น้ำกัดหรือเชื้อรากัดเท้ากันแน่
เมืองเรามีน้ำท่วมทุกปี มักท่วมหนัก นานและขยายบริเวณกว้างไปจนเกือบทั่วประเทศ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนกันทั่วหน้า เกิดปัญหาตามมามากจริงๆ ตั้งแต่ที่อยู่อาศัย อาหารการกิน และโรคที่มากับน้ำ โดยเฉพาะโรคผิวหนัง ยิ่งน้ำท่วมนานก็ยิ่งมีปัญหามาก เกิดโรคเท้าเปื่อย แผลพุพอง เชื้อหนอง เชื้อรา เชื้อพยาธิ จะติดตามมากันใหญ่ ประชาชนรู้จักเรื่องโรคผิวหนังที่มากับน้ำท่วมกันดี หนังสือพิมพ์และวิทยุก็ออกข่าว บทความอยู่บ่อยๆ บางครั้งก็มีข้อความก่อให้เกิดอารมณ์ขันบ้าง เช่น น้ำท่วมที่โน่นที่นี่ ให้ช่วยกันวิดช่วยกันสูบหน่อย ขืนปล่อยให้ขังนานๆ เดี๋ยวโรคน้ำกัดเท้าหรือฮ่องกงฟุตจะกำเริบกันทั้งหมู่บ้าน
โรคผิวหนังเป็นโรคสำคัญที่มากับน้ำท่วม อยู่ในกลุ่มเดียวกับโรคระบบอื่นที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งได้แก่ โรคท้องร่วง โรคระบบหายใจ เช่น เป็นหวัด ปอดบวม ถ้าย้ำยิ่งขังเนิ่นนานออกไป จะยิ่งติดอันดับทุกระบบ รวมทั้งโรคขาดอาหารด้วย เพราะไม่มีอาการจะกิน ประชาชนรู้จักโรคน้ำกัดเท้ากันดี ชื่อก็บอกอยู่ในตัวว่ามีสาเหตุจากเท้าแช่น้ำนานๆ ในระหว่างน้ำท่วมขังอยู่รอบบ้านและในบ้าน รวมไปถึงผู้ที่มีภาระหน้าที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทีลุยน้ำไปมาจนเกิดอาการน้ำกัดเท้า
"โรคน้ำกัดเท้า" ไม่ปรากฏผู้บัญญัติศัพท์นี้ คงเป็นคำที่เรียกกันไปมาจนติดปาก เพราะสื่อความหมายโดยตรง จนกลายเป็นชื่อโรค จัดเป็นชื่อที่เหมาะสมดี ฟังเข้าใจง่ายโดยไม่ต้องตีความ ดีกว่าชื่อโรคอีกหลายโรคที่ชื่อฟังยาก ยิ่งชื่อโรคที่ไม่เคยมีบัญญัติภาษาไทย ต้องแปลจากภาษาฝรั่งผู้ป่วยฟังแล้วงง โรคน้ำกัดเท้า เกิดจากเท้าที่แช่น้ำที่มีเชื้อโรค สิ่งปฏิกูล เช่น มูลสัตว์ มูลฝอย ปะปนอยู่เป็นที่รวมของความสกปรก มีฤทธิ์ระคายเคืองต่อผิวหนัง สามารถย่อยโปรตีนผิวหนังให้เปื่อยยุ่ย ยิ่งถ้ามีแผลเปื่อยอยู่ก่อนก็จะยิ่งเป็นมากขึ้น เป็นประตูให้เชื้อโรคเข้าสู่รอยเปื่อยนั้น ทำให้เกิดแผลบวม มีหนองหรือเป็นฝี มีอาการเจ็บปวด เดินไม่ไหว ไข่ดันบวม ถึงกับเป็นไข้
ในระยะแรกนี้ เท้ายังไม่เป็นเชื้อรา เป็นแค่เท้าเปื่อยและมีเชื้อหนอง เชื้อราเกิดจากเมื่อเท้าอับชื้นเป็นเวลานาน ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ใส่รองเท้าอบทั้งวัน นักกีฬาที่มีเหงื่อออกมากและมีการอาบน้ำรวมกันหรือแหล่งเดียวกัน เกิดการแพร่เชื้อและติดเชื้อที่ตกค้างอยู่ในบริเวณในห้องน้ำ ผู้ที่เดินย่ำเท้าเปล่าย่ำอยู่บนพื้นดินพื้นทรายที่มีเชื้อราปะปนอยู่ ก็มีโอกาสติดเชื้อราที่เท้าได้ง่าย จะเห็นว่าเชื้อรากว่าจะก่อตัวเข้าไปกัดเท้าต้องใช้เวลา และค่อยเป็นค่อยไป มิใช่จะมาเกิดระบาดในขณะน้ำท่วมในปัจจุบันทันด่วนเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เพราะฉะนั้น โรคที่มากับน้ำท่วม เดินย่ำน้ำจนเท้าเปื่อยจนเกิดน้ำกัดเท้านั้น จึงยังมิใช่ "เชื้อรา" หรือฮ่องกงฟุตตามที่เข้าใจกัน ปรากฏมีผู้ป่วยเป็นจำนวนมากซื้อยาเชื้อรามาใช้อยู่นาน โดยที่ความจริงโรคที่เป็นไม่ใช่เชื้อรา
การป้องกันและรักษา ในระยะนี้จึงเป็นเรื่องของจากรักษาความสะอาดและพยายามให้เท้าแห้งมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ มีข้อแนะนำ 10 ประการในการป้องกันและรักษาโรคน้ำกัดเท้าขณะอยู่ในภาวะน้ำท่วม
๑. ควรหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำโดยไม่จำเป็น เช่น ท่องน้ำหรือเล่นน้ำเพื่อความสนุก
๒. เมื่อจำเป็นโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรใช้รองเท้าบูทที่ทำด้วยยางกันน้ำ หากน้ำยังล้นเข้าไปในรองเท้าบูท ให้ถอดแล้วเทน้ำในรองเท้าทิ้งเป็นคราวๆ ยังดีกว่าแช่อยู่ตลอด
๓. เมื่อกลับเข้าบ้านให้ล้างเท้าให้สะอาด โดยแช่น้ำและสบู่ ควรเช็ดให้แห้ง โดยเฉพาะบริเวณซอกเท้า
๔. เพื่อให้เท้าแห้งสนิท ให้ใช้แป้งฝุ่นสำหรับโรยตัว โรยที่เท้าและซอกเท้า
๕. หากมีบาดแผลให้ใช้แอลกอฮอล์เช็ดแผล แล้วทาด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น ทิงเจอร์เบตาดีน
๖. ถ้ามีแผลอักเสบบวมและปวด และบางครั้งรุนแรงจนถึงเป็นไข้ ให้กินยาแก้อักเสบ เช่น ซัลฟา เพนิซิลลิน หรืออีริโทรมัยซิน ติดต่อกันเป็นเวลา ๑ สัปดาห์ หรือจนกว่าแผลจะหายดี
๗. หากสงสัยว่าจะเป็นเชื้อรา แนะนำให้มาตรวจเชื้อที่สถาบันโรคผิวหนัง ถนนราชวิถี การตรวจ ใช้วิธีขูดขุยที่ผิวบริเวณแผลไปตรวจ ไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด
๘. ไม่ควรเริ่มใช้ยาเชื้อราก่อนการพิสูจน์เชื้อ เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ อาจเสียเงินและเสียเวลาโดยใช่เหตุ เนื่องจากยาเชื้อราต้องใช้เวลารักษานานและมีราคาแพง
๙. ยารักษาเชื้อราบางชนิด เช่น ขี้ผึ้งวิทฟิลด์ ซึ่งเป็นยาที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากหาง่ายและราคาถูก มีฤทธิ์ทำให้ผิวลอก หากนำมาใช้ขณะน้ำกัดเท้าจะยิ่งก่อให้เกิดการระคายเคือง เจ็บแสบ และผิวถลอกมากขึ้น จึงไม่ควรนำมาใช้ในระยะนี้
๑๐. ขอฝากคำขวัญให้ผู้ที่ต้องย่ำน้ำท่วมขังเสมอว่า "เมื่อลุยน้ำท่วมขังให้ล้างน้ำฟอกสบู่ เช็ดจนแห้ง แล้วเอาแป้งโรย"