ฤ การศึกษาไทยจะมาผิดทาง
ความไม่แน่ใจในเรื่องการศึกษาของลูกหลานในยุคนี้ ส่งผลทำให้เกิดคำถามมากมายที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาของประเทศไทย ว่าแน่ใจแล้วหรือว่าสิ่งที่เด็กๆ ได้รับนั้น เป็นสิ่งที่เด็กๆ ควรได้รับ เป็นสิ่งที่เหมาะสมและถูกต้องที่สุดสำหรับอนาคตของเด็กๆ ในวันหน้า แน่ใจแล้วหรือว่าหลักสูตรการเรียนการสอนที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ สามารถวัดความสำเร็จในชีวิต หรือสามารถทำให้เด็กวันนี้ที่จะกลายเป็นอนาคตของชาติได้ดำรงชีวิตตามหนทางที่เด็กคนนั้นควรจะเป็นและดีที่สุด หรือเพียงแค่ ปริญญาหนึ่งใบ สองใบ หรือสามใบจะสามารถวัดมาตรฐานความสามารถของคนหนึ่งคนได้จริง
ในทางกลับกันการดำรงชีวิตในอนาคต การเลือกอาชีพที่ตัวเองสนใจ เรื่องราวของการเข้ากับสังคม วัฒนธรรมพื้นถิ่น รากเหง้าความเป็นมาของตัวเอง และการเอาชีวิตให้รอดในยุคสมัยที่มีการแข่งขันสูง สิ่งเหล่านี้ได้เลือนหายไปกับหลักสูตรการเรียน เพื่อมุ่งสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย การเรียนที่มุ่งหมายคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงๆ ทำให้เด็กต้องเรียนรู้แต่ในตำราเรียน ท่องและจำ เพื่อการทำข้อสอบให้ได้คะแนนที่ดีที่สุด โดยที่อาจจะไม่รู้เลยว่าวิชาที่ต้องท่องและจำเหล่านั้น สามารถนำไปประกอบวิชาชีพของตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน แล้วสามารถวัดความเก่งได้จริงหรือไม่
ระบบการศึกษาไทยอาจจะมุ่งไปในเรื่องที่ผิดทาง เพราะมุ่งแต่จะผลิตคนเก่งแต่ในตำรา วัดคนที่ข้อสอบ ส่งผลให้เด็กคิดแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและปัญหาอื่นๆ ไม่เป็น โลกทัศน์แคบ เพราะสิ่งนี้ไม่มีในบทเรียนท่องจำ ฝึกฝนกันในห้องเรียนไม่ได้ หากเด็กจะเกิดการเรียนรู้ กิจกรรมคงเป็นหนทางที่ช่วยฝึกประสบการณ์ทางด้านชีวิตให้พวกเขาได้เรียนรู้โลกกว้างอย่างเต็มรูปแบบ อาจจะได้ผลไม่มากก็น้อย
ระบบการศึกษาไทยให้ความสำคัญกับตัวเลข จนละเลยมิติด้านอื่น ไม่ว่าจะเป็นการประเมินโรงเรียน มาตรฐานที่เกี่ยวกับผู้เรียน ก็ล้วนอาศัยตัวเลขในการประเมินการเรียนรู้ของเด็กว่า อยู่ในระดับใดมากกว่าที่จะสนใจว่าเด็กคิดเป็นมากน้อยแค่ไหน
จากการที่ให้ความสำคัญของตัวเลข จึงทำให้กระบวนการเรียนการสอนในโรงเรียนนั้นได้มุ่งเน้นไปที่ "การสอบ" สารพัดที่จะต้องสอบตลอดทั้งปีการศึกษา ส่งผลให้เด็กต้องผูกชีวิตติดไว้เพื่อเตรียมตัวในการสอบ และเท่านั้นยังไม่พอ หากเรียนแล้วยังได้คะแนนไม่พอ ต้องไปเรียนเพิ่ม ณ โรงเรียนกวดวิชาสำหรับการเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย ที่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด ที่มุ่งสอนจากข้อสอบเก่า เพียงเพราะต้องการให้เด็กสอบเข้ายังมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศได้ ถือว่าประสบความสำเร็จ
ในทางกลับกัน มองย้อนมาที่ครูผู้สอน ครูผู้ที่ถ่ายทอดประสบการณ์และสิ่งดีๆ ให้กับนักเรียน ครูสามารถเลือกปฏิบัติการในการสอนประสบการณ์ชีวิต และสอนการดำรงชีวิตให้เด็กได้ เพราะสัปดาห์หนึ่ง เด็กหนึ่งคนจะใช้ชีวิตอยู่ที่โรงเรียนหมดไปแล้วกว่า 5 วัน เวลาส่วนใหญ่ของพวกเขาติดอยู่กับโรงเรียน ครู
และเพื่อนๆ
ครูเป็นประการด่านแรกที่จะบ่มเพาะเด็กคนหนึ่ง ปัญหาอยู่ที่ครูโรงเรียนของกระทรวงฯ เคยชินกับกระบวนการ แผนการสอนตามตาราง สอนบนกระดานดำ สอนในกระดาษมามาก จนกระทั่งทำให้แนวคิดของครูติดกรอบ การดิ้นรนใหม่กลายเป็นภาระและเรื่องยุ่งยาก ในขณะที่ความเบื่อหน่ายบนใบหน้าของเด็ก เป็นส่วนกระตุ้นให้เขาต้องอยากคิด อยากพัฒนา แต่เขาไม่ทำ เมื่อครูไม่อยากมีภาระ
ครู เข้าสู่ระบบราชการ กินเงินเดือน หากต้องการเลื่อนขั้นก็ต้องทำงานวิจัย หรือทำเอกสารรองรับการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาทั้งภายในและภายนอก เวลาที่ใช้ในการสอน และงานวิจัยครู จึงลดลงตามสัดส่วนของเวลาที่ใช้ไปในการทำเอกสาร สาเหตุเพียงเพราะระบบประเมินคุณภาพการศึกษาไทยถูกออกแบบมาให้ตรวจเป็นเอกสารนั่นเอง แล้วแบบนี้ครูจะสามารถแบ่งเวลามาแก้ปัญหาการเรียนรู้ของนักเรียนได้อย่างไร หากเป็นในรูปแบบนี้ตลอดไปแล้วจะมีวิธีการอย่างไรที่จะสามารถคัดคนเก่ง และคนดีๆ มาเป็นครูได้ นี่คืออีกปมปัญหาของการวางรากฐานการปฏิรูปการศึกษาไทยในอนาคต
วังวนของเด็กนักเรียน จะติดอยู่กับตำรา การท่องจำ และความเกรงกลัวว่าคะแนนสอบจะตก หรือจะทำคะแนนได้ไม่ดี คนเก่งในสายตานักเรียนด้วยกัน ที่เริ่มตั้งแต่ ป.1 กระทั่งมหาวิทยาลัยปีที่ 4 คือ คนที่ได้ที่ 1 หรือคนที่ได้คะแนนที่ดีที่สุดของห้อง ในขณะเดียวกันเด็กที่สนใจเพียงในเรื่องเฉพาะทาง สนใจในกิจกรรมต่างๆ หรือสนใจเพียงบางเรื่อง กลับโดนมองว่าเป็นเด็กที่ไม่สนใจการเรียน ไม่เก่ง ไม่ฉลาด เด็กหลังห้อง เด็กเกเร ทำให้เด็กเหล่านั้นขาดความมั่นใจในวิชาเฉพาะด้านของตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายเป็นอย่างมาก ทั้งๆ ที่ระบบความคิดการเอาชีวิตรอดของพวกเขาอาจสูงกว่าเด็กที่สอบได้ที่ 1 ด้วยซ้ำ
การสอบให้ได้คะแนนดีๆ หรือการสอบเพื่อให้ได้เข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศได้นั้น อาจจะดีสำหรับเด็กและผู้ปกครองบางคน แต่คะแนนที่ดีที่สุด อาจจะไม่ใช่ตัวชี้วัดหรือสอดคล้องกับการมีคุณธรรม จริยธรรมของเด็กได้ดีที่สุด เพราะอาจจะไม่ใช่ทิศทางของการพัฒนาการศึกษาของเด็กไทยเลยก็ว่าได้
ผู้ปกครองหลายคนเริ่มมีความเชื่อว่า การเป็นคนที่สมบูรณ์ได้ ไม่จำเป็นต้องเรียนทุกอย่างตามหลักวิชาการก็ได้ เพราะระบบการศึกษาไทยที่มุ่งเน้นการสอบ อาจส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมแก่งแย่งชิงดี สอนให้คนชอบแข่งขันกัน เหยียดหยาม มีแต่เอาหลักวิชาการมาพูด มาชี้วัด อันนำไปสู่ความเห็นแก่ตัว ซึมซับบริโภคนิยม และเริ่มห่างไกลจากการดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข และการเป็นคนดีให้กับสังคม
ระบบการศึกษาไทยจะผิดทางหรือไม่นั้น คงอยู่ที่ดุลยพินิจของผู้ปกครองแล้วว่า หนทางการเรียนรู้ชีวิต และการดำรงชีวิตในอนาคตของบุตรหลานจะฝากไว้กับระบบการศึกษาไทยได้หรือไม่