"บุหรี่กานพลู" ขายเกลื่อนภัยคุกคามใหม่ ฮิตในหมู่วัยรุ่น

"บุหรี่กานพลู" ขายเกลื่อนภัยคุกคามใหม่ ฮิตในหมู่วัยรุ่น

"บุหรี่กานพลู" ขายเกลื่อนภัยคุกคามใหม่ ฮิตในหมู่วัยรุ่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

นักวิชาการชี้ พบภัยคุกคามใหม่ "บุหรี่กานพลู" ฮิตในหมู่วัยรุ่น ขายเกลื่อนเมือง ห้าง ตลาดนัด ชุมชน แถมราคาถูก หลอกล่อให้เข้าใจผิดว่าพิษน้อย พบเสี่ยงเกิดมะเร็งมากกว่า มีสารทำให้ชาไม่สำลัก เด็กติดง่าย อเมริกายังสั่งห้ามนำเข้า เครือข่ายบุหรี่ ร้องภาครัฐจัดการด่วน ห้ามนำเข้าเด็ดขาด ฝ่าฝืนโทษสูงสุด ติดคุก 6เดือน ปรับ 1แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เมื่อวันที่ 24มกราคม ที่โรงแรมสยามซิตี้ สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย (สสท.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดแถลงข่าวเรื่อง "บุหรี่กานพลู หรู แต่ไล่ล่าลูกหลานไทย" โดยดร.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า จากข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าอัตราการบริโภคยาสูบเริ่มทรงตัวตั้งแต่ปี 2550จากที่เคยลดเป็นลำดับ ทั้งนี้เป็นเพราะกลุ่มเยาวชนอายุ 15-18ปี และ 19-24ปี มีแนวโน้มสูบบุหรี่สูงขึ้น โดยกลุ่มอายุ 15-18ปี จากที่มีอัตราการสูบบุหรี่ต่ำสุดในปี 2544อยู่ที่ 6.44%เพิ่มเป็น 7.62%ในปี 2552และกลุ่มอายุ 19-24ปี จากที่มีอัตราสูบบุหรี่ต่ำสุดในปี2547อยู่ที่ 20.9%เพิ่มเป็น 22.1%ในปี 2552โดยวัยรุ่นชายอายุ 19-24มีอัตราการสูบบุหรี่สูงถึง 51%ขณะที่ วัยรุ่นหญิงที่เคยมีอัตราการสูบบุหรี่ต่ำเพียง 0.64%ในปี 2550เพิ่มเป็น 0.66%ในปี 2552โดยเฉพาะวัยรุ่นหญิงในกทม. ซึ่งหากไม่สามารถป้องกันนักสูบหน้าใหม่ได้ ประชากรไทยจะเสียชีวิตจากโรคที่มาจากการสูบบุหรี่ มากขึ้นกว่าปัจจุบันที่ 48,000คนต่อปี และรัฐบาลรวมทั้งผู้ป่วยจะสูญเสียค่ารักษาพยาบาลมากกว่า 14,810ล้านบาทต่อปี

 

ดร.ศรีรัช ลาภใหญ่ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ดร.ศรีรัช ลาภใหญ่ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ขณะนี้มีบุหรี่ซึ่งเป็นที่นิยมของกลุ่มวัยรุ่นและถือเป็นภัยคุกคามสังคม คือ บุหรี่กานพลู หรือ "บุหรี่การาม" หรือ "บุหรี่แบล็ก" พบว่าเริ่มมีความนิยมในกลุ่มวัยรุ่น โดยเฉพาะภาคใต้ สามารถหาซื้อได้ทั่วไป โดยในกทม. มีการขายตามแหล่งชุมนุมของวัยรุ่น เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานีรถไฟฟ้า ตลาดนัด โรงหนัง สะพานลอย และร้านค้าในหมู่บ้าน ที่สำคัญมีราคาถูกกว่าบุหรี่ทั่วไป แบ่งขาย 3-4มวน ในราคา 20บาท ทำให้กลุ่มวัยรุ่นยิ่งเข้าถึงได้ง่าย นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้จูงใจวัยรุ่นด้วยการเพิ่มลูกเล่น เช่น ใส่เม็ดมิ้นต์, ออกแบบบรรจุภัณฑ์สวย หรู สีสันสดใส เหมือนกล่องลิปติกทำให้พกพาง่าย และโฆษณาด้วยคำว่า Mild, light, นิโคตินต่ำและ ทาร์ต่ำ เพื่อสื่อให้ผู้สูบหลงเชื่อว่าเป็นบุหรี่ปลอดภัย มีพิษภัยน้อยกว่าบุหรี่อื่นๆ แต่ความจริง บุหรี่กานพลู เป็นภัยคุกคามใกล้ตัว ที่ควรถูกควบคุมโดยเร่งด่วนและควรเร่งรณรงค์สื่อสารให้วัยรุ่นได้ทราบว่า บุหรี่กานพลูมีพิษภัยเทียบเท่าบุหรี่ทั่วๆ ไป

 

 

นพ.หทัย ชิตานนท์

นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ประธานรัฐภาคีกฎหมายบุหรี่โลก องค์การอนามัยโลก2550-2551กล่าวว่า บุหรี่กานพลู เป็นบุหรี่ที่มีการลักลอบนำเข้ามาเป็นเวลาหลายปี และมีการวางขายอย่างเปิดเผยโดยไม่มีการจับกุม บุหรี่กานพลูเป็นที่นิยมในประเทศอินโดนีเซีย มีการผลิตและส่งออกจำนวนมาก แตกต่างจากบุหรี่ทั่วไป คือ มีกลิ่นหอมโดยผสมผลไม้ต่างๆ ลงไป บุหรี่กานพลูมีสาร eugenol ซึ่งเป็นยาชาเฉพาะที่ ที่ทันตแพทย์ใช้ เมื่อสูบบุหรี่กานพลู จะทำให้หลอดลมของผู้สูบชา ทำให้ไม่สำลักจึงสามารถสูบควันลึกลงไปส่วนลึกของปอด ทำให้โอกาสที่เด็กจะติดบุหรี่จึงมีสูง เมื่อเทียบกับสูบบุหรี่ธรรมดาเมื่อสำลักก็จะมีโอกาสไม่สูบต่อมากกว่า นอกจากนี้ บุหรี่กานพลูยังมีกลิ่นหอม รสเย็นชวนให้เด็กติด ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ห้ามนำเข้า และจากการทดสอบของประเทศอินโดนีเซียยังพบว่า บุหรี่กานพลูจะปล่อยนิโคติน และก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ และทาร์ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งมากกว่าบุหรี่ธรรมดา ทำให้เสี่ยงเกิดมะเร็งมากกว่า ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกวดขันห้ามนำเข้าอย่างเด็ดขาด และดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้ลักลอบนำเข้าบุหรี่กานพลูอย่างเคร่งครัด

ดร.นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า บุหรี่กานพลู ถือเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2509 ที่ไม่ได้แจ้งรายการส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบ ตามมาตรา 11 ที่ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ยาสูบจะต้องมีส่วนประกอบตามมาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจะขายได้ ทั้งนี้ ผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบ มีหน้าที่จะต้องแจ้งรายการส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบ ซึ่งผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ฝ่าฝืนมาตรา 11 จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่มา : สำนักข่าว สสส.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook