พม.- สสส. ร่วมผนึกกำลัง 7 กระทรวง สานเสริมพลัง...พัฒนาเด็กและเยาวชน
พม.- สสส. ร่วมผนึกกำลัง 7 กระทรวง สานเสริมพลัง...พัฒนาเด็กและเยาวชน" ต่อยอดสร้างมิติใหม่แห่งความร่วมมือ มุ่งหวังเกิดระบบ กระบวนการทำงานสุขภาวะเด็กในชุมชน อย่างยั่งยืนต่อเนื่องและพึ่งพาตนเอง
วันนี้ (20 ธ.ค. 54) ที่โรงแรมโรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมหารือผู้บริหาระดับสูง (High Level Meeting) โครงการปฏิรูปการทำงานด้านเด็กและเยาวชนแนวใหม่ "สานเสริมพลัง...พัฒนาเด็กและเยาวชน" ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือที่ได้ทำไว้ เพื่อระดมพลังส่วนราชการใน 7 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมทั้งสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน ครอบครัวชุมชนและท้องถิ่น และกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษ โดยร่วมกันสร้างกลไกคนทำงานเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งถือเป็นมิติใหม่แห่งความร่วมมือ
นายปิ่นชาย ปิ่นแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ (สท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า โครงการปฏิรูปการทำงานด้านเด็กและเยาวชนแนวทางใหม่นี้มีวัตถุประสงค์สำคัญ 2 ประการ คือ เพื่อสร้างและพัฒนาให้เกิดทีมงานกลางมืออาชีพ (Core Team) ที่มีวิสัยทัศน์ ความคิดเห็นร่วมกัน มีคุณภาพสูง สามารถเป็นผู้นำ เป็นที่ปรึกษา และร่วมทำงานสอดคล้องเชื่อมเสริมกันของประเทศ ประการที่สองเพื่อพัฒนาระบบการพัฒนาสังคมด้านเด็กและเยาวชน ที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยความร่วมมือระหว่างกลุ่มบุคคลทุกภาคส่วน โดยใช้ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีเพื่อช่วยให้ชุมชนสามารถนำไปพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่อย่างกระตือรือร้นไปพร้อมกัน และในที่สุด สามารถทำได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ ความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นนั้นอยู่ที่ผู้บริหารระดับสูง ซึ่งเป็นกุญแจของความสำเร็จ (Key Success Factor) ต้องเข้าใจโครงการอย่างชัดเจน และมีบทบาทสนับสนุนโครงการ โดยพิจาณาคัดสรรบุคคลที่จะเป็นทีมงานมืออาชีพ (Core Team) ตามคุณสมบัติที่โครงการกำหนด มาร่วมเป็นทีมของประเทศ หน่วยงานละ 2 คน รวมกับทีมจาก 2 เขตใน กทม. และ 4 จังหวัดได้แก่ เชียงใหม่ ยโสธร ระยองและสตูล จังหวัดละ 7 คน นอกจากนี้ มีบทบาทในการดูแล ให้กำลังใจ ยอมรับว่าเป็นผลงานของบุคคลนั้น และให้ข้อเสนอแนะสนับสนุน เพื่อเป็นพลังนำสู่ความสำเร็จ โดยมีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขอรับเป็นหน่วยประสาน และดำเนินการอย่างแข็งขัน จริงจัง แน่นแฟ้นในระยะยาวต่อไป
ด้าน ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ประเด็นทางสังคม โดยเฉพาะสุขภาวะเด็กและเยาวชน เป็น "ต้นทุน" ทางสังคมที่สำคัญ ที่ทุกหน่วยงานต้องให้การร่วมมือและสนับสนุน จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2553 พบว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า เด็กไทยจะมีปัญหาย่ำแย่ลง อาทิ อยู่ในสภาวะเครียด การใช้สารเสพติด การติดเกม การใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะในเพศชายอายุต่ำกว่า 25 ปี ฉะนั้น การสร้างร่วมมือของทุกหน่วยงานในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึก นำไปใช้ปฏิบัติการทุกภาคส่วนในท้องที่ นับเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยเหลือกัน และสร้างให้เกิดเป็นมิติใหม่ในการร่วมมือ เพื่อการพัฒนาและนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป
"ที่ผ่านมา ในปี 2553 ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกัน ระหว่าง สสส.และจากทั้ง 7 กระทรวง ซึ่งทุกหน่วยงานมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งที่ทำงานเกี่ยวข้องด้านเด็กและเยาวชน อีกทั้งมีแนวทางแก้ปัญหาเรื่องเด็กและเยาวชนในองค์กรอยู่แล้ว หากมีการบูรณาการเพิ่มขึ้น จากผู้บริหารระดับสูงตลอดจนผู้บริหารในพื้นที่ จะช่วยเกิดเป็นความสำคัญจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนสุขภาวะเด็กและเยาวชน และแก้ไขปัญหาด้านเด็กเยาวชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น" ทพ.กฤษดา กล่าว
ที่มา : สำนักข่าว สสส.