เลี้ยงลูกอย่างไร ให้ได้ดี

เลี้ยงลูกอย่างไร ให้ได้ดี

เลี้ยงลูกอย่างไร ให้ได้ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สื่อมีบทบาทต่อความเป็นอยู่ของครอบครัว โดยเฉพาะเด็กมักจะเลียนแบบพฤติกรรม สังเกตจากการแต่งตัว การแสดงออกเป็นไปในทางที่ไม่เหมาะสม ย้อนมาถึงพ่อแม่ก็แทบจะไม่ค่อยมีเวลาที่จะอบรมสั่งสอน กลายเป็นโรงเรียนและสังคมแทน เมื่อเติบโตขึ้นเป็นวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ แทบจะมีช่องว่างมากขึ้น หลายสิ่งหลายอย่างไม่สามารถเรียกร้องกลับคืนมาได้ เช่น อารมณ์ที่รุนแรง พูดจาก้าวร้าว แต่งกายไม่เหมาะสมกับเวลา สถานที่ เป็นต้น กระนั้นอาจบอกได้ว่าบางอย่างหากคิดได้ยังไม่สายเกินไปกับการเริ่มต้นเรื่องการเลี้ยงลูก

หมั่นกอดให้เคยเป็นกิจวัตร

ใน 7 วัน พ่อแทบไม่มีเวลากอดลูกของตนเอง ผู้ที่กอดแทนคือ พี่เลี้ยงหรือคนเลี้ยงมากกว่า ครั้นเมื่อเริ่มอายุ 10 ปี ก็รู้สึกเขิน ๆ อาย ๆ กับการกระทำ หากจะให้ดี ควรหมั่นกอดสัมผัสให้ลูกมีความรู้สึกว่าเคยชิน สังเกตไหมว่าความเครียดของลูกจะออกมาพรั่งพรูดังสายน้ำ โดยที่ไม่ต้องพูดคุยซักถาม

ให้สตางค์ต้องมีสติ

ลูกคนเดียวต้องการอะไรมักจะได้ กลายเป็นลูกเทวดา เพราะอาจถูกฝึกบอกว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องเป็นของเขา ครั้นเมื่อต้องการแล้วกลับไม่ได้หรือไม่ตอบสนองวันนั้นความก้าวร้าวจะตามมา ฉะนั้น เมื่อจะให้สิ่งที่เหมาะสมไม่เหมาะสมกับวัย อาจต้องเริ่มสอนด้วยเหตุด้วยผล เพื่อได้เกิดการเรียนรู้เมื่อเวลาโตขึ้น

อย่าทำชั่วให้ลูกเห็น

พฤติกรรมของพ่อแม่ เมื่อทะเลาะกันมักจะควบคุมอารมณ์ไม่ได้ บางครั้งอาจถึงขั้นทำร้ายร่างกาย ทุบตีขณะเดียวกันมักพบว่าเด็กมักจะมีพฤติกรรมจ้องมองการกระทำหรือจดจำคำพูด จนถึงอาจทนไม่ไหวร้องไห้ออกมา ฉะนั้นพบว่าความชั่วไม่ดีอันใด ไม่ควรแสดงพฤติกรรมให้ลูกเห็นเพราะถึงเวลาวันนั้น ไม่สามารถตอบคำถามได้ แล้วเด็กจะแสดงพฤติกรรมชดเชยเมื่อโตและมีโอกาส

อย่าเล่าความเลวให้ลูกฟัง

เมื่อแยกทางกันก็จะพูดสิ่งที่ไม่ดี ไม่เหมาะของพ่อ แม่ ให้ลูกฟัง ลืมคิดไปว่าลูกเป็นที่ระบายอารมณ์ แต่ความจริงแล้วมันมิใช่ การแยกแยะเหตุผลของเด็กยังไม่ดี แต่หากจะเล่าควรเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความอดทน มานะ พยายามของครอบครัวดีกว่า

แสดงกิริยาหยาบต้องปราม

กิริยาบางอย่างที่เด็กซึมซับมาจากสังคมภายนอกนั้น เช่น การแสดงความก้าวร้าวด้วยคำพูดต่อปู่ ย่า ใช้คำพูดที่เป็นคำขึ้นต้นไม่สุภาพ ครอบครัวอาจสอน แนะนำถึงความเหมาะสม สุภาพ เพราะหลายเรื่องราวหมั่นบ่มเพาะหล่อหลอมไปจนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่

มีทุกข์ต้องปลอบ
เมื่อลูกมีทุกข์ขาดที่พึ่งระบายปัญหา ขณะเดียวกัน พ่อ แม่ ก็ไม่มีทักษะในการรับฟัง ผลที่ตามมาไม่รู้จะปลอบโยนอย่างไร มักจะใช้อารมณ์แทนเหตุผล เมื่อลูกอยากพูดคุยระบายก็กลายเป็นหน้าที่ของเพื่อนแทน เพราะฉะนั้นควรสร้างทักษะในการรับฟังให้มากกว่าพูด

เป็นเพียงแค่บทบาท 6 ข้อเท่านั้น ที่พ่อแม่ควรตระหนักเมื่อมีลูกยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกหลายข้อ เช่น ทำดีต้องชมเชย ทำผิดต้องห้ามปราม เป็นต้น การกระทำมิใช่เพียงแค่เดือนหรือสองเดือน ควรกระทำตั้งแต่เป็นวัยเด็กเล็ก ๆ เมื่อโตขึ้นรู้จักวางพื้นฐานด้านอารมณ์ พฤติกรรม การกระทำก็ไม่ต้องอบรมสั่งสอนมากมายเพราะมีพื้นฐานที่ดีแล้ว

ที่มา : กองสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook