ชี้คะแนนโอเน็ตตกต่ำ เพราะข้อสอบกับการเรียนการสอนสวนทางกัน
"อมรวิชช์" ชี้ผลโอเน็ตเด็กไทยตกต่ำ ยังสะท้อนผลสัมฤทธิ์การศึกษาไทยได้ไม่ชัดเจน เพราะข้อสอบกับการเรียนการสอนในห้องเรียนสวนทางกัน ต้องใช้เวลา 3-5 ปีปรับให้ตรงกัน
นายอมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สศค.) เปิดเผยว่า แม้ค่าเฉลี่ยผลสอบโอเน็ตของเด็กไทยจะออกมาต่ำ สะท้อนผลสัมฤทธิ์การเรียนได้ระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ใช่ตัววัดที่ดี เนื่องจากข้อสอบของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ออกตามวัตถุประสงค์ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่เน้นให้เด็กไทยคิดวิเคราะห์ ไปจนถึงวิเคราะห์ขั้นสูงซับซ้อนอย่างมีเหตุผลและนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้ แต่ไม่ได้การเตรียมครูผู้สอนของ ศธ.เพื่อให้ผู้เรียนมีความพร้อมด้านคิดวิเคราะห์ การเรียนยังเน้นท่องจำ ขณะที่การสอบเน้นคิดวิเคราะห์ จึงสวนทางกัน ทางออกขณะนี้คือปรับข้อสอบให้ไปในแนวเดียวกับการสอน แล้วใช้เวลาเตรียมความพร้อมปรับการสอน 3-5 ปี
"ข้อสอบพื้นฐานคือการวัดความรู้ของเด็กที่เรียนมา กระบวนการก็ต้องนำไปสู่การวัดผลอย่างแท้จริงของเด็ก ไม่ใช่ผลักดันเด็กและครูไปจะสุดขอบร่วงไปเลย ผมย้ำว่าโอเน็ตยังต้องมีอยู่ ไม่ใช่เกิดเรื่องแล้วให้รื้อหรือยกเลิก แต่ต้องทำให้ผลโอเน็ตมีความหมายขึ้น เหมือนกับการสอบไล่ เป็นข้อสอบที่ได้มาตรฐานตรงตามเนื้อหาจริง ๆ เรื่องนี้ ศธ.ต้องเป็นหลักยืนอยู่ตรงไหน จะไปเซซ้ายขวาตามกระแสสังคม พอถูกว่าเด็กตกเยอะ ก็ไปมีนโยบายขอให้โรงเรียนช่วยเด็กให้ได้สอบผ่านกันมาก ๆ สุดท้ายไม่ได้สอบผ่าน เพราะช่วยทางวิชาการจริง ๆ แต่เป็นการช่วยให้เด็กผ่านเฉย ๆ ผ่านโดยที่ไม่มีเครื่องมือวัดที่ดีพอว่าเด็กมีความสามารถตรงตามหลักสูตรพอที่จะขึ้นชั้นได้ด้วยซ้ำ ก็เลยกลายเป็นการปล่อยผี อย่างนี้สุดท้ายก็ทำร้ายประเทศชาติ ทำร้ายการศึกษาของชาติ ที่ผ่านมาในรอบ 7-8 ปีที่มีโอเน็ตมา งบประมาณการศึกษาก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เงินเดือนครูก็ไม่ขี้เหร่ แต่ผลสอบออกมาตกต่ำ ทำให้สังคมหดหู่ มันฟ้องอะไรบ้าง อย่างที่ภาครัฐจัดอยู่ว่าไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ" ที่ปรึกษาด้านวิชาการ สศค.กล่าว
นายอมรวิชช์ กล่าวด้วยว่า ผลโอเน็ตที่ออกมาแปลได้หลายอย่าง อาจหมายถึงการเรียนการสอนแย่ลงก็ได้ที่ครูไม่สามารถสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือประสิทธิภาพด้อยลง หรือแปลว่าข้อสอบมันยากขึ้นเรื่อย ๆ กว่าความสามารถของเด็ก หรือหมายถึงทั้งคู่ก็ได้ เรื่องที่พูดทั้งหมดเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ ที่อาจจะมาลบหลักการที่ถูกต้อง ยืนยันว่าบ้านเราต้องมีระบบทดสอบ ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถพัฒนาได้ เพียงแต่ระบบทดสอบตอนนี้ยังวัดเนื้อแท้ตามความสามารถของเด็กที่ยุติธรรมได้ไม่เต็มที่ แต่ไม่ใช่รื้อระบบหรือทิ้งระบบ.- สำนักข่าวไทย