พ่อแม่ต้นแบบสำคัญ ปลูกฝังเด็กไทยใกล้ศาสนา

พ่อแม่ต้นแบบสำคัญ ปลูกฝังเด็กไทยใกล้ศาสนา

พ่อแม่ต้นแบบสำคัญ ปลูกฝังเด็กไทยใกล้ศาสนา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"แม่จ๋าพาหนูไปใส่บาตรด้วยนะ"

คำขอร้องที่เคยได้ยินในวัยเยาว์ของเด็กๆ ที่เมื่อเห็นพระสงฆ์เดินผ่านหน้าบ้าน มีผู้ใหญ่พร้อมเตรียมข้าวสารอาหารที่ทำเองกับมือ ใส่ถาดไว้รอถวายพระภิกษุในยามเช้า อาจเป็นภาพชินตาของใครหลายคนที่ยังคงวิถีธรรมเช่นนี้อยู่ แต่ในปัจจุบันยามเช้าทุกคนต่างเร่งรีบตื่นนอนเพื่อเดินทางไปโรงเรียน ไปทำงานให้ทันกับเวลาที่กำหนด

เด็กไทยอาจจะถูกกล่าวหาเสมอว่า "ไกลวัด" โดยจากการสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายของประชาชน ช่วงวันมาฆบูชา ตรงกับวันที่ 7 มี.ค. 2555 โดยสำรวจประชาชนทั่วประเทศ 1,209 ราย ระหว่างวันที่ 26-28 ก.พ. 2555 พบว่า คนไทยห่างวัดมากขึ้น โดยประชาชนส่วนใหญ่ 56% ไปวัดเดือนละ 1-3 ครั้งต่อเดือน และอีก 35% ไปวัดปีละ 1-5 ครั้ง ขณะที่สังคมไทยในปัจจุบันให้ความสำคัญกับวันสำคัญทางศาสนานาเมื่อเทียบกับในอดีต 5-10 ปีที่ผ่านมา ผู้ตอบ 58.9% ให้ความสำคัญน้อยลง 35.8% เหมือนเดิม 3.2% ไม่มีความสำคัญ และ 2.1% ให้ความสำคัญมากขึ้น

นั่นอาจเป็นเพราะเราลืมปลูกฝังความงดงามทางประเพณีวัฒนธรรมของการเป็นพุทธศาสนิกชนไทยมาตั้งแต่วัยเยาว์ไปหรือไม่

นางฐานิชชาลิ้มพานิช ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวกล่าวว่า ความจริงแล้วรู้สึกน่าใจหายเพราะจากผลการทำนายไว้ว่าศาสนาจะเสื่อมลง คนเข้าวัดน้อยลงเพราะวิถีชีวิตที่ต้องเร่งรีบ ดังนั้น เป็นสิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรตระหนักให้ความสำคัญกับการปลูกฝังเด็กๆ ให้สนใจในศาสนามากขึ้น ลำดับแรกพ่อแม่ผู้ปกครองเองต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก โดยเฉพาะเด็กเล็ก ระดับอนุบาล ที่ชอบมีพฤติกรรมเลียนแบบ เมื่อเห็นพ่อแม่ผู้ปกครองทำบุญทำทาน ใส่บาตร หรือเข้าวัดทำกิจกรรมทางศาสนา ย่อมมีคำถามจากเด็กๆ ตามมาเสมอว่าทำแล้วได้อะไร ทำไปเพื่ออะไร และเมื่อเด็กเห็น เด็กก็ต้องการทำตามแบบอย่าง ส่วนเด็กโตนั้นอาจจะยากหากเป็นการบังคับให้เด็กทำ พ่อแม่ต้องพูดคุยกับลูกเพื่อให้เขารู้ว่าการไปวัดนั้นดีอย่างไร มีประโยชน์อย่างไร และทำไปเพื่ออะไร เมื่อเด็กเข้าใจเด็กก็จะทำโดยสมัครใจในครั้งต่อไป ไม่มีการบังคับ

"สังคมสมัยนี้อาจทำให้ครอบครัวพาเด็กเข้าวัดน้อยลง ก็อาจเปลี่ยนแปลงเป็นการพาทำบุญตักบาตร หรือไปเวียนเทียนตอนเย็นด้วยกัน เพราะจริงๆ แล้วหากเป็นเด็กเล็ก พ่อแม่สามารถทำเป็นแบบอย่างได้ เพราะเด็กก็จะชอบอยู่แล้ว โดยนอกจากจะพาไปทำบุญตักบาตรแล้ว อาจมีกิจกรรมอื่นๆ ร่วมด้วย เช่นการไปทำความสะอาด หรือไปฟังธรรม ซึ่งจริงๆ แล้วอยากให้พ่อแม่หรือครอบครัวเป็นแบบอย่างให้กับเด็กๆ ก่อน หรืออาจใช้วิธีชวนกันทำกับข้าวใส่บาตรร่วมกันตั้งแต่ต้น ให้เด็กๆ เห็นตั้งแต่กระบวนการก่อนไปวัดด้วยกัน โดยเด็กเล็กๆ ที่พาไปวัดได้ก็ตั้งแต่แบเบาะก็มี หรือระดับชั้นอนุบาลก็เริ่มพาไปได้ เขาจะเกิดการเรียนรู้ว่า การไปวัดไม่ใช่ไปวิ่งเล่น เห็นการใส่บาตร ทำบุญ สวดมนต์ พอกลับมาก็มาพูดคุยกันว่าไปวัดแล้วได้อะไรบ้าง ไม่ใช่พากันไปเสร็จแล้วก็จบไม่ได้เรียนรู้อะไร"ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวกล่าว

นางฐานิชชา ยังบอกด้วยว่า แม้ปัจจุบันนี้วิถีชีวิตอาจจะเร่งรีบ จากเดิมที่การไปวัดมักจะไปในช่วงวันหยุด วันสำคัญทางศาสนา เช่นวันพระต่างๆ หากพ่อแม่ผู้ปกครองไม่สามารถพาเด็กไปวัดช่วงเวลาดังกล่าวได้ ก็อาจเปลี่ยนเป็นการทำบุญตักบาตรหน้าบ้านในตอนเช้าก่อนไปโรงเรียน หรือการหาเวลาว่าง และที่สำคัญต้องไม่เพียงแต่ทำบุญเพียงอย่างเดียว ต้องสอนให้เด็กรู้จักทำทาน เป็นการทำบุญและทำทานควบคู่กันไปด้วยเพื่อให้เกิดประโยชน์

เชื่อว่าการเริ่มปลูกฝังลูกๆ ในวัยเยาว์ตั้งแต่วันนี้ คงไม่สายที่จะทำให้ผลโพลล์ในครั้งต่อไป เด็กไทยจะต้องใกล้วัดมากขึ้น เพราะพ่อแม่คือแกนหลักสำคัญที่จะช่วยให้อนาคตของชาติเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีในวันหน้าได้อย่างภาคภูมิใจต่อไป

เรื่องโดย: สุนันทา สุขสุมิตร Team content www.thaihealth.or.th

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook