ประวัติ "วันรัฐธรรมนูญ" 10 ธันวาคมของทุกปี และความสำคัญของวันรัฐธรรมนูญ
วันรัฐธรรมนูญ 2566 ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2566
วันรัฐธรรมนูญ ตรงกับวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี เป็นถือวันที่ระลึกถึงโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของประเทศไทย โดยผลของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ปีเดียวกัน เริ่มเมื่อ 10 ธันวาคม
ความหมายของคำว่า "รัฐธรรมนูญ"
รัฐธรรมนูญ (Constitutional) หมายถึง กฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นกติกาสูงสุดในการปกครอง ซึ่งกำหนดกรอบอำนาจหน้าที่และบทบาทของบุคคลต่าง ๆ รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงการปกครองระบอบประชาธิปไตย และเป็นเครื่องหมายที่แสดงให้เห็นว่าประเทศมีการปกครองแบบนิติรัฐ คือ เป็นการปกครองโดยกฎหมาย และในบรรดากฎหมายที่ออกมาบังคับใช้กับพลเมือง รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดหนึ่งเดียวซึ่งกฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งไม่ได้
10 ธันวาคม ของทุกปี เป็น "วันรัฐธรรมนูญ" เพื่อเป็นการระลึกถึงรัฐธรรมนูญฉบับแรก อันเป็นฉบับถาวร เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และเป็นเครื่องกำหนดระเบียบแบบแผนของสังคม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้กับปวงชนชาวไทย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475
ประวัติวันรัฐธรรมนูญ
การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์การปกครองของชาติไทยเนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่ใช้กันมาเป็นเวลา 700 ปีเศษ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
สาเหตุที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรีทรงมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นหลักในการปกครองของประเทศให้แก่ประชาชนชาวไทย
หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ผลอันนี้ได้กระทบมาถึงไทยด้วย พระองค์ได้แก้ไขเศรษฐกิจโดยปลดข้าราชการออก ยังความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการ
อิทธิพลจากตะวันตกเกี่ยวกับอุดมการทางการเมือง ทำให้กลุ่มคนหนุ่มต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน
รัฐบาลได้ออกกฏหมายเก็บภาษี อาทิ ภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดิน จากราษฎร
จากสาเหตุดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการทหาร และราษฎรทั่วไปจึงทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยการปฏิวัติ มีคณะผู้รักษาการพระนครฝ่ายทหาร ซึ่งประกอบด้วยพันเอก พระยาพหลพยุหเสนา พันเอกพระยาทรงสุรเดช และพันเอกพระฤทธิอาคเนย์ เป็นผู้บริหารประเทศ
วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเรียกว่า "พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว" สาระสำคัญของธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ได้แก่ การที่กำหนดว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎรทั้งหลาย การใช้อำนาจสูงสุดก็ให้มีบุคคลคณะบุคคลเป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรดังนี้ คือ
- พระมหากษัตริย์
- สภาผู้แทนราษฎร
- คณะกรรมการราษฎร
- ศาล
ลักษณะการปกครองแม้จะเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยแต่ก็ถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ เป็นสถาบันที่ถาวรและมีการสืบราชสมบัติต่อไปในพระราชวงศ์ การปฏิบัติราชการต่างๆ จะต้องมีกรรมการราษฎรผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โดยได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการราษฎรจึงจะใช้ได้ สถาบันที่เกิดใหม่คือ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีอำนาจทางนิติบัญญัติออกกฎหมายต่างๆ ซึ่งเมื่อพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้แล้วจึงมีผลบังคับได้ เหตุนี้ในระยะแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สภาผู้แทนจึงเป็นสถาบันที่มีอำนาจสูงสุดในทางการเมือง ส่วนการใช้อำนาจตุลาการยังคงให้ศาลยุติธรรมที่มีอยู่แล้วพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปตามกฎหมายได้ตามเดิม
กระทั่งถึง วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม ฉบับถาวร ซึ่งมีหลักการต่างกับฉบับแรกในวาระสำคัญหลายประการ อาทิได้เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นการปกครองแบบรัฐสภา ทั้งนี้เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๔๗๕ ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นประมุขไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองเป็นผู้ใช้อำนาจทางคณะรัฐมนตรี ซึ่งพระมหากษัตริย์ ทรงแต่งตั้งให้บริหารราชการแผ่นดิน
แต่คณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินต่อสภาผู้แทน รัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติมิได้ใช้แต่เพียงอำนาจนิติบัญญัติเท่านั้น แต่มีอำนาจที่จะควบคุมคณะรัฐมนตรีในการบริหารแผ่นดินด้วย แต่อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีรวมทั้งพระมหากษัตริย์ซึ่งประกอบกันเป็นรัฐบาลก็มีอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนได้
หากเห็นว่าได้ดำเนินการไปในทางที่จะเป็นภัยหรือเสื่อมเสียผลประโยชน์สำคัญของรัฐที่มีผลเท่ากับถอดถอนสมาชิกสภาที่ได้รับเลือกตั้งมาเพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งใหม่ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์นั้นได้บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้
รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นเครื่องกำหนดระเบียบแบบแผนของสังคม เพื่อเป็นการระลึกถึงรัฐธรรมนูญฉบับแรก อันเป็นฉบับถาวร และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานให้กับปวงชนชาวไทย ทางราชการจึงกำหนด วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันรัฐธรรมนูญ เพื่อระลึกถึงวันสำคัญนี้ และเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของระบอบประชาธิปไตย
วันรัฐธรรมนูญของไทยมีความสำคัญต่อประเทศไทยอย่างยิ่งยวด เพราะเป็นวันแห่งการเริ่มต้นระบอบประชาธิปไตย ซึ่งถือเป็นระบอบการปกครองที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพและมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ
ความสําคัญของวันรัฐธรรมนูญ 5 ข้อ
-
สถาปนาอำนาจของรัฐ
รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ แสดงถึงการดำรงอยู่ของรัฐ เป็นเอกราชไม่ขึ้นต่อใคร รัฐธรรมนูญจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสถาปนาอำนาจของรัฐ เปรียบเสมือนเสาหลักที่คอยยึดโยงให้ประเทศชาติมีความเป็นเอกภาพและมั่นคง
-
สถาปนาเป้าหมายของสังคมที่เป็นเอกภาพ
รัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรของเจตจำนงของประชาชน แสดงถึงเป้าหมายของสังคมที่ต้องการจะก้าวไปสู่ รัฐธรรมนูญจึงมีความสำคัญในการสถาปนาเป้าหมายของสังคม เปรียบเสมือนแผนที่นำทางที่ชี้แนะทิศทางการพัฒนาประเทศ
-
เพื่อให้เกิดรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ
รัฐธรรมนูญกำหนดหน้าที่ของผู้ปกครอง กำหนดบทบาทและกลไกการทำงานของสถาบันการเมือง สร้างความสมดุลและลดความขัดแย้งระหว่างอำนาจต่างๆ รัฐธรรมนูญจึงมีความสำคัญในการสร้างรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ เปรียบเสมือนระบบนิเวศที่คอยรักษาสมดุลของสังคม
-
เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างอิสระ ไม่ถูกละเมิดโดยอำนาจรัฐ รัฐธรรมนูญจึงมีความสำคัญในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เปรียบเสมือนเกราะป้องกันที่คอยปกป้องประชาชนจากอำนาจเผด็จการ
-
เพื่อให้เกิดความชอบธรรมของระบอบการเมือง
รัฐที่มีรัฐธรรมนูญจะได้รับความชอบธรรมจากประชาคมนานาชาติ เมื่อเข้าร่วมกับภาคีความร่วมมือต่างๆ รัฐธรรมนูญจึงมีความสำคัญในการรับรองความชอบธรรมให้ระบอบการเมือง เปรียบเสมือนบัตรผ่านที่ช่วยให้ประเทศชาติสามารถก้าวสู่เวทีโลกได้อย่างสง่างาม
วันรัฐธรรมนูญ 2566 เป็นวันหยุดไหม
วันรัฐธรรมนูญ ตรงกับวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันหยุดราชการ และเป็นวันหยุดธนาคารด้วย ส่วนกิจกรรมวันรัฐธรรมนูญที่มักจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี คือ พิธีวางพวงมาลาถวายสักการะ ณ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) และ การจัดนิทรรศการเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ โดยหน่วยงานราชการ เช่น สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ สถาบันพระปกเกล้า เป็นต้น