"บุหรี่"เพชฌฆาตในม่านควัน

"บุหรี่"เพชฌฆาตในม่านควัน

"บุหรี่"เพชฌฆาตในม่านควัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

48,244 คน/ปี นั่นคือตัวเลขของคนไทยที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียว บ่งบอกได้ว่าการสูบบุหรี่ของคนไทยยังคงมีมาก ถึงแม้จะมีแนวโน้มที่ลดลง แต่กลับไปเพิ่มในจำนวนของเยาวชน และนักสูบหน้าใหม่ก็มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งนั้นถือเป็นเป้าหมายสำคัญของธุรกิจบุหรี่ ยิ่งไปกว่านั้นปัจจุบันธุรกิจบุหรี่ได้มีกลยุทธ์ใหม่ที่ผุดกิจกรรมสร้างสรรค์สังคมมากขึ้น มองผิวเผินแล้วดูดี แต่ภายในแฝงไปด้วยการชักจูงเข้าสู่วงการนักสูบ ซึ่งมีผลกำไรมหาศาลภายใต้สินค้าที่เป็นมัจจุราชร้ายคอยทำลายชีวิตคน

ดร.มอรีน อี. เบอร์มิ่งแฮม ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทยกล่าวว่า ใน 1 ปี เฉลี่ยมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ถึง 6 ล้านคน และที่น่าตกใจคือ 10 % ในจำนวนนี้เสียชีวิตทั้งที่ไม่ได้สูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่มือสองแต่ก็ยังดีที่หลายประเทศได้ยอมรับและลงนามในการร่วมมือกัน ลดการเสียชิวิตจากโรคไม่ติดต่ออย่างบุหรี่ ถึง 174 รัฐทั่วโลก หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย

"เป็นที่รู้ดีว่า รัฐบาลต่างทำงานเพื่อรับใช้ประชาชน แต่บริษัทบุหรี่ ทำทุกอย่างเพื่อกำไร คนที่ได้รับรับผลกระทบก็คือประชาชน ซึ่งมันสวนทางกัน กระทรวงสาธารณสุขต้องการให้คนไม่สูบบุหรี่ รวมถึงทำทุกวิธีเพื่อให้คนติดบุหรี่น้อยลง แต่บริษัทบุหรี่ต้องการให้คนติดในจำนวนมาก จึงทำการต่อต้านกฏหมายทุกอย่าง ต่อต้านการให้คนมีสิทธิในการที่จะสูดอากาศบริสุทธิ์ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่เป็นเป้าหมายสำคัญ" ดร.มอรีนกล่าว

ดร.มอรีนกล่าว ต่อว่ากำไรมหาศาลต่อปีที่บริษัทบุหรี่ได้รับ ทำให้เขามีกำลังที่จะดำเนินการขายต่อไป ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่สำคัญที่องค์การอนามัยโลกและรัฐบาลที่จะเป็นฝ่ายเดินหน้าบอกข้อมูล ข่าวสารให้ประชาชนรับรู้ถึงพิษภัยของบุหรี่ และอยากให้ทุกฝ่ายไม่ว่าจะภาคสังคม เอกชน สื่อมวลชน ช่วยกันผักดันให้บุหรี่ห่างไกลเรามากขึ้น

"ซึ่งประเด็นในการรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลกประจำปีนี้คือ "จับตาเฝ้าระวัง ยับยั้งอุตสาหกรรมยาสูบ" เพราะ ปัจจุบันธุรกิจยาสูบใช้กลยุทธ์การทำกิจกรรมภายใต้นโยบายที่เรียกว่า "ความรับผิดชอบต่อสังคม" เพื่อสร้างภาพให้แก่ธุรกิจ ให้สังคมเข้าใจว่าบุหรี่เป็นสินค้าธรรมดา ลดทอนกระแสการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ ตามมาตรา 13ของอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก จึงแนะนำให้ประเทศภาคีสมาชิกออกกฎหมายห้ามธุรกิจยาสูบทำกิจกรรมภายใต้นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม เนื่องจากเป็นการโฆษณาทางอ้อมรูปแบบหนึ่ง ในขณะที่มาตรา 5.3 ของอนุสัญญาฯ ระบุว่าการทำกิจกรรมภายใต้นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจยาสูบมีวัตถุประสงค์สุดท้ายอยู่ที่การแทรกแซง ขัดขวางนโยบายควบคุมยาสูบของภาครัฐ จึงห้ามเจ้าหน้าที่รัฐร่วมกิจกรรมหรือรับการบริจาคใดๆ จากธุรกิจยาสูบ และให้ทุกคนในสังคมไทย ช่วยกันต่อต้านการแทรกแซงนโยบายการควบคุมยาสูบและเฝ้าระวังการกระทำผิดกฎหมายของธุรกิจยาสูบ เพื่อเป็นการคุ้มครองสุขภาพของตนเองและประชาชนทุกคน" ดร.มอรีนกล่าว

ดร.มอรีนกล่าวต่อว่าสิ่งแรกที่สังคมไทยต้องทำคือ สร้างความตระหนักในเรื่องของบุหรี่ โดยใช้วิธีที่รุนแรง เข้าถึงง่ายและดุดัน และมันจะนำมาสู่ผลเชิงบวกเมื่อประสบผลสำเร็จ และที่สำคัญของให้ทุกคนเริ่มที่ตัวเราเองก่อน ต่อต้านธุรกิจบุหรี่ในทุกรูปแบบ แม้แต่ของรัฐบาลเองก็ให้ต่อต้านเหมือนที่หน่วยงานอื่นๆ ทำ เราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมการป้องกันบุหรี่ได้

"เราต้องยอมรับว่าศึกครั้งนี้มันใหญ่หลวงนัก เพราะเราต้องสู้กับคนที่จะฆ่าสังคม ในวันที่ 31 พ.ค. ที่ถือเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก เรามาเริ่มต้นช่วยกันรณรงค์ใหคนไทยรู้ถึงภัยร้ายและช่วยกันต่อต้านบุหรี่ในทุกรูปแบบต่อไป" ดร.มอรีนกล่าว

ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่า โรงงานยาสูบ เป็นบริษัทบุหรี่ที่ทำ CSR มากที่สุดในบรรดาบริษัทบุหรี่ทั้งหมด ซึ่งกระทรวงการคลังต้องเป็นผู้สั่งการให้ปรับเปลี่ยนแก้ไข ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันจะมีกฎหมายห้ามโฆษณาในสื่อต่างๆ แต่กฎหมายยังมีช่องว่างเรื่องการทำกิจกรรมเพื่อสังคม ทำให้บริษัทใช้โอกาสนี้ทำกิจกรรม เช่น ให้ทุน ซื้ออุปกรณ์ต่างๆ แจกโรงเรียน เพื่อลดทอนกระแสรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ผูกมิตรกับเยาวชน ก็เท่ากับเป็นการซื้อความเงียบ ไม่ให้มีใครพูดเรื่องโทษพิษภัย ซึ่งเยาวชนถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของบริษัทบุหรี่ จะมีความพยายามในการเจาะกลุ่มนี้มากที่สุด

"ปัจจุบันหลายประเทศที่ดำเนินนโยบายเพื่อควบคุมการสูบบุหรี่อย่างจริงจัง เช่น ใช้มาตรการภาษี ให้การศึกษา และเพิ่มพื้นที่ปลอดบุหรี่ ทำให้อัตราการสูบบุหรี่ลดต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด เช่น ฮ่องกง แคนาดา ไอซ์แลนด์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มีอัตราการสูบบุหรี่เพียงร้อยละ 15-25 เท่านั้น ขณะที่ไทย อัตราการสูบบุหรี่แทบไม่ลดลงและอยู่ที่ เกือบร้อยละ 50 มานานหลายปี และยังมีอัตราผู้ที่คิดอยากจะเลิกบุหรี่ลดลงจากร้อยละ 50 ของผู้สูบเหลือเพียงร้อยละ 30 ทำให้จำเป็นต้องเร่งนโยบายอย่างจริงจัง"หมอประกิตกล่าว

"ของที่ได้มาฟรีๆ" คงไม่เกิดขึ้นกับบริษัทที่มุ่งเน้นผลกำไรทางการตลาด โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบอย่างบริษัทบุหรี่ รู้อย่างนี้แล้ว เราทุกคนควรมาร่วมมือกัน หยุด....การสนับสนุน เข้าข้าง ส่งเสริมธุรกิจบุหรี่ในทุกรูปแบบ และให้ประกาศไปดังๆ พร้อมกันว่า "เราไม่เอาบุหรี่"

เรื่องโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่ Team content www.thaihealth.or.th

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook