทำเรื่องในการไปให้เราช้ากว่ากำหนด แต่พี่ ๆ ที่โครงการเอาใจใส่ฝนดีมาก ช่วยเหลือในเรื่องการทำเอกสารและวีซ่าต่าง ๆ ทำให้ฝนได้ไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่สหรัฐอเมริกาได้ทันก่อนโรงเรียนเปิดเสียอีก
ที่ฝนตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน แรงบันดาลใจมาจากพี่ชายแท้ ๆ ของฝนเอง ซึ่งพี่เขาเคยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนมาก่อน ตัวตนของพี่ทำให้ฝนมองเห็นโลกในอีกแง่มุมหนึ่ง การได้ใช้ภาษาเป็นเหมือนการเปิดโลกอีกใบของเรา ฝนจึงตัดสินใจเปลี่ยนทางเดินชีวิตของตัวเองจากเด็กวิทย์ - คณิต มาเป็นเด็กศิลป์-ภาษา นั่นเป็นก้าวแรก ส่วนก้าวต่อมาคือความใฝ่ฝันในการเดินทางไปต่างประเทศในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยน ซึ่งความฝันของฝนก็ได้กลายเป็นจริงแล้ว
ตัวฝนเองไม่ใช่นักเรียนที่เก่งกาจอะไร และเพิ่งเปลี่ยนมาเรียนสายภาษา ช่วงนั้นขยันเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว โดยเฉพาะการทำข้อสอบเก่า ๆ ฝนใช้วิธีการทำข้อสอบข้อเขียนผ่านทางอินเตอร์เน็ต แนวข้อสอบจะเป็นเรื่องความรู้ทั่วไป มีเกี่ยวกับวัฒนธรรมบ้าง และการใช้ภาษาเบื้องต้น หลังจากที่คะแนนข้อเขียนของเราผ่านเกณฑ์แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็เป็นการสอบสัมภาษณ์ ซึ่งการสอบสัมภาษณ์ฝนแนะนำว่าควรพูดในสิ่งที่แสดงความเป็นตัวตนของเราให้มากที่สุด และควรนำเสนอความเป็นไทยออกไปด้วย เช่น สิ่งที่เป็นวัฒนธรรมประเพณีที่งดงามของคนไทย ส่วนในเรื่องของ Grammarไม่ต้องกังวลมาก แค่สื่อสารกันรู้เรื่องเข้าใจกันก็พอแล้ว
หลังจากที่ทราบผลว่าผ่านการคัดเลือกแล้ว อย่างแรกเลยฝนต้องตัดสินใจว่าจะกลับมาซ้ำชั้นหรือไม่ ตัวฝนเองไม่อยากซ้ำชั้นแล้ว จึงยื่นเรื่องกับทางโรงเรียนในการขอทำเกรดให้เสร็จเรียบร้อยก่อนออกเดินทาง หลังจากนั้นจึงเตรียมตัวเก็บของใช้เวลาอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ฝนแนะนำว่าใครที่ได้ไปรัฐหรือประเทศที่หนาวมาก ๆ ไม่จำเป็นต้องเอาเสื้อกันหนาวจากไทยไปเยอะ เพราะซื้อเอาที่นั่นจะเหมาะกับภูมิอากาศมากกว่า ส่วนของใช้อื่น ๆ ก็จัดตามความเหมาะสมของประเทศที่ได้ไป ส่วนอาหารประเภทบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่อเมริกาก็มีขาย ไม่จำเป็นต้องเอาไปเยอะ สรุปแล้วที่อเมริกามีสินค้าคล้าย ๆ กับประเทศเราเลยค่ะ
ในช่วง 3-4 เดือนแรกที่อยู่สหรัฐอเมริกาถือเป็นมรสุมชีวิตของฝนเลยก็ว่าได้ ปัญหาแรกคือฝนฟังไม่เข้าใจที่เขาพูดกัน เพราะเขาพูดกันเร็วมาก ต่างคนก็ต่างสำเนียง แล้วยังมีแสลงอีก เรื่องต่อมาคือเรื่องวัฒนธรรมของเขากับของเราที่แตกต่างกันแบบสุดขั้ว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดสำหรับฝนคือโฮสที่ฝนไปพักด้วย เขาจะพูดแบบตรงไปตรงมาไม่รักษาน้ำใจกัน แม้จะไม่พอใจแต่ฝนก็พยายามเก็บเอาไว้ เพราะไม่อยากมีปัญหา แต่เมื่อเราทนไม่ไหว สุดท้ายก็จบด้วยการทะเลาะกัน การที่ฝนไม่กล้าพูดในสิ่งที่ตัวเองไม่พอใจออกไป ทำให้โฮสกับฝนมีปัญหากัน เพราะความไม่เข้าใจกัน แต่ตอนหลังมีการพูดคุยกันแบบเปิดใจ ทำให้เข้าใจกันในที่สุด หลังจากนั้นโฮสพาฝนไปเที่ยวถึง 5 รัฐ ด้วยกัน คือ ตัวเมือง Ohio, Michigan , Indiana , Kentucky และ Tennessee เป็นช่วงเวลาของการสานความสัมพันธ์กันของฝนกับโฮส ฝนอยากแนะนำว่าถ้ามีปัญหาอะไรก็ให้พูดกันตรง ๆ จะได้ช่วยกันแก้ไขปัญหา
หลังจากผ่านพ้นช่วงมรสุมไปแล้ว เป็นช่วงที่ฝนมีความสุขที่สุดในชีวิตเป็น Teenage Dream เลยก็ว่าได้ ตอนอยู่ที่ประเทศไทยฝนเป็นคนที่บ้าเรียนพิเศษทุกเย็นหลังเลิกเรียนและวันเสาร์-อาทิตย์ แต่พอมาอยู่ที่ Ohio ทุกอย่างพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ ที่นี่ไม่มีการเรียนพิเศษ มีคาบเรียนแค่ 7 คาบ และวันเสาร์-อาทิตย์ก็คือ Weekend จริงๆ การเรียนเน้นให้นักเรียนเลือกเรียนในสิ่งที่ตนเองถนัดและชอบ ไม่จำเป็นต้องเรียนทุกวิชา และเรายังเหลือเวลาว่างที่จะทำกิจกรรมหลังเลิกเรียนด้วย ซึ่งตัวฝนเลือกลงชุมนุมภาษาสเปน และเป็นนักกีฬาวิ่งให้กับทีมโรงเรียน ได้เพื่อนใหม่ ๆ และทำให้ทุกคนในโรงเรียนรู้จักฝนมากขึ้น ที่สำคัญการวิ่งยังช่วยให้น้ำหนักของฝนลดลง ร่างกายแข็งแรงขึ้น ฝนได้รับเกียรติให้เป็นนักเรียนดีเด่นของโรงเรียน หรือ "First year Achievement" ด้วยการเป็นนักเรียนที่มีเกรดเฉลี่ยสูงกว่า 3.5 รวมทั้งเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของทางโรงเรียน และทำให้ฝนได้ลงหนังสือพิมพ์ประจำท้องถิ่นด้วยค่ะ
สำหรับเพื่อน ๆ คนไหนที่มีโอกาสจะได้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน ฝนสนับสนุนเต็มที่เลย การที่เราได้ไปสัมผัสประสบการณ์ด้วยตัวเอง มันเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุด ได้มองเห็นโลกกว้างขึ้น ในโลกอีกด้านหนึ่งที่เราไม่เคยสัมผัส และเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของเด็กไทยที่ได้มีโอกาสไปเผยแพร่ความเป็นไทยและวัฒนธรรมอันดีงามของไทยให้โลกได้รับรู้ ที่สำคัญสิ่งที่จะติดตัวเพื่อน ๆ กลับมาคือความรู้และทักษะการใช้ภาษาที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน
ที่มา "การศึกษาวันนี้"
ผู้เขียน : ปิยะนุช zorau123@hotmail.com