ดนตรีบลูส์... ดนตรีแห่งอิสรภาพ

ดนตรีบลูส์... ดนตรีแห่งอิสรภาพ

ดนตรีบลูส์... ดนตรีแห่งอิสรภาพ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ดนตรีบลูส์ (blues music) เป็นหนึ่งในประเภทดนตรีสไตล์นุ่มลุ่มลึกที่มี ต้นกำเนิดจากอเมริกาใช้เสียงเครื่องดนตรีที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว ดนตรีบลูส์ดั้งเดิมจะมีท่วงทำนองเศร้าสร้อย โหยหวน กระชากอารมณ์ผู้ฟัง ใครที่กำลังเหงาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ฟังแล้วจะยิ่งเหงาเพิ่มสุดจิตสุดใจ เหงาจนเลิกไม่ได้เลยทีเดียว ทำไมฟังดนตรีบลูส์แล้วถึงต้องเหงาเศร้าความเศร้านั้นสื่อถึงอะไร แต่งขึ้นมาโดยใคร และเพื่อใคร เป็นคำถามที่คอดนตรีทั้งหลายคงอยากรู้ และเราก็มีความลับเบื้องลึกที่น่าสนใจมาเล่าให้ฟังในฉบับนี้ ตามไปถอดรหัสพร้อมกันค่ะ

คำว่า"blue" ในภาษาอังกฤษหมายถึงความรันทดเศร้าโศก ดังนั้นชื่อดนตรีบลูส์จึงบอกใบ้ให้เราทราบกลายๆ แล้วว่าต้องเกี่ยวข้องกับความเศร้าโศกแน่ แต่ไม่ใช่เพราะผู้แต่งจงใจยัดเยียดอารมณ์เศร้าให้ผู้ฟัง หากเป็นเพราะดนตรีประเภทนี้ถูกถ่ายทอดจากอารมณ์โศก คับข้อง และน้อยเนื้อต่ำใจ ซึ่งกลั่นออกมาจากความรู้สึกจริงๆ ของชาวผิวดำในประเทศอเมริกาเนื่องจากปัญหาการถูกกดขี่ เหยียดสีผิว และลิดรอนสิทธิความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นบาดแผลฝังลึกในใจชาวผิวดำจากระบบทาสที่มีมานาน

ช่วงระยะเวลาหลายร้อยปีที่ผ่านมานั้น ทาสผิวดำส่วนใหญ่ถูกนำตัวมาจากฝั่งตะวันตกกลางและ ฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกาถูกบังคับใช้แรงงาน ในภาคเกษตรกรรมทางตอนใต้ของอเมริกาเป็นหลัก เช่น ในไร่ฝ้าย ไร่กาแฟ ไร่อ้อย ไร่ยาสูบ ตัวอย่างรัฐ ที่มีทาสผิวดำมากที่สุดคือรัฐนิวออร์ลีน รัฐหลุยเซียนา รัฐเวอร์จิเนีย ระบบทาสทำให้ชาวผิวดำถูกกดขี่และลงโทษอย่างโหดร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจและยังถูกจำกัดเสรีภาพในทุกด้าน เช่น ไม่มีสิทธิ์เรียนหนังสือหรือแม้แต่ฝึกอ่านเขียน เมื่อเจ็บป่วยก็ไม่มีสิทธิ์เข้ารับการรักษาโรค ต้องหันพึ่งไสยศาสตร์หรือภูมิปัญญาชาวบ้าน (แอฟริกา) กันเอง ไม่มีสิทธิ์รวมกลุ่มประกอบพิธีศาสนาเป็นต้น ชาวผิวดำไม่ใช่เพียงประชากรชั้นสอง แต่เป็นชั้นต่ำที่สุดของอเมริกา ลองนึกภาพดูสิคะว่าชาวผิวดำเวลานั้นจะกลายเป็นชนชั้นที่เก็บกดขนาดไหน

ระหว่างช่วงปี ค.ศ. 1861-1865 สงครามกลางเมืองหรือ "Civil War" ระหว่างอเมริกาเหนือกับ อเมริกาใต้ได้ปะทุขึ้นด้วยฉนวนที่ถูกจุดวางล่วงหน้าเป็นระยะมาหลายปีแล้ว สาเหตุที่แท้จริงของการปะทะกันยังเป็นที่คลุมเครือ แต่โดยรวมเชื่อว่ามาจากปัญหาที่อเมริกาเหนือสนับสนุนการเลิกระบบทาส ในขณะที่อเมริกาใต้ไม่เห็นด้วย ในที่สุดเมื่ออเมริกาเหนือเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ สงครามยุติลง กฎหมายการเลิกระบบทาสในอเมริกาก็ถูกประกาศ ใช้อย่างเป็นทางการสำเร็จในปี ค.ศ. 1865 ภายใต้ อุดมการณ์ที่เชื่อมั่นในการเป็นประเทศแห่งเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นปัจเจกชนอย่างสมบูรณ์ และเพื่อสนองนโยบายแห่งชาติและให้สมกับอิสรภาพที่รอคอยมาหลายร้อยปี งานนี้ชาวผิวดำเลยขอ "จัดเต็ม" แม้บางส่วนจะยังทำงานอยู่เหมือนเดิมแต่ได้รับค่าจ้างตามกฎหมาย แต่บางส่วนเริ่มตั้งตัวเป็นเจ้าของธุรกิจ เจ้าของที่ดิน เริ่มสร้างชุมชนและวัฒนธรรมของตัวเอง แน่นอนว่ารวมถึงวัฒนธรรมดนตรีด้วย ชาวผิวดำมีสถานที่สังสรรค์ยามค่ำคืนเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะสำหรับเล่นการพนัน ฟังเพลง หรือเต้นรำ ดนตรีบลูส์จึงถูกมองว่าถือกำเนิดขึ้นในช่วงนี้โดยชาวผิวดำเพื่อชาวผิวดำ ลักษณะเด่นของ ดนตรีบลูส์ในช่วงแรกคือ สไตล์การร้องที่ได้แรงบันดาลใจจากประสบการณ์ความขมขื่น ความรวดร้าว ความเศร้าโศกจากเมื่อครั้งที่ยังเป็นทาส กลั่นสะท้อนออกมาจากก้นบึ้งหัวใจ

หลายคนอาจสงสัยว่าในเมื่ออิสรภาพก็ได้มาแล้ว คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้นแล้ว ทำไมไม่แต่งเพลงปลุกใจที่มันสร้างความฮึกเหิมห้าวหาญบ้างอะไรบ้าง พี่จะมาจมดิ่งกับความเศร้าไปไยไม่รู้จบ นั่นเป็นเพราะจริงๆ แล้วความเศร้ามันไม่จบบริบูรณ์อย่างที่กฎหมายรับประกันไว้ แม้ระบบทาสจะถูกยกเลิก อเมริกาก็ยังสร้างระบบกีดกันแบ่งแยกสีผิวขึ้นมาเป็นตัวตายตัวแทน แม้เมื่อมองเผินๆ ชาวผิวดำจะมีสิทธิทางสังคมและเศรษฐกิจเกือบทุกด้าน แต่ชาวผิวขาวในอเมริกายังคงแบ่งชนชั้นโดยแยกตนเองออกจากชาวผิวดำอย่างชัดเจน สถานที่สาธารณะอย่างเช่นโรงภาพยนตร์ โบสถ์ ร้านอาหาร ห้องสุขาก็ต้องแยกประตูทางเข้าสำหรับคนผิวขาวกับผิวดำ (ซึ่งเขาเปลี่ยนมาใช้คำว่าผิวสีหรือ "coloured" แทน) บริการบางอย่างที่ชาวผิวดำควรมีสิทธิ์ได้ก็กลับถูกปฏิเสธ เช่น การขอกู้ยืมเงินจากธนาคาร การเข้ารับการรักษาทางการแพทย์ การลงคะแนนเลือกตั้ง การจ้างงานบางประเภท แถมยังตกเป็นแพะรับบาปของสังคม ยังถูกเลือกปฏิบัติและเอาเปรียบจากชาว ผิวขาว ไม่ต่างจากครั้งยังเป็นทาส ทั้งที่ถูกกระทำอย่างโจ่งแจ้งและแบบเนียนๆ ไม่ว่าอย่างไรชาวผิวดำก็ยังไม่ได้รับการยอมรับในสังคมอเมริกาอยู่ดี เหล่านี้เองที่สร้างความโศกรันทดและขมขื่นแบบนอนสต็อป หรือ "เจ็บไม่รู้จบ" ให้คอดนตรีบลูส์เอามากลั่นเป็นบทเพลงได้อีกหลายสิบปีทีเดียว

ดนตรีบลูส์ของชาวผิวดำถูกมองว่ามีลักษณะใกล้เคียงกับดนตรีคันทรี่ของชาวผิวขาว แต่จุดเด่นของดนตรีบลูส์คือการเน้นความเป็นปัจเจกชน พยายามฉีกตัวออกจากภาพลักษณ์เดิมที่เคยถูกเหมารวม (และตราหน้า) จากคนผิวขาวว่าเป็นพวกแรงงาน ทาส เนื้อเพลงจะคล้ายกับบันทึกชีวิตประจำวันสื่อถึงความคิด กิจกรรมทั่วไป แต่หากเพลงพูดถึงความรักก็จะหมายถึงเรื่องเซ็กซ์เท่านั้น ไม่ใช่ความโรแมนติกอย่างเพลงของชาวผิวขาว และหากเพลงพูดถึงความตายก็จะหมายถึงความโดดเดี่ยวสิ้นหวัง ไม่ใช่การส่งผ่านไปสู่ชีวิตนิรันดร ในขณะที่ดนตรีคันทรี่มักเล่าถึงการเดินทางอันยิ่งใหญ่ของชีวิตจากดินสู่ดาว แต่เรื่องราวของดนตรีบลูส์ก็ยังเป็นการเดินทางจากดินที่กลับสู่ดิน บ่อยครั้งที่เนื้อหาวนเวียนอยู่กับปัญหารุนแรงและความโหดเหี้ยมและมักหวนกลับไปจบที่คุกผับบาร์ ความรันทด และความตาย แล้วแบบนี้จะไม่ให้ชวนกันเศร้าทั้งคนร้องคนฟังได้ยังไง เดิมทีดนตรีบลูส์ถูกเขียนขึ้นโดยชาวผิวดำเพื่อชาวผิวดำด้วยกันเอง และบรรเลงกันเองในผับบาร์ ต่อมาเริ่มขยายวงออกไปสู่กลุ่มชาวผิวขาว แต่ก่อนจะโกอินเตอร์ได้ต้องผ่านการสังคายนาขนานใหญ่จากกองเซนเซอร์ เนื้อหาที่ล่อแหลมชวนหวาดเสียวทั้งหลายต้องถูกซ่อนเก็บไว้อย่างแยบยล มีการเปลี่ยนมาใช้คำเปรียบเปรยรำพันไม่ให้ขัดกับจารีตศีลธรรมของสังคมผิวขาว แม้จะเป็นภารกิจเพื่อพิชิตใจผู้ฟังที่หนักเอาการ แต่ในที่สุดซิงเกิลแรกของชาวบลูส์ก็ถูกปล่อยออกมาสำเร็จในปี ค.ศ. 1912 พร้อมรับการจดลิขสิทธิ์อย่างเป็นทางการด้วย นั่นคือเพลง "Dallas Blues" ซึ่งประพันธ์โดยฮาร์ท วานด์ (Hart Wand) เป็นที่น่าเสียดายอยู่บ้างตรงที่การจะขยายฐานแฟน เพลงสไตล์บลูส์ไปยังสังคมผิวขาวได้ต้องอาศัยกลุ่มธุรกิจชาวผิวขาวทั้งหมดในช่วงแรก ไม่ว่าจะเป็นนักประพันธ์ ศิลปิน หรือสตูดิโอเพลง แต่นักดนตรีผิวดำก็ไม่ย่อท้อ แม้ต้องใช้ระยะเวลาหลายทศวรรษเป็นเครื่องพิสูจน์ความสำเร็จของตัวเองก็ตาม

ปัจจุบันคอดนตรีทั้งหลายคงได้เห็นวิวัฒนาการของดนตรีบลูส์อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่รูปแบบดั้งเดิมที่ผสมผสานการร้องตะโกนและขานรับโดยผู้ฟัง (ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากบทเพลงสวดของศาสนาคริสต์และบทเพลงพื้นบ้านของแอฟริกา) จนมาถึงการใช้เครื่องเป่าลมไม้อย่างแซ็กโซโฟน ทรัมเป็ต เพิ่มกลอง กีตาร์ร็อก และผสมกลิ่นอายคันทรี่เข้าไป ตามแต่ว่าศิลปินหน้าใหม่ๆ จะหยิบจับแรงบันดาลใจไหนเติมเข้าไปบ้าง หนึ่งในตำนานเจ้าพ่อดนตรีบลูส์ที่ใครๆ ก็รู้จักคือปีเตอร์ แชทแมน (Peter Chatman) หรืออีกชื่อหนึ่งคือเมมฟิส สลิม (Memphis Slim) นัก ดนตรีผิวดำที่ทั้งประพันธ์ ร้อง และเล่นเปียโนเอง และเพลง "Every Day I have the Blues" ที่เขาประพันธ์ขึ้นในปี ค.ศ. 1947 ก็ถือเป็นมาตรฐาน ดนตรีบลูส์ที่ทั้งเข้มและข้น ค้นและเค้นออกมาได้ถูกจังหวะทุกอารมณ์ จนมีผู้นำไปบันทึกเสียงใหม่หลายเวอร์ชันทีเดียว แม้ดนตรีบลูส์ในยุคหลังๆ มาความรันทดเศร้าโศกจะลดลงจนแทบจะถูกกลืนหาย แต่แฟนดนตรีบลูส์ตัวจริงจะรู้ดีว่าเบื้องหลังเสียงดนตรีที่สนุกสนานเหล่านั้นครั้งหนึ่งคือความทุกข์ทรมานและเสียงร่ำไห้ของทาสผิวดำในอเมริกา

ปัจจุบันกฎหมายต่างๆ ที่กีดกันและเหยียดสีผิวในอเมริกาได้รับการแก้ไขแล้ว และทางรัฐบาลก็ได้ออกมาขอโทษชาวผิวดำเกี่ยวกับตราบาปในอดีตแล้ว แล้วยังร่างนโยบายอีกหลายข้อที่ช่วยส่งเสริมมาตรฐานความเป็นอยู่ของชาวผิวดำในอเมริกาเช่น กำหนดจำนวนโควตานักศึกษาทุนการศึกษาและตำแหน่งงานให้กับชาวผิวดำในแทบทุกวงการ และชาวผิวดำบางส่วนก็พิสูจน์ความสามารถของตัวเองให้โลกเห็นได้สำเร็จแล้ว เช่น บารัค โอบาม่า (Barack Obama) ประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของ อเมริกาหรือโอปราห์ วินฟรีย์ (Oprah Winfrey) ตำแหน่งเจ้าแม่ทอล์กโชว์ผิวสีและเศรษฐีนีพันล้าน

แต่บางส่วนก็ยังสร้างปัญหาสังคมและใช้ชีวิตวนเวียนอยู่กับความโหดร้าย อาชญากรรม และความเสื่อมศีลธรรมเช่นเดิม ตราบาปของอเมริกาและความเศร้าโศกของทาสผิวดำผ่านมาเกือบสองศตวรรษแล้ว ดนตรีบลูส์มีวิวัฒนาการเปลี่ยนไปเหมือนกับชีวิตของชาวผิวดำในอเมริกาที่เปลี่ยนตามเวลา ณ ตอนนี้อเมริกาได้พิสูจน์ให้โลกเห็นระดับหนึ่งแล้วว่าการเปิดใจยอมรับใครสักคนมาจากผลของการกระทำไม่ใช่ดูกันที่สีผิวอีกต่อไป แต่เมื่อได้รับโอกาสแล้วชาวผิวดำจะล้างมลทินให้ตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ด้วยหรือไม่ ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของทั้งคู่จะเป็นไปในทิศทางใด ไม่มีใครสรุปตอนนี้ได้ ก็ต้องรอดูกันต่อไปค่ะ

คอลัมน์ ถอดรหัสวัฒนธรรมฝรั่ง
ผู้เขียน อารดา กันทะหงษ์ (I Get English Magazine)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook