กติกามารยาทในการเตรียมตัวสมัครเข้ามหาวิทยาลัย (2)

กติกามารยาทในการเตรียมตัวสมัครเข้ามหาวิทยาลัย (2)

กติกามารยาทในการเตรียมตัวสมัครเข้ามหาวิทยาลัย (2)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การสมัครแต่ละระบบควรดูเงื่อนไขและกติกาเป็นหลัก ทั้งนี้อาจมีการกำหนดข้อห้ามบางประการที่ทำจำกัดสิทธิ์คนบางกลุ่มเพื่อป้องกันการเอารัดเอาเปรียบคนอื่นๆ

นับถึงเวลานี้ ขั้นตอนการสมัครเข้ามหาวิทยาลัยเริ่มต้นแล้ว สำหรับบางคนที่เอ้อระเหยลอยลม หรือไม่ยี่หระกับอนาคตตัวเองก็คง เตรียมตัวรับกับความผิดหวังกันและก็บอกไว้ก่อนเลยว่า "ยากที่จะผ่านการตัดตัวหรือคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยเด่นดังได้" ถึงครานั้นความผิดหวังก็มาเยือนโดยอัตโนมัติ

สำหรับความสำคัญของการสอบ O-NET A-NET หรือ PAT และระบบอื่นๆ ที่กำลังดาหน้าให้นักเรียนสอบเพื่อนำผลการสอบไปใช้ในการสมัครเข้ามหาวิทยาลัยนั้น ก็ต้องบอกกล่าวตรงๆ ณ ที่ว่า อย่าได้หลีกเลี่ยงหรือบ่ายเบี่ยงไม่สอบไปซะดื้อๆ โดยคิดเพียงว่า ไม่จำเป็น ไม่สำคัญ ก็โปรดเข้าใจด้วยว่า แนวคิดดังกล่าวไม่ถูกต้องและผิดถนัด เพราะเป็นเรื่องที่เสมือนหรือพูดง่ายๆ ก็คือ ถูกมัดมือชกให้ต้องปฏิบัติตามแบบไม่มีเงื่อนไขให้ดิ้นหรือสู้ได้

การสมัครแต่ละระบบควรดูเงื่อนไขและกติกาเป็นหลัก ทั้งนี้อาจมีการกำหนดข้อห้ามบางประการที่ทำจำกัดสิทธิ์คนบางกลุ่มเพื่อป้องกันการเอารัดเอาเปรียบคนอื่นๆ หรือมีคุณสมบัติไม่เหมาะสมกับการเรียนหรือสอบ เช่น การสอบ GAT/PAT ครั้งที่ 3/2553 ห้ามนักเรียนชั้น ม.5 หรือชั้นอื่นสอบ เพราะกำหนดเงื่อนไขให้เฉพาะบรรดาคนที่กำลังเรียนชั้น ม.6 หรือเทียบเท่า รวมถึงสูงกว่า คนที่สมัครสอบจึงเข้าเป็นการกระทำที่ผิดเงื่อนไข และต้องถูกตัดออกจากสารบบโดยอัตโนมัติ ซึ่งอันที่จริงแล้วเงื่อนไขในลักษณะนี้ หลายคนมักมองข้ามและคิดว่า สมัครไปงั้นๆ เผื่อฟลุคจับไม่ได้ไล่ไม่ทันก็ได้เข้าสอบ และประเด็นนี้ก็ไม่ต่างกับในอดีตที่บรรดาคนที่เรียนในระบบโรงเรียนปกติและเรียน กศน. หรือระบบการศึกษานอกโรงเรียน ไปพร้อมๆ กันเพื่อใช้สิทธิในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยหรือเอนทรานซ์ รวมถึงการใช้สิทธิ์ในการสมัครสอบวัดความรู้ ทำให้มีผลคะแนนเก็บไปใช้ในการสมัครเข้ามหาวิทยาลัยในระบบแอดมิชชั่นส์ มากว่าเพื่อนคนอื่นๆ แต่ต่อมาถูกจับได้ไล่ทัน ต้องเดือดร้อนกันยกใหญ่ และนี่คือหนึ่งในรูปแบบการเอาเปรียบคนอื่นๆ ที่เรียกว่า "เรียนเก่ง แต่ขาดคุณธรรม" และมักชอบอ้างว่า เป็นสิทธิที่ทำได้ เพราะมีขยันเรียนมากว่าจะผิดตรงไหน คนที่ไม่ทำอย่างนั้นเป็นพวกขี้เกียจทำนองนั้นไป

สุดท้ายสังคมไทยก็ได้คนเก่งจำนวนมหาศาลแต่ที่ปรากฏก็คือ สังคมเต็มไปด้วยปัญหาจริยธรรมหรือศีลธรรม ในรูปแบบการทุจริตคอรัปชั่นกันมากมาย นี่คือ อุทาหรณ์หนึ่งในกระบวนการสร้างคนที่เน้นเฉพาะความเก่งทางปัญญา โดยไม่คำนึงคุณธรรมเป็นเกณฑ์มาตรฐานสำคัญ จนกระทั่งถึงปัจจุบันเราจึงมาทบทวนกันใหม่ทำนองว่า คุณธรรมสำคัญกว่าสิ่งใด

ในกติกามารยาทการสอบ หลายคนมักเป็นตั้งคำถามเสมอว่า เราสอบไปแล้วทำไมได้คะแนนน้อยจัง ไม่ตรงกับที่คิดเลย ทำอย่างไรดีล่ะ ข้อนี้ไม่ต้องเป็นห่วง ระบบการสอบทั้งของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาในอดีต หรือระบบการสอบของที่ปรึกษาอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และรวมถึงสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) มีทางเลือกตอบสนองข้อสงสัยดังกล่าว ด้วยการกำหนดกฎเกณฑ์และแนวทางของการขอดูกระดาษคำตอบได้ แต่เน้นว่า ต้องดูช่วงเวลาในการตรวจสอบ ซึ่งสามารถติดตามได้ในประกาศของหน่วยงานแต่ละแห่ง และหากพ้นกำหนดถือว่าหมดสิทธิ์ ด้วยเหตุผลที่ว่า ต้องมีเวลาให้เจ้าหน้าที่ทำงานประจำที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับเรื่องตารางเวลาในการสอบประจำปี

นอกจากนี้โปรดอ่านและทำความเข้าใจให้ดีถึงระเบียบการสอบ ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานที่รับผิดชอบระบบการสอบอย่าง สทศ. ห้ามไว้หลายประการ อาทิ การไปสนามสอบผิดไม่มีสิทธิ์สอบ ไม่มีเลขที่นั่งสอบ ไปสายเกิน 30 นาที ไม่มีบัตรแสดงตน อาทิ บัตรประชาชน บัตรนักเรียนที่มีรูปถ่าย บัตรที่ราชการออกให้และมีรูปถ่าย ห้ามนำเครื่องมืออุปกรณ์สื่อสารเข้าห้องสอบ ให้นั่งสอบจนหมดเวลา หรืออนุญาตให้นำนาฬิกาเข้าห้องสอบได้ แต่ต้องเป็นนาฬิกาธรรมดาที่ใช้ดูเฉพาะเวลาเท่านั้น ห้ามนำเครื่องที่มีระบบคำนวณต่างๆ เข้าห้องสอบ อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขดังกล่าว ก็อาจอนุโลมได้ในบางกรณี ทั้งนี้ระบบอาจรองรับได้แต่ต้องมีเหตุจำเป็นจริงๆ ซึ่งก็มิใช่เรื่องง่ายและไม่ควรคิดว่าอะไรก็ทำได้ โดยเงื่อนไขเหล่านี้ไม่ควรฝ่าฝืนเพราะอาจถูกจับผิดได้ง่าย และเป็นเงื่อนไขเพื่อรักษาการเอารัดเอาเปรียบคนอื่นๆ หรือบันทึกข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาวิชาที่สอบ เรียกว่า เป็นการป้องกันการการทุจริตในการสอบ ข้อพึงระวังและต้องเตือนให้ทราบก็คือ ระบบการสอบทุกประเภทค่อนข้างเคร่งครัดกับการสอบ เพราะความถูกต้องและความเป็นธรรมที่ต้องดำเนินการให้ทุกคนได้รับโดยเท่าเทียมกัน ดังนั้นมาตรการลงโทษจึงเป็นผลเสียอย่างร้ายแรงต่อผู้กระทำผิด และทำให้ต้องถูกตัดสิทธิ์ในการสมัครเข้ามหาวิทยาลัยได้โดยง่าย รวมถึงอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอื่นๆ อีกด้วย ทั้งนี้ควรระลึกเสมอว่า ไม่ควรคิดง่ายๆ เพราะหากถูกจับได้ย่อมไม่คุ้มค่ากับบทลงโทษที่จะตามมา

สำหรับการใช้ผลการสอบ หลายคนมักเป็นกังวลว่า หากเกิดการสูญหายของผลคะแนนสอบจะทำอย่างไร ซึ่งไม่ต้องคิดมาก เพราะสามารถทำได้ง่ายๆ โดยการขอหนังสือรับรองผลการสอบ ทั้งการสอบ O-NET A-NET และ PAT สามารถดำเนินการได้ทั้งด้วยตนองและการยื่นคำร้องทางไปรษณีย์ เพียงแต่ต้องจัดส่งตั๋วแลกเงินตามอัตราค่าธรรมเนียม และเอกสารอื่นๆ อาทิ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ซองเปล่าติดแสตมป์พร้อมเขียนชื่อที่อยู่และส่งไปยัง สทศ. เท่านั้นเองก็เป็นอันเสร็จเงื่อนไข หลังจากนั้นก็รอเพียงไม่กี่วัน

เพื่อให้เกิดผลดีในการสอบ เพื่อทำความเข้าใจในเงื่อนและประเด็นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความสำคัญในการสอบทุกระบบ ควรมีการรวมตัวหรือรวมกลุ่มกันมากกว่าการตัดสินใจหรือศึกษาข้อมูลเพียงลำพัง เช่นเดียวกับการเตรียมตัวสอบ ควรมีการปรึกษาและพูดคุยกับเพื่อนว่า ณ เวลานี้มีข้อมูลอะไรที่น่าสนใจบ้าง และต้องทำอะไรในช่วงเวลาใด รวมไปถึงการปรึกษาผู้ปกครอง คุณครูอย่างสม่ำเสมอ เพราะข้อมูลที่มาจากแหล่งต่างๆ จะช่วยลดภาระและเวลาที่ไม่จำเป็นออกไป พร้อมๆ ช่วยให้เกิดความสบายใจและหากมีปัญหาข้อมูลที่ได้รับมักจะช่วยคลี่คลายความวิตกลงไปได้

สำหรับแง่คิดสำคัญของการเตรียมสอบก็คือ การวางแผนการเรียนและการเตรียมตัวควรต้องดำเนินการล่วงหน้า และการปรึกษาผู้รู้และเพื่อนๆ โปรดอย่าคิดและทำด้วยลำพัง และการเรียนรู้ความผิดพลาดของรุ่นพี่หรือผู้มีประสบการณ์ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อโอกาสในการผ่านการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย นอกจากนั้นแล้ว การพักผ่อนที่เพียงพอถือถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้เช่นเดียวกัน

ที่มา "การศึกษาวันนี้"
ผู้เขียน : ณัฐพงศ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook