การอดนอนทำให้สมองเราคาดหวังอาหารแรงขึ้น
เรื่องที่คนอดนอนมักรู้สึกหิวมากกว่าคนอื่นอันนี้เป็นสิ่งที่เรารู้กันมานานพอควรแล้ว งานวิจัยชิ้นก่อนหน้านี้ของ Christian Benedict และ Helgi Schiöth แห่ง Uppsala University ก็แสดงให้เห็นว่ากลุ่มตัวอย่างที่อดนอนมาทั้งคืนรายงานว่าตัวเองรู้สึกหิวมากกว่าปกติ
แต่งานวิจัยไม่จบแค่นั้น ล่าสุด Christian Benedict และ Helgi Schiöth ได้ศึกษาต่อจากงานวิจัยเดิมของพวกเขาเพื่อที่จะดูว่าความหิวที่เพิ่มขึ้นจากการอดนอนเป็นผลมาจากการทำงานของสมองส่วนไหนบ้าง
การทดลองใช้กลุ่มตัวอย่างชายสุขภาพดี 12 คน ตอนแรกให้กลุ่มตัวอย่างอดนอนทั้งคืนก่อน พอถึงเช้าก็ใช้เทคนิค fMRI (functional magnetic resonance imaging) ถ่ายภาพการทำงานของสมองชณะที่กลุ่มตัวอย่างดูรูปอาหาร ส่วนในอีกคืนก็ให้กลุ่มตัวอย่างได้นอนเต็มที่ทั้งคืนตามปกติ แล้วค่อยถ่ายภาพ fMRI ตอนดูรูป
ผลการทดลองปรากฏว่า เมื่อเจอรูปอาหาร สมองส่วนที่เรียกว่า "Anterior cingulate cortex" ของกลุ่มตัวอย่างที่อดนอนมีการกระตุ้นมากกว่าปกติ (วันที่ไม่ได้อดนอน) สมองส่วนนี้เกี่ยวข้องกับการคาดหวังรางวัล, การตัดสินใจ, และอารมณ์
ที่น่าแปลกคือ เมื่อวัดระดับกลูโคสในเลือด ก็พบว่าการอดนอนไม่ได้ทำให้ระดับกลูโคสแตกต่างจาการคืนที่ได้นอนเต็มที่อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งๆ ที่กลุ่มตัวอย่างรายงานว่าการอดนอนทำให้ตนเองรู้สึกหิวกว่าคืนที่ได้นอนเต็มอิ่ม
สรุปคือ การอดนอนทำให้เรามีความรู้สึกว่าคาดหวัง "รางวัล" จากการกินอาหารแรงขึ้น แม้ว่าร่างกายเราจะไม่ได้ขาดพลังงาน ซึ่งตรงนี้ก็คงพอจะอธิบายได้ว่าทำไมคนที่อดนอนถึงได้รู้สึกว่าตนเองหิวกว่าปกติ
Source : jusci.net/