ศธ.เน้นขยายโอกาสทางการศึกษา 4 ด้าน
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) - ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมประชุมกับคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เพื่อหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการศึกษา เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๕ โดยมี ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้บริหารระดับสูงในสังกัด สพฐ. ร่วมประชุม
รมว.ศธ.กล่าวถึงนโยบายการศึกษาคือกุญแจสำคัญ และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยขจัดความยากจน โดยนโยบายของ ศธ.จะยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ดูแลครูอาจารย์เสมือนคนในครอบครัว ดูแลนักเรียนเหมือนลูกหลานของเรา จะไม่ดูแลเหมือนลูกคนใช้ จึงต้องให้โอกาสและความเท่าเทียมกัน ส่วนครูเป็นเรือจ้าง ที่จะช่วยผลักดันให้นักเรียนเรียนเก่งขึ้น ฉลาดขึ้น แต่ในขณะเดียวกันผู้ที่แจวเรือ ก็ไม่ควรจะต้องมีหนี้สินจากระบบที่ไม่เป็นธรรม จากการเสียเงินทองวิ่งเต้นโยกย้าย เลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง
ศธ.ได้เน้นการขยายโอกาสทางการศึกษา ๔ ด้าน คือ
๑) โอกาสเข้าถึงทรัพยากร สิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม เนื่องจากความเป็นเลิศมักจะกระจุกตัวอยู่ในเมือง แต่นักเรียนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในชนบท มีฐานะยากจน จึงได้จัดทำโครงการต่างๆ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริม เช่น โครงการ One Tablet PC per Child โดยจะจัดหาคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ในภาคเรียนแรก ปีการศึกษา ๒๕๕๕ และมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ในภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๕ ซึ่งขณะนี้ได้อยู่ระหว่างการทำสัญญาจัดซื้อ และนำหลักสูตรมาใส่ในคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต
๒) โอกาสเข้าถึงแหล่งทุน เพื่อที่นักเรียนและผู้ปกครองจะได้คลายความกังวลในเรื่องทุนการศึกษา ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมจัดทำโครงการต่างๆ เช่น โครงการเงินทุนการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) โดยเปลี่ยนจากคำว่าเงินกู้ยืม เป็นทุนการศึกษา นอกจากนี้ ยังมีทุนการศึกษานักเรียนไทยไปเรียนต่างประเทศ ตามโครงการ ๑ อำเภอ ๑ ทุน และกองทุนตั้งตัวได้ เป็นต้น
๓) โอกาสในการเพิ่มพูนและฝึกฝนทักษะ นักเรียนทุกคนสามารถเติบโตได้ในโลกที่เป็นจริง การเรียนรู้บนการทำกิจกรรม (Activity-Based Learning) ซึ่งรัฐบาลเตรียมจัดทำโครงการต่างๆ เช่น โครงการอัจฉริยะสร้างได้ เพื่อให้นักเรียนได้ค้นหาความถนัดของตนเองในทุกๆ สาขา
๔) โอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยจะส่งเสริมการศึกษานอกระบบ โดยใช้ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี่ ศูนย์วัฒนธรรมต่างๆ เช่น ดำเนินการตามโครงการอินเทอร์เน็ตตำบล และหมู่บ้าน ในศูนย์การเรียนรู้ชุมชน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนค้นหาความถนัดของตนเอง เรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา รวมทั้งให้ประชาชนที่ไม่จบ ม.๖ สามารถเทียบประสบการณ์และการเรียนรู้จนจบ ม.๖ ได้ภายใน ๘ เดือน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.moe.go.th/