สกอ.เตรียมปรับ คุณภาพอุดมศึกษาไทยสู่สากล

สกอ.เตรียมปรับ คุณภาพอุดมศึกษาไทยสู่สากล

สกอ.เตรียมปรับ คุณภาพอุดมศึกษาไทยสู่สากล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

สำนักคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จัดการประชุมวิชาการระดับชาติ ประจำปี 2554 ภายใต้หัวข้อ "คุณภาพอุดมศึกษาไทยสู่สากล" เพื่อต้องการส่งเสริมยกระดับการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทยให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคโลกาภิวัตน์ พร้อมสร้างความตระหนักและกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามามีส่วนร่วม ในการยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล พร้อมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปีการศึกษา 2558

นางบุญรื่น ศรีธเรศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานเปิดการประชุมฯ เปิดเผยว่า การจัดการประชุมระดับชาติของสกอ. เพื่อสร้างความตระหนักและกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการยกระดับคุณภาพการอุดมศึกษาไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และเป็นเวทีส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาคุณภาพตามเป้าหมายของสถาบันอุดมศึกษา และเป็นการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการศึกษาของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภาที่ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาทุกระดับ และส่งเสริมการมีงานทำที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจที่มั่นคงและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในอนาคต
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการศึกษาที่จะส่งผลให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ภาษา ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมระหว่างประเทศสมาชิก ด้วยเหตุนี้ สถาบันอุดมศึกษาจะต้องเร่งให้เยาวชนมีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากลเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับการก้าวสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน โดยเริ่มต้นวางแผนอย่างจริงจังกับทิศทางการสร้างบัณฑิตและการผลิตองค์ความรู้เพื่อช่วยสร้างประโยชน์จากโอกาสที่กำลังจะมาถึงให้กับทั้งภาคราชการ ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และภาคประชาชน

ในส่วนของ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) หน่วยงานที่รับผิดชอบกำกับดูแลการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา กล่าวว่า ทั้งนี้ ทาง สกอ.กำหนดให้เปิดเสรีการค้าบริการด้านการอุดมศึกษาและการบูรณาการเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการจัดทำกรอบแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี ฉบับที่ 2 เพื่อให้ระบบอุดมศึกษาเตรียมพร้อมในการรองรับให้ประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยสถาบันอุดมศึกษาจำเป็นต้องเสริมหลักสูตรในทุกคณะและภาควิชาให้นักศึกษาตระหนักในเรื่องของอาเซียนมากขึ้น นอกจากนี้ สกอ.ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์อุดมศึกษาไทยในการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.2558 เพื่อเป็นแนวทางให้สถาบันอุดมศึกษาใช้วางแผนยุทธศาสตร์และนโยบายต่อไป ส่วนสถาบันอุดมศึกษาเองก็จะต้องมีการวางแผนในส่วนของสถาบันอุดมศึกษาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียนและเปิดเสรีการค้าบริการด้านการอุดมศึกษา ในปี พ.ศ.2558 ซึ่งจะส่งผลให้บัณฑิตในอนาคตมีคุณภาพระดับสากล และสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ โดยสร้างความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนในการเคลื่อนย้ายนักศึกษาและบุคลากรไปยังประเทศเพื่อนบ้านในระยะเริ่มต้น และขยายวงให้กว้างขึ้น รวมทั้งส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนพัฒนาศูนย์ข้อมูลที่เกี่ยวกับสถาบันอุดมศึกษาในอาเซียน ทั้งนี้ สกอ. ได้จัดทำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2552 เพื่อเป็นกรอบมาตรฐานให้สถาบันอุดมศึกษาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาหรือปรับปรุงหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน และพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา ให้สามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพครอบคลุมอย่างน้อย 5 ด้าน คือ ด้านคุณธรรม จริยธรรม ด้านความรู้ความสามารถทางวิชาการ ด้านทักษะทางปัญญา ด้านทักษะความสัมพันธ์ความรับผิดชอบและด้านทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข และในส่วนของตัวผู้สอนก็จะต้องมีการพัฒนาให้มีคุณภาพ มีความรู้ความเข้าใจ และมีประสิทธิภาพด้านศาสตร์การสอน ความเชี่ยวชาญในศาสตร์สาขาวิชาชีพ รวมทั้งมีการทำวิจัยที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่และต่อยอดองค์ความรู้เดิม ตลอดจนมีการบริการให้ความรู้หรือประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อประโยชน์แก่สังคมและชุมชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

ด้าน นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการ สกอ. กล่าวสรุปผลการประชุมในครั้งนี้ว่า การประชุมดังกล่าวเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การอุดมศึกษาของไทย สรุปผลที่สำคัญของการประชุมคือ บทบาทของ สกอ. คณะกรรมการการอุดมศึกษา และสภาสถาบันอุดมศึกษาที่จะต้องมีจุดยืนที่มั่นคงในการเชื่อมโยงกับการศึกษาทุกระดับ มีการเรียนรู้ทางภูมิปัญญา เน้นเป้าหมายให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษามีงานทำ ส่วนการผลิตบัณฑิต มหาวิทยาลัยต้องคำนึงถึง การเรียนรู้ของคนไทยในการเตรียมตัวประเทศเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และการสนับสนุนจากรัฐบาลในการผลิตบัณฑิตในด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และการมีงานทำในอนาคต

ที่มา "การศึกษาวันนี้"
ผู้เขียน : อภัสรา rung0369@hotmail.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook