ถอดรหัสวัฒนธรรมฝรั่ง : เทศกาลอีสเตอร์ (Easter)

ถอดรหัสวัฒนธรรมฝรั่ง : เทศกาลอีสเตอร์ (Easter)

ถอดรหัสวัฒนธรรมฝรั่ง : เทศกาลอีสเตอร์ (Easter)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ขณะที่เขียนต้นฉบับนี้เป็นช่วงของเทศกาล อีสเตอร์พอดีค่ะ ก็เลยคิดว่าหยิบเรื่องนี้มาเล่ากัน ดีกว่า แม้ว่ามันจะล่าช้าไปสำหรับ ณ วันที่ตีพิมพ์ แต่ แฟนๆ ถอดรหัสวัฒนธรรมคงไม่ว่าอะไรหรอกจริงไหม เพราะเทศกาลนี้เป็นหนึ่งในเทศกาลยอดฮิตที่น่าสนใจ อยู่ไม่น้อยเลยค่ะ

เทศกาลอีสเตอร์ (Easter) คือหนึ่งในเทศกาลทางศาสนาของชาวคริสต์ที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการกลับฟื้นคืนชีพของพระเยซูหลังสิ้นพระชนม์ด้วยการถูกตรึงไม้กางเขน เป็นเทศกาลที่ฝรั่งทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ชื่นชอบมากรองจากเทศกาลคริสต์มาส เพราะนอกจากจะมีวันหยุดพักผ่อนยาว และช่วงเวลาประจวบ เหมาะกับการเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิอันอบอุ่นแล้ว เด็กๆ ยังได้อิ่มอร่อยกับขนมหวาน รวมทั้ง สนุกสนานกับการเล่นเกมและกิจกรรมกลางแจ้ง
หลายคนคงทราบแล้วว่าสัญลักษณ์สำหรับเทศกาลอีสเตอร์ ที่ใช้กันในวัฒนธรรมตะวันตกคือ กระต่าย (Easter bunny) และ ไข่ (Easter egg) จนกลายมาเป็นสัญลักษณ์ที่นิยมใช้ในเชิง การค้าไปด้วย แต่ในพระคัมภีร์ไบเบิลเองไม่ได้มีการกล่าว ถึงกระต่ายน้อยหูยาวหางปุยสักนิดว่าพวกมันมาเกี่ยวข้องกับ การฟื้นคืนชีพของพระเยซูได้อย่างไร และกระต่ายก็ออกไข่ไม่ ได้ด้วย ชักสงสัยแล้วล่ะว่าทั้งสามสิ่งนี้มาเกี่ยวพันกันได้อย่างไร ตามไป ถอดรหัสพร้อมกันดีกว่าค่ะ
ความจริงที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อนคือต้นกำเนิดของเทศกาล อี สเตอร์ ไม่ ได้ เกี่ ยวข้ องกั บศาสนาคริ สต์ และพระเยซู เลย แต่ เป็ นการเฉลิมฉลองให้ กับเทพเจ้ าในต ำนาน โดยชาวยุโรปเหนือในสมัยโบราณที่ยังนับถื อศาสนาพื้นบ้ านและ บูชาเทพเจ้าหลายองค์ หนึ่งในนั้นคือเทพีออสตรา(Eostra) เทพีแห่งฤดูใบไม้ผลิและ ความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งแน่นอนว่าต้องเฉลิมฉลองกันในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิด้วย และ ต่อมาชื่อของเทพีออสตราก็เป็นแรงบันดาลให้ชาวยุโรปเหนือนำไปตั้งเป็นชื่อเดือน "Eostur-monath" ตามปฏิทินระบบเยอรมนิค (ระบบปฏิทินดั้งเดิมที่ใช้กันในศตวรรษที่ 7) ซึ่งเทียบเท่ากับเดือน เมษายนในระบบปฏิทินปัจจุบัน และเป็นเดือนที่ย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิของยุโรปพอดี งานเฉลิมฉลองนี้ถูก เรียกว่าเทศกาลอีสเตอร์ "Eastre Festival" และมีการใช้กระต่ายป่าเป็นสัญลักษณ์ด้วยค่ะ เนื่องจากกระต่าย ป่าเป็นสัตว์ประจำตัวของเทพีออสตราและตามตำนานเทพเจ้าโบราณก็เชื่อว่าเธอสามารถแปลงกายเป็น กระต่ายป่าได้ด้วย นอกจากนี้กระต่ายป่ายังหมายถึงความอุดมสมบูรณ์และการเจริญพันธุ์ ก็ด้วยเหตุผล ว่าเจ้าหูยาวออกลูกออกหลานถี่และดกเหลือเกินนี่แหละ

การที่งานเฉลิมฉลองแบบพื้นบ้านกลายมาเป็นเทศกาลทางศาสนาของชาวคริสต์ได้ก็เนื่องด้วยวิสัยทัศน์และความอุตสาหะของมิชชันนารีกลุ่มหนึ่ง ที่เข้าไปเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในท้องถิ่นนั้นแล้วเกิดปิ๊งไอเดียเข้า เนื่องจากชาวบ้านท้องถิ่นมีความเชื่อและประเพณีดั้งเดิมของตนเองอยู่ การที่เหล่ามิชชันนารีจะเข้าไปจัดพิธีกรรมทางศาสนาคริสต์ ก็ย่อมจะทำให้เกิดอันตรายทั้งกับเหล่ามิชชันนารีเองและชาวพื้นเมืองที่เพิ่งเปลี่ยนศาสนามา ประกอบกับการเฉลิมฉลองนั้นถูกจัดขึ้นหลายวัน และช่วงเวลาก็ไล่เลี่ยกับช่วงที่ชาวคริสต์เชื่อว่าพระเยซูได้กลับฟื้นคืนพระชนม์ชีพด้วย เหล่ามิชชันนารีจึงฉลองแบบประเพณีท้องถิ่นและแทรกซึมการฉลองแบบคริสต์เอาไว้ในการฉลองนั้นด้วย

 

กลยุทธ์โอบล้อมและแทรกซึมข้าศึกนี้เป็นโปรเจ็กต์ระยะยาวค่ะ งานเฉลิมฉลองในรูปแบบนี้มี วิวัฒนาการปรับเปลี่ยนมาเรื่อยๆ และแพร่ขยายออกไปในวงกว้าง ปัจจุบันเทศกาลอีสเตอร์ที่เรารู้จัก (บางคนแอบฉลองกับเขาด้วย) จึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของเทศกาลในศาสนาคริสต์อย่างเต็มตัว และถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็นเทศกาลอีสเตอร์ (Easter Festival) ที่สะกดต่างไปจากเดิมด้วย

แล้วกระต่ายป่ากับไข่มาเกี่ยวอะไรด้วย ถึงตอนนี้หลายคนคงเดาคำตอบเรื่องกระต่ายป่าได้แล้วนั่นเพราะกระต่ายป่าเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของเทศกาลเฉลิมฉลองเพื่อเทพีออสตรา ไม่ว่าเทศกาลนี้จะถูกเปลี่ยนมือมาเป็นของชาวคริสต์แล้วสักกี่ร้อยปี สัญลักษณ์นี้ก็ยังคงถูกใช้เหมือนเดิม แต่เปลี่ยนจากกระต่ายป่ามาเป็นกระต่ายบ้านแทนเพราะรูปร่างหน้าตาคล้ายกันแต่อย่างหลังหาง่ายกว่าและใครๆ ก็รู้จัก

ส่วนเรื่องไข่นั้นไม่เกี่ยวกับกระต่ายค่ะ บางตำนานบอกว่าไข่ถูกนำมาใช้ในเทศกาลนานแสนนานก่อนสมัยที่พระเยซูจะถือกำเนิดขึ้นซะอีก นานจนไม่แน่ใจว่าความเชื่อนี้มาจากไหน แต่บางตำนานที่ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาคริสต์นั้น เขาว่ากันว่าเกี่ยวข้องกับเทศกาลมหาพรตหรือเทศกาลเข้าสู่ธรรม (Lent) เทศกาลมหาพรตของชาวคริสต์จะเริ่มขึ้น 40 วัน ก่อนหน้าวันที่พระเยซูกลับฟื้นคืนพระชมน์ชีพการดำเนินชีวิตของชาวคริสต์ตลอดระยะเวลา 40 วันนี้จะคล้ายการเข้าสู่ช่วงถือศีลกินเจบ้านเรา คือใช้ชีวิตอย่างช้าๆ เพิ่มความระมัดระวังทั้งกาย วาจาและใจ บำเพ็ญธรรม หมั่นสวดมนต์ บริจาคสิ่งของให้คนยากจน และอดอาหาร หรืออย่างน้อยก็อดอาหารที่ฟุ่มเฟือยทั้งหลาย เพื่อฝึกให้รู้จักการยับยั้งช่างใจและคิดถึงผู้อื่น และไข่ก็เป็นหนึ่งในอาหารต้องห้ามของเทศกาลมหาพรตด้วย แต่ในสมัยก่อนที่ชาวบ้านยังนิยมเลี้ยงไก่หรือมีฟาร์มไก่อยู่ แม่ไก่ยังคงต้องออกไข่สม่ำเสมอทุกวันไม่ว่าจะเทศกาลไหน สมาคมแม่บ้านยุคนั้นจึงต้องหาวิธีจัดการกับไข่เพื่อไม่ให้เน่าเสียไปเปล่าๆ เมื่อเทศกาลมหาพรตจบลง ก็เป็นการเฉลิมฉลองการกลับมาของพระเยซูหรือเทศกาลอีสเตอร์พอดี บนโต๊ะอาหารของวันนี้จึงเต็มไปด้วยเมนูนานาชนิดจากไข่ นอกจากนั้นเขายังเอาเปลือกไข่มาระบายสีสันให้ดูสวยงาม เพื่อจัดตกแต่งสถานที่หรือห้อยตามต้นไม้เพื่อสร้างบรรยากาศให้เทศกาลซะเลย แต่บางตำนานบอกว่าแมรี่ แม็กดาเลน (Mary Magdalene) ได้นำไข่ต้มสุกไปแบ่งกับเพื่อนที่หลุมศพพระเยซู จู่ๆ ไข่ในตะกร้าก็เปลี่ยนเป็นสีแดงสดเมื่อเธอพบว่าพระเยซูกลับฟื้นคืนพระชนม์ชีพ ไข่ไก่จึงถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของการถือกำเนิดใหม่ และการที่ลูกไก่ฟักออกมาจากเปลือกไข่ ก็เหมือนการที่พระเยซูกลับฟื้นขึ้นมาจากหลุมศพ (ถ้ำ) แหม...ช่างคิดโยงเข้าหากันได้เหมาะเจาะทีเดียว และไม่ต้องสงสัยเลยว่าตำนานนี้ทำให้ไข่กลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของเทศกาลอีสเตอร์อย่างเต็มตัวตามมุมมองของชาวคริสต์

วันอีสเตอร์ต้องเป็นวันอาทิตย์เสมอ แต่จะเปลี่ยนวันที่ไปเรื่อยๆ ทุกปี เนื่องจากเรานับจากวันแรกของฤดูใบไม้ผลิ (โดยปกติคือ 21 มีนาคมของทุกปี) เป็นหลักค่ะ หลังจากวันพระจันทร์เต็มดวงครั้งแรกของฤดูใบไม้ผลิไปแล้ว ชาวคริสต์จะเรียกวันศุกร์ถัดมาว่าวันศุกร์ประเสริฐหรือศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ (Easter Friday) ซึ่งเป็นวันที่พระเยซูถูกตรึงกางเขนและเสียชีวิต 3 วัน หลังจากนั้นคือวันอาทิตย์ ซึ่งก็คือวันอีสเตอร์ (Easter Sunday)

เทศกาลอีสเตอร์ในปัจจุบันถูกมองว่าเป็นเทศกาลสำหรับครอบครัวมากกว่าเทศกาลทางศาสนาเพราะนอกจากโรงเรียนจะมีวันหยุดยาวแล้ว เด็กๆ ยังได้อิ่มอร่อยกับขนมหวานนานาชนิด และสนุกกับกิจกรรมบันเทิงสำหรับครอบครัว เด็กๆ ในอเมริกาเชื่อว่าคืนก่อนวันอีสเตอร์กระต่ายน้อยหางปุยจะแอบเอาไข่สีสวยๆ มาให้เด็กๆ ที่ประพฤติตัวดี (คล้ายๆ ซานตาคลอสในร่างกระต่ายนั่นล่ะ) สมัยก่อนเด็กๆ จะวางหมวกของตัวเองไว้ในสวนหลังบ้านเพื่อรอของขวัญจากกระต่าย บางทีก็วางแครอทไว้ข้างๆ ด้วยเผื่อกระต่ายจะหิวระหว่างปฏิบัติหน้าที่ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้ตะกร้าแทนแล้วค่ะ เพราะหาง่ายกว่า และจากไข่จริงๆ ก็กลายมาเป็นช็อกโกแลตรูปไข่ ต่อมาก็เริ่มต่อยอดไอเดียเป็นขนมหวานอื่นๆ เช่น มาร์ชเมลโล เจลลีบีน เพรสเซล ขนมปัง และลูกอมหลากสี งานนี้ถูกใจเจ้าของธุรกิจขนมหวานสุดๆ ค่ะ แข่งกันผลิตขนมหวานนานาชนิดให้เป็นรูปกระต่าย ไข่ และลูกไก่ เพื่อเอาใจและล่อใจผู้บริโภค จนสมาคมผู้ผลิตขนมหวานแห่งชาติ (National Confectioners Association) ทำวิจัยออกมาแล้วพบว่า เทศกาลอีสเตอร์คือเทศกาลทานขนมประจำปีของอเมริกานี่เอง และจากสถิติของปี ค.ศ. 2011 ที่ผ่านมา เฉพาะช่วงเทศกาลนี้ชาวอเมริกันก็บริโภคขนมกันไปถึง 7,000 ล้านปอนด์ทีเดียว เห็นตัวเลขสูงแบบนี้ผู้ปกครองคงใจหายไม่น้อย ดังนั้นปัจจุบันนี้บางครอบครัวเริ่มเปลี่ยนจากตะกร้าใส่ขนมหวานมาเป็นตะกร้าใส่ของเล่นให้เด็กๆ แทนบ้างแล้วเหมือนกัน เช่น สมุดภาพ ดินสอสี หนังสือ ของเล่นเพื่อไม่ให้เด็กๆ ฟันผุกับความหวานเกินพิกัดไปซะก่อน

สำหรับกิจกรรมวันอีสเตอร์ของเด็กๆ ก็มีมากมาย เช่น การแข่งกันหิ้วตะกร้าออกไปหาไข่ที่ผู้ใหญ่เอาไปซ่อนไว้ในสวน (egg hunt) การเล่นเกมกลิ้งไข่ลงเนินเขาหรือบนสนามหญ้าด้วยช้อนที่ทำจากไม้ (egg rolling) การเล่นเกมตีไข่โดยใช้ไข่ต้ม หากเปลือกไข่ของใครแตกก่อนจะเป็นผู้แพ้ (egg fight) รวมถึงกิจกรรมการระบายสีตกแต่งเปลือกไข่ให้สวยงาม และอื่นๆ อีกมากมาย งานนี้จึงสนุกและอิ่มอร่อยได้ทั้งครอบครัวค่ะ

ถึงเทศกาลอีสเตอร์จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับชาวพุทธเราสักเท่าไหร่ แต่ถ้าจะนำไอเดียกิจกรรมดีๆ สำหรับครอบครัวแบบเขามาประยุกต์ใช้บ้างก็น่าสนใจไม่น้อยนะคะ การฉลองวันหยุดคราวหน้าของเราอาจได้ทั้งความคิดสร้างสรรค์ สนุก ประหยัด และได้ประโยชน์ (จากโปรตีน) ครบเลยก็ได้

คอลัมน์ ถอดรหัสวัฒนธรรมฝรั่ง
ผู้เขียน อารดา กันทะหงษ์ (I Get English Magazine)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook