โรคมือเท้าปาก โรคของเด็กที่ผู้ใหญ่ต้องเฝ้าระวัง
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองต้องเฝ้าระวังลูกหลานอย่างใกล้ชิด หลังมีข่าวการระบาดโรคมือเท้าปากในเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี และต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดกันอีกครั้ง เมื่อมีการสั่งปิดโรงเรียนหลังพบเด็กป่วยด้วยโรคนี้ ซึ่งอาจทำให้ผู้ปกครองกังวลใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเจ้าตัวน้อย
โรคมือเท้าปาก
โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสเอนเทอโร ซึ่งมีหลายชนิด พบได้บ่อยทั่วโลก ในกลุ่มเด็กทารก และเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 5 ปี การระบาดมักเกิดขึ้นในศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาล โดยทั่วไปมีอาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยมีไข้ต่ำ ๆ เกิดตุ่มพอง และแผลเล็กๆ ในปาก คอ มีตุ่มที่ มือ เท้า และบริเวณก้น แต่เชื้อไวรัสบางสายพันธุ์ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น อาการทางระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาท สมองอักเสบหรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โรคนี้ติดต่อได้จากการสัมผัสโดยตรงกับน้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ หรือตุ่มพองและแผลของผู้ป่วย รวมทั้งการติดต่อทางน้ำหรืออาหาร
นพ.นพพร ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ทางช่อง 3 ว่า ขณะนี้ในประเทศไทยเกิดโรคมือเท้าปากที่เกิดจากเชื้อในลำไส้ชนิดไม่รุนแรง และยืนยันว่ายังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ โดยจากข้อมูลพบว่ามีอัตราป่วยของโรคเพิ่มขึ้นในภาคเหนือตอนบน เช่น จังหวัดเชียงราย พะเยา เชียงใหม่ ภาคอีสานใต้ เช่นจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ ตะวันออก เช่น จังหวัดชลบุรี ระยอง ตราด ภาคใต้ที่จังหวัดยะลา สตูล สงขลา และพื้นที่ที่มีฝนตกหนัก เพราะเชื้อจะเพาะได้เร็ว ดังนั้นหากพบเด็กที่มีอาการไข้สูงเกิน 3 วัน ซึม อาเจียนต้องรีบนำไปพบแพทย์เพราะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมือเท้าปาก หากปล่อยไว้ในวันรุ่งขึ้นจะทำให้เด็กเกิดอาการชัก และหัวใจหยุดทำงานได้ จึงควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด อย่าประมาท เนื่องจากเชื้อไวรัสนั้นไม่มียารักษา แต่ต้องใช้ภูมิร่างกายตนเองต่อสู้กับเชื้อโรค ดังนั้น พยายามล้างมือบ่อยๆ ดื่มน้ำสะอาด ออกกำลังกาย กินอาหารให้ครบ 5 หมู่
ส่วนโรงเรียนที่มีการปิดเรียนนั้น ขออย่าให้ประชาชนตื่นตระหนก เพราะการที่โรงเรียนปิดถือว่าน่าชมเชยเพราะถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการตัดตอนโรคไม่ให้แพร่เชื้อ อย่างไรก็ตามย้ำว่ามาตรการการปิดเรียน กรณีพบเชื้อคือหากโรงเรียนพบเด็กที่ป่วยโรคมือเท้าปาก 5 ห้องเรียนต่อ 1 โรงเรียนให้ปิดเรียนได้ทันที หากน้อยกว่านั้นก็เลือกปิดเฉพาะห้องเรียนนั้นๆ ไป เพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค
"เชื้อโรคมือเท้าปากนั้นจะอยู่ในลำไส้คน บางคนอยู่ได้ 6 เดือนก็มี เมื่อถ่ายแล้วเด็กไปเข้าห้องน้ำสาธารณะแล้วไม่ล้างมือ ก็ไปเอาเชื้อมา ก็มีอาการและต่อๆ กันไป ผู้ใหญ่รับเชื้อไปได้เหมือนกัน แต่ไม่มีอาการ โดยเป็นพาหะได้ และที่ผ่านมาไม่ใช่ว่าจะไม่พบโรคนี้ แต่พบหนักๆ ตอนโรงเรียนเปิด ความจริงแล้วก็ไม่น่ากลัวเพราะไม่มีผู้เสียชีวิต แต่ก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น และไม่อยากให้ประมาท และน่าสงสารเด็กและผู้ปกครองอย่างมาก เพราะเมื่อเด็กเป็นโรคจะกินอาหารไม่ได้ถึง 7 วันเลย ดังนั้นพ่อแม่ต้องสังเกตอาการของลูก อาจจะซื้อปรอทวัดอุณหภูมิไว้ที่บ้าน เมื่อลูกมีไข้จะได้วัดได้ ถ้าอุณหภูมิถึง 39 ต้องรีบส่งโรงพยาบาลแล้ว"นพ.นพพรกล่าว
สำหรับความแตกต่างของโรคมือเท้าปากกับโรคหวัดนั้น คือผู้เป็นโรคหวัดจะไม่มีผื่นที่มือ ปาก และเท้า โดยเฉพาะที่เท้าจะไม่เกิด และแม้เด็กบางรายไม่แสดงอาการผื่นที่เกิดขึ้นจำนวนมาก ขอให้สังเกตลักษณะอาการ หากพบว่ามีไข้สูง ซึม ถือว่าเสี่ยงอันตรายต่อการเกิดโรค ไม่เฉพาะโรคมือเท้าปากเท่านั้น แต่อาจรวมไปถึงโรคไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนก จึงต้องรีบพบแพทย์
อย่างไรก็ตามเบื้องต้นกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาตรการ ดังนี้
1. เร่งรัดมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค
2. กำชับแพทย์ในสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน ในพื้นที่ให้ระมัดระวัง
3. ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงของโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยที่อาจไม่ได้มาด้วยอาการตุ่มที่ปาก หรือฝ่ามือ ฝ่าเท้า
4. ทำการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องโรคมือ เท้า ปาก แก่ประชาชน เน้นการรักษาสุขอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ หากมีผู้ป่วยสงสัยมือ เท้า ปากที่มีไข้สูง ซึม ชัก หายใจ หอบเหนื่อย ให้รีบพาไปพบแพทย์
5. ให้จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากกว่า 10 รายต่อวัน เปิดศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด (War room) โดยเรียนเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน
6. ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปลัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ในการร่วมเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการระบาดของโรคมือ เท้า ปาก ในศูนย์เด็กเล็ก สถานรับเลี้ยงเด็ก สถานศึกษา และชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเน้นสุขอนามัย และการทำความสะอาดในโรงเรียนอนุบาลและโรงเรียนประถมศึกษาทั่วประเทศ รวมทั้งคำแนะนำผู้เดินทางไป-กลับจากประเทศที่มีการระบาดของโรคนี้ ซึ่งยังสามารถเดินทางได้ตามปกติ แต่ควรปฏิบัติตามสุขอนามัยที่ดี ล้างมือบ่อย ๆ
เรื่องโดย: สุนันทา สุขสุมิตร Team content www.thaihealth.or.th