สสส.ชูโภชนาการสมวัย เด็กอ้วน-เตี้ยลด
สสส.จับมือ สมุทรปราการ โชว์ผลงานสร้างโภชนาสมวัย พบปัญหาเด็กอ้วนเกิน-ผอม-เตี้ย เริ่มลดลง เทศบาลร่วมสนับสนุนอาหารงบสร้างโภชนาการดี เตรียมรวบรวมผลพื้นที่นำร่อง เสนอ ครม.เพิ่มงบอาหารรายหัวจาก 13 บาท เป็น 15-20 บาทต่อคนต่อ
วันเมื่อวันที่ 24 ก.ค. ที่เทศบาลเมืองปู่เจ้าสมิงพราย คณะกรรมการสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วย คณะศึกษาดูงานจากสำนักโภชนาการ กรมอนามัย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สื่อมวลชน เครือข่ายโภชนาการสมวัยจังหวัดเพชรบุรี นนทบุรี และสมุทรปราการ จำนวน 142 คน ลงพื้นที่ดูงานการดำเนินงานโครงการโภชนาการ ในพื้นที่ จ.สมุทปราการ โดยมีนายสุรชัย อังเกิดโชค รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการเป็นประธาน
ทพ.ชลธิชา พุทธวงษ์นันทน์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลเด็กแรกเกิดหลังจากทำโครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย (ปี 2552-2555) โดยสำรวจในเด็กอายุ 0-14 ปี 25 พื้นที่ เทียบปี 2555 กับปี 2554 พบว่า เด็กอายุ 0-5 ปี ที่มีภาวะอ้วนน้ำหนักเกินเกณฑ์ลดลงจาก 20.6% เหลือ 19% เด็กที่มีความสูงต่ำกว่าเกณฑ์ลดลงจาก 17.2% เหลือ 15.8% และเด็กที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์จาก 16.1% ลดลงเหลือ 15.8% ส่วนกลุ่มเด็กอายุ 6-14 ปี มีภาวะอ้วนน้ำหนักเกินเกณฑ์จาก 18.4% ลดลงเหลือ 17.6% เด็กที่มีส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ลดลงจาก 13.4% เหลือ 10.2% และเด็กที่มีภาวะผอมน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์จาก 12.7% ลดลงเหลือ 11.2%
"จังหวัดสมุทรปราการ เป็น 1 ใน 9 จังหวัดนำร่องของประเทศไทยที่ดำเนินงานตามโครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย มีเป้าหมายในการส่งเสริมให้เด็กไทยเจริญเติบโตอย่างมีโภชนาการสมวัย ซึ่งครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่เด็กทารก เด็กปฐมวัย และวัยเรียน ดำเนินงานในพื้นที่นำร่อง 12 เทศบาล 13 อบต. 30 โรงเรียน 28 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 1 สถานรับเลี้ยงเด็ก และ 49 ชุมชน โดยเชื่อว่า การพัฒนางานด้านอาหารและโภชนาการจะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือทั้งครอบครัว ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียน และชุมชน โดยตั้งเป้าหมายว่าจะสร้างเด็กสมุทรปราการ มีโภชนาการสมวัย ไอคิวดีภายใน 5 - 10 ปีข้างหน้า" ทพ.ชลธิชา กล่าว
นายสรรเกียรติ กุลเจริญ นายกเทศมนตรีเมืองปู่เจ้าสมิงพราย กล่าวว่า การพัฒนางานด้านอาหารและโภชนาการเด็กแรกเกิด - 14 ปี ได้ใช้กิจกรรมสำคัญเพื่อสนับสนุนงาน 3 โปรแกรม คือ 1. โปรแกรมพัฒนาอาหารกลางวันให้เด็กมาตรฐานโภชนาการ ซึ่งจะมีการวิเคราะห์คุณค่าทางอาหาร และใช้งบประมาณสนับสนุนจากท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 13 บาทต่อวัน 2. โปรแกรมเฝ้าระวังทางโภชนาการ เพื่อตรวจสอบภาวะโภชนาการเด็กเป็นรายบุคคลเพื่อแก้ไข และ 3. โปรแกรมสำเร็จรูปในการประเมินพฤติกรรมการให้อาหารของพ่อแม่และผู้ให้อาหารเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียน เพื่อวางแผนให้เกิดพัฒนาการสมวัย ทั้งนี้ ในโรงเรียนนำร่อง คือ โรงเรียนวัดสวนส้ม ได้บรรจุชุดเรียนรู้กลางอยู่ในแผนการเรียนการสอนของโรงเรียน 4 เรื่อง ที่ยังมีปัญหา คือ ธงโภชนาการ, ผักผลไม้, ลดหวาน มัน เค็ม และโรคอ้วน
นายสง่า ดามาพงษ์ ผู้จัดการโครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สสส. กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมผลการดำเนินการโครงการทั้ง 9 จังหวัดนำร่อง เพื่อสรุปผล และวิเคราะห์ข้อมูล สำหรับจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อปรับปรุงแนวทางการดำเนินการเรื่องนี้ โดยเเฉพาะการปรับเพิ่มงบประมาณอาหารกลางวันของเด็กนักเรียนจาก 13 บาท/คน/วัน เพิ่มเป็น 15-20 บาท/คน/วัน ซึ่งจะช่วยให้เด็กไทยได้รับอาหารกลางวันที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย และได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนตามหลักโภชนาการด้วย