"ชิมิ เด๋วไปเที่ยวกัล ค๊าบ โอเคเน้อ" ภาษาฮิตในโลกออนไลน์
วัยรุ่น มทร.ธัญบุรีจะรู้สึกอย่างไร
วัยทีน มทร.ธัญบุรีกับภาษาไทยในยุคสังคม Online
"ชิมิ เด๋วไปเที่ยวกัล ค๊าบ โอเคเน้อ" คำและประโยคข้างต้น เป็นภาษาที่นิยมสื่อสารกันในโลกออนไลน์ นับวันจะมีคำแปลกๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งส่งผลต่อหลักความถูกต้องของภาษาไทย จนผู้ใช้เกิดความเคยชิน จนติดนำไปใช้ในการเขียนในปัจจุบัน วัยรุ่นชาว มทร.ธัญบุรี เขารู้สึกอย่างไรกับปัญหาเหล่านี้ ลองไปฟังความคิดเห็นของพวกเขาเหล่านั้นกัน
นายโสภณ สาทรสัมฤทธิ์ผล อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษา คณะศิลปศาสตร์ เล่าว่า ภาษาเกิดจากการใช้ ไม่ใช่เกิดจากการบังคับให้เกิด ซึ่งภาษาที่เกิดขึ้นผิดแปลก หรือที่เรียกคำแสลงไปจากเดิม นิยมใช้ในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะในสังคม Online การแชทผ่าน MSN Facebook Twitter ก็ต้องยอมรับของการเกิด ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในกลุ่มเฉพาะ ใช้เฉพาะที่ โดยภาษามันอยู่ของมันในจอ หรือว่าในเพลงบางเพลง ซึ่งตรงจุดนี้ไม่สามารถบังคับให้มันเกิดได้ เป็นเพียงกระแสนิยมในกลุ่มๆ หนึ่ง ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปภาษาเหล่านี้จะหายไปเอง ส่วนภาษาทางการที่ต้องใช้เขียนกัน ภาษาที่ใช้ในสังคม Online ก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้ ยกตัวอย่างของการเขียนโครงการ "โครงการบำเพ็ญประโยชน์ ชิมิ" คงไม่มีใครนำมาใช้เขียน แต่อยากจะฝากถึงวัยรุ่นที่ติดภาษาใน Online ควรจะใช้ภาษาให้ "ถูกกิจถูกกาลและถูกเทศะ" ควรดูความเหมาะสมของเวลาและสถานที่ เพราะว่า ไม่มีใครจะบังคับการใช้ภาษาได้ มันต้องเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
"วิน" นายกวิน ฉอ้อม นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิชานาฎและดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ เล่าว่า ตอนช่วงมัธยมศึกษาจะใช้ภาษาในโลกออนไลน์บ่อย ซึ่งส่งผลให้ติดมาใช้ในการเขียนรายงานส่งอาจารย์ หลังจากนั้นเริ่มปรับปรุงโดยเริ่มใช้ภาษาที่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ "พิมพ์ถูกก็ช่วยทำให้เขียนถูก" อยากให้เพื่อนๆ ลองเปลี่ยนพฤติกรรมของการใช้ภาษา "เป็นหนึ่งในผู้นำเทรนใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง" ช่วงแรกอาจจะผิดแปลกไปจากกลุ่ม แต่เมื่อใช้ไปจนชิน หรือถูกต้อง เพื่อนๆก็จะกลับมาใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง เริ่มตั้งแต่วันนี้ ในอนาคตอาจจะมีโอกาสเป็นหัวหน้างานจะได้เป็นตัวอย่างการใช้ภาษาให้กับลูกน้องได้
"แอม" นางสาวศศิธร สนั่นเอื้อ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิชาเทคโนโลยีการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน เล่าว่า สาเหตุของภาษาที่ผิดแปลกไปจากเดิม เนื่องจากเป็นค่านิยมของเพื่อนๆ การลอกเลียนแบบต่อๆ กันมา จนเกิดความเคยชิน ซึ่งบางครั้งติดกลายมาเป็นภาษาพูดที่ติดปากของวัยรุ่น เช่นคำว่า"น่าร๊ากงะ" ภาษาเหล่านี้จะหายไป ถ้าไม่ได้รับความนิยม แต่ก็จะมีคำใหม่ๆ เกิดขึ้น ดังนั้น ความถูกต้องของภาษาในการใช้จึงสำคัญมาก เมื่อเรียนมาตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนมาถึงระดับมหาวิทยาลัย ก็ควรใช้ให้ถูกต้อง "จงภูมิใจในภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษาของชาติเรา บรรพบุรุษได้คิดค้นขึ้น ควรที่จะภาคภูมิใจ และใช้ให้ถูกต้องที่สุด"
"เคน" นายจีรพันธ์ สังข์เงิน นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาเทคโนโลยีงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ เล่าว่า เรื่องของภาษาไทยที่วัยรุ่นไทยมักใช้กันแบบผิดๆนั่นคือ เป็นเพราะความเคยชินในการสื่อสารที่ไม่ได้ให้ความสนใจกับการใช้อย่างแท้จริง ภาษาไทยกับการสื่อสารในอินเตอร์เน็ต โดยมากเป็นคำศัพท์แสลงที่วัยรุ่นไทยคิดกันขึ้นมาเพื่อสื่อสารกันแบบสนุกๆ เพื่อให้สอดคล้องกับอิริยาบท หรือพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น คำว่า สวยมากหรือสวยที่สุด จะใช้คำว่า สวยเวอร์ เวอร์มีความหมายว่ามากเกินไปหรือเยอะ "อยากให้เป็นเพียงการสื่อสารในช่องทางแชทผ่านอินเตอร์เนตเท่านั้น ไม่อยากให้มาใช้ในชีวิตประจำวันหรือใช้จนเคยชิน เยาวชนไทยจึงควรที่จะร่วมกันใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง อย่างน้อยที่สุดก็เป็นประโยชน์แก่การศึกษาและภาพพจน์ของเราเอง"
"ลูกเกด" นางสาวพรหทัย อุดมทรัพย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาหลักสูตรนานาชาติ คณะบริหารธุรกิจ เล่าว่า การใช้ภาษาไทยในตอนนี้จะติดคำว่า ชิมิ แต่จะใช้เฉพาะกับเพื่อนสนิท ในอนาคตคิดว่าทำให้เด็กสมัยใหม่นั้นไม่เห็นถึงคุณค่าของภาษาไทย ส่วนตัวภาษาไทยค่อนข้างยาก แต่ก็ชอบเรียนภาษาไทย เพราะว่า ภาษาไทยมีความสวยงาม มีความเป็นเอกลักษณ์ มีวรรณยุกต์ สระ พยัญชนะ ตัวสะกด สำเนียงที่สื่อออกมา เรียกว่าไม่ซ้ำชาติใดในโลก "พวกเราเยาวชนไทยจึงควรที่จะร่วมกันใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง" หรือถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ภาษาในหมู่เพื่อนได้ ก็พยายามใช้ให้น้อยลง ลดการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ต มาสื่อสารแบบเจอหน้าพูดคุยกันดีกว่า
ความคิดเห็นแต่ละคนก็มีความแตกต่างกันออกไป ซึ่งยุคสมัยวันเวลาเปลี่ยนไป ภาษาก็ย่อมจะเปลี่ยนไปด้วย แต่ในความเปลี่ยนแปลงนั่น ก็ควรจะมีการคำนึงถึงความถูกต้อง ภาษาไทยที่ถูกต้องจะได้คงอยู่ ไม่นับวันเลือนหายไปจากสังคมไทย เอกลักษณ์ของภาษาไทย ลูกหลานรุ่นหลังจะได้มีภาษาไทยใช้สืบต่อกันไป