ฝึกทักษะให้สมอง
หากคุณนึกไม่ออกว่าลืมแว่นตาไว้ที่ไหน หรือนึกชื่อเพื่อนร่วมงานคนใหม่ไม่ได้ แพทย์หญิงแซลดี เอส. ทัน ผู้อำนวยการศูนย์โรคความจำโรงพยาบาลเบทอิสราเอล ดีโคเนส อธิบายว่า การหลงลืมในลักษณะนี้เป็นเครื่องบ่งบอกว่าชีวิตของเรานั้นยุ่งเหยิงเกินไปจนขาดความใส่ใจ ความจำจึงไม่แม่นยำ อีกทั้งยังมีปัญหาในการย้อนนึก
แฮร์รี โลเรน ผู้เขียนหนังสือ จำแม่นในทุกอายุ: เคล็ดลับง่ายๆที่ช่วยให้สมองไม่แก่ แนะนำว่าควรฝึกสมองให้มีความพร้อมอยู่เสมอ เราพยายามออกกำลังให้ร่างกายแข็งแรง แต่ถ้าสมองทำงานบกพร่อง ร่างกายที่แข็งแรงก็คงไร้ประโยชน์ บางคนใช้วิธีจดบันทึกอย่างเป็นระเบียบ หรือบันทึกในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น แบล็กเบอรี โทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือคอมพิวเตอร์ขนาดพกพาอย่างพีดีเอ แต่ในยามที่ไม่มีอุปกรณ์เหล่านี้หรือต้องการฝึกสมอง คุณอาจต้องพึ่งเคล็ดลับช่วยจำจากผู้เชี่ยวชาญดังต่อไปนี้
ฝึกสมอง #1 เขาชื่ออะไรกันแน่
ให้ความสนใจ เมื่อได้รับการแนะนำให้รู้จักเพื่อนใหม่ จงตั้งใจฟังชื่อให้ดี แล้วสร้างภาพตัวสะกดชื่อของเขา หรือถามไปว่า ชื่อ วิรัตน์สะกดด้วย ช. ช้าง หรือ ตน์ ครับ จากนั้นพยายามผูกชื่อเข้ากับเรื่องราวเพื่อให้จำแม่นยิ่งขึ้น (ชื่อวิรัตน์เหมือนกับครูประจำชั้นสมัยมัธยมปลาย) เอ่ยชื่อเพื่อนบ่อยๆขณะสนทนาและก่อนล่ำลา
สร้างภาพจากชื่อ สำหรับชื่อที่จำยาก (เช่น อภิชยมณี) จงพยายามทำให้มีความหมาย เวลาพูดถึงชื่ออภิชยมณี ให้นึกถึงพระอภัยมณี และนึกภาพไปด้วย จากนั้นมองหาลักษณะเด่นของคนคนนั้น (คิ้วหนา จมูกโต) แล้วสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชื่อกับใบหน้า หากอภิชยมณีมีจมูกโต อาจลองนึกภาพพระอภัยมณีนั่งเป่าปี่บนจมูกของเขา การสร้างเรื่องตลกจะช่วยให้จำแม่นขึ้น
สร้างภาพที่น่าจดจำ ลองนึกภาพนายชัยวัฒน์ อินทนนท์ตระกูลยืนอยู่บนยอดดอยอินทนนท์ ดร. กินี เกรแฮม สกอต ผู้เขียนหนังสือ เพิ่มพลังความจำภายใน 30 วัน แนะว่า หากต้องการจำชื่อนางปทุมรัตน์ บัวสอนดี ประธานบริษัทสถาปนิก ให้ลองนึกภาพเธอกำลังถอนสายบัวทำความเคารพอยู่หน้าอาคารหลังใหญ่
แอบโกงเล็กน้อย เคล็ดลับข้อนี้จะดูเป็นรูปธรรมมากขึ้น เมื่อคุณได้รับนามบัตรจากเพื่อนใหม่ ให้แอบจดข้อมูลบางอย่างไว้ด้านหลัง (สวมแว่นกรอบทอง บ้านอยู่ที่รามอินทรา) เพื่อช่วยเตือนความจำ
ฝึกสมอง #2 ฉันลืมแว่นตาไว้มุมไหนของโลก
พูดเตือนตัวเอง ดร. สกอตแนะนำให้ใส่ใจกับเหตุการณ์ขณะวางแว่นตาลงบนโต๊ะและพูดเตือนตัวเอง อย่างเช่น ฉันใส่กุญแจในกระเป๋าเสื้อคลุม การพูดย้ำทำให้เกิดความจำที่ชัดเจน
ฝึกให้เป็นนิสัย หาตะกร้าใบเล็กวาง บนมุมโต๊ะ ฝึกตัวเองให้วางกุญแจ แว่นตา โทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือสิ่งของที่ใช้บ่อย (หรือลืมบ่อย) ในตะกร้าใบนี้ทุกครั้ง
ฝึกสมอง #3 วันนี้ฉันต้องทำอะไรบ้าง
เล่นกับความคุ้นเคย แครอล วอร์เดอร์แมน ผู้เขียนหนังสือ สมองมหัศจรรย์: 101 วิธีฝึกสมองให้เฉียบแหลมยิ่งขึ้น แนะว่า หากต้องการเตือนตนเองให้ทำกิจวัตรเดิมๆที่คุ้นเคย (เช่น เขียนบัตรอวยพร นำเสื้อไปส่งร้านซักรีด) ควรใช้วิธีเตือนที่แปลกไปจากเหตุการณ์ปกติ หากนำใบแจ้งหนี้มาวางไว้บนโต๊ะเช่นทุกครั้ง คุณก็มักจะลืมไว้ตรงนั้นและพลาดชำระหนี้ในที่สุด แต่ถ้านำกุญแจรถยนต์หรือผลไม้มาวางทับไว้ เมื่อสังเกตเห็นข้าวของอยู่ผิดตำแหน่ง คุณจะนึกได้เองว่าต้องนำใบแจ้งหนี้ไปชำระเงิน
ร้องเป็นเพลง หากต้องจดจำรายการหลายอย่าง (เช่น รายการซื้อของ หมายเลขโทรศัพท์ สิ่งที่ต้องทำในวันนั้น) วอร์เดอร์แมนแนะให้นำมาร้องเป็นเพลงที่คุ้นเคย เช่น เพลงสุขสันต์วันเกิด หรือเพลงของเด็กอนุบาล
หาเครื่องช่วยจำ ใช้วิธีสร้างประโยคที่จำง่าย หรือใช้ตัวย่อ เช่น สีทั้งเจ็ดของรุ้งกินน้ำคือ แม่คนนี้ขาวเหลืองสวยดี (ม. ค. น. ข. ล. ส. ด. เท่ากับม่วง, คราม, น้ำเงิน, เขียว, เหลือง, แสด, แดง)
ใช้ร่างกายให้เป็นประโยชน์ หากต้องการจดจำรายการซื้อของ หรือสิ่งที่ต้องทำโดยไม่ใช้กระดาษกับปากกา ดร. สกอตแนะให้ใช้อวัยวะในร่างกายเป็นเครื่องช่วยจำ เริ่มจากเท้าขึ้นมาจนถึงศีรษะ หากรายการซื้อของประกอบด้วยกาว, อาหารแมว, บรอกโคลี, เนื้อไก่, องุ่น และแปรงสีฟัน ให้ลองสร้างภาพขึ้นในใจว่าเท้าของคุณเหยียบติดกาว มีแมวเกาะบนหัวเข่าร้องหาอาหาร บร็อกโคลีงอกออกมาจากกระเป๋ากางเกง เนื้อไก่ติดอยู่กับสะดือ พวงองุ่นห้อยอยู่บนหน้าอก และปากคาบแปรงสีฟัน
วิธีแบบโรมัน ดร.สกอตแนะให้ใช้ วิธีห้องโรมันซึ่งเป็นการสร้างความเกี่ยวข้องระหว่างรายการซื้อของหรือสิ่งที่ต้องทำกับสิ่งของในห้องที่คุ้นเคย ที่ทำงาน หรือเส้นทางไปทำงาน การสร้างภาพความสัมพันธ์ที่แปลกประหลาดจะช่วยให้จดจำแม่นขึ้น เช่น ลูกแอปเปิลห้อยมาจากโคมไฟระเบียง ธัญพืชอบกรอบกระจายอยู่บนโซฟาในห้องนั่งเล่น ฟองแชมพูลอยอยู่เต็มห้องครัว และมีเนยแข็งอยู่บนเตียง
ฝึกสมอง #4 รหัสผ่านของเว็บไซต์นี้คืออะไร
สร้างภาพจากตัวเลข จินตนาการภาพตามรูปร่างของตัวเลข 0 คือลูกบอล หรือแหวน, 1 ปากกา, 2 หงส์, 3 กุญแจรัดข้อมือ, 4 เรือใบ, 5 หญิงตั้งครรภ์, 6 กล้องยาสูบ, 7 บูมเมอร์แรง, 8 ตุ๊กตาหิมะ และ 9 ไม้เทนนิส หากรหัสบัตรเงินสดของคุณคือตัวเลข 4298 ให้ลองนึกภาพว่าคุณอยู่บนเรือใบ (4) มีหงส์ (2) ตรงเข้ามาทำร้าย คุณจึงตีมันด้วยไม้เทนนิส (9) แล้วเสกให้เป็นตุ๊กตาหิมะ (8) รับรองได้ว่าภาพแบบนี้ลืมยาก
คำพ้องเสียง หากคำที่พ้องเสียง กับตัวเลขตั้งแต่ 1 ถึง 9 (เป็ด หมายถึง 7, จิ้งจก หมายถึง 6) จากนั้นให้สร้างเรื่อง-ราวจากคำพ้องเสียง เช่น พี่ (4) ของฉันกินเป็ด (7) เพื่อฉลอง (2) ที่ได้ลูกแฝด (8)
ฝึกสมอง #5 คำพูดติดอยู่ที่ปลายลิ้น
ฝึกท่องพยัญชนะ ก ข ค... หากคุณนึกชื่อภาพยนตร์ไม่ออก ให้ท่องพยัญชนะ (ออกเสียงหรือท่องในใจ) ตามลำดับ เมื่อถึงอักษร ส ชื่อของภาพยนตร์ สุริโยทัย จะถูกกระตุ้นขึ้นมาในความคิดของคุณโดยอัตโนมัติ เคล็ดลับข้อนี้ใช้ได้ดีในห้องสอบเช่นกัน
ฝึกสมอง #6 ฉันจำเรื่องราวต่างๆไม่ได้เลย
จงอ่าน พูด เขียน (หรือพิมพ์) และฟัง หากคุณต้องการจดจำเรื่องราวหรือปาฐกถาต่างๆ จงอ่านหรือพิมพ์เนื้อเรื่องในคอมพิวเตอร์ ขั้นต่อไป ให้อ่านออกเสียงดังๆและบันทึกไว้ แล้วเปิดฟังซ้ำวันละหลายรอบ ขณะคุณท่องจำ อย่าลืมปิดโทรทัศน์ ถอดหูฟังเครื่องเล่นเอ็มพี3 และปิดคอมพิวเตอร์เพื่อสร้างสมาธิ
ใช้สี ใช้ปากกาสีขีดเส้นใต้ หรือวงข้อความสำคัญต่างๆที่อยากเน้นเป็นพิเศษ (เนื้อหาที่ขีดเส้นใต้สีแดงมักทำให้คุณจำแม่นกว่าตัวอักษรทั่วไป)
สร้างแผนที่ สร้างภาพสี่แยกในใจ โดย นำข้อความ คำพูด หรือตัวเลขที่จะช่วยเตือนความจำใส่ไว้ตามมุมถนน
Credit : http://www.readersdigestthailand.co.th/article/2383/