"อ่าน" สร้างสุข...สร้างรัก "ภาษา"

"อ่าน" สร้างสุข...สร้างรัก "ภาษา"

"อ่าน" สร้างสุข...สร้างรัก "ภาษา"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

"0-6 ขวบ เป็นช่วงเวลาที่สำคัญของชีวิต สมองเปิดรับการเรียนรู้ดีที่สุด หนังสือภาพที่ดีเป็นหนึ่งในสื่ออันทรงประสิทธิภาพที่สุดในการสร้างเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย" สุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านกล่าว

นี่อาจจะเป็นบทสรุปที่ชัดเจนว่า "การอ่าน" นับเป็นเครื่องมือสำคัญต่อการสร้างพัฒนาการของเด็ก โดยเฉพาะเด็กในช่วงระดับปฐมวัย

29 กรกฎาคม ถูกกำหนดให้เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ผ่านมาในหลายยุคหลายสมัย ทำให้เรารับรู้ได้ว่าพัฒนาการทางด้านภาษามีการเปลี่ยนแปลงไปนักต่อนัก โดยเฉพาะการที่มีสื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างโซเชียลมีเดีย สื่อใหม่ๆ ที่ก้าวล้ำด้วยเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่สื่อสิ่งพิมพ์หลายอย่าง เพราะความรวดเร็ว สะดวก ง่ายต่อการเข้าถึง บ้างก็จะกล่าวว่าภาษาไทยเราผิดเพี้ยนไปจากเดิม เพราะสื่อโซเชียลมีเดียเหล่านี้

แต่ในมุมมองนักคิด นักอ่าน และผู้ที่คลุกคลีอยู่ในวงการการอ่าน อย่าง นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกว่า คุณนวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า ภาษาเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่จะทำอย่างไรให้ภาษาที่สวยงามคงอยู่ เราต้องรักษารากเดิมของภาษาให้งดงามมากที่สุด หากฐานแน่นแล้ว ต่อให้มีอะไรมาประยุกต์ใช้อย่างไร ภาษาก็จะมีพลัง นอกจากนี้ จากข้อมูลของแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน พบว่า พัฒนาการทางด้านภาษาของเด็กลดลง 20 จุดน้อยกว่าพัฒนาการด้านอื่นๆ ซึ่งถือเป็นวิกฤติของพัฒนาการทางด้านภาษา จะเห็นว่าการพูดสมัยก่อนกับปัจจุบันก็แตกต่างกัน เรื่องพัฒนาภาษาเขียนก็ย่อมแตกต่างกันไปด้วย อย่างนักเขียนรุ่นใหม่ๆ สำนวนก็จะหวือหวาขึ้น แต่ตัวที่จะตรึงคนได้ คือพลังของภาษาจะต้องเอาเนื้อหาสามารถรับใช้ได้สอดคล้องวัยมากกว่า และสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของภาษาคือการเปลี่ยนความคิด การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของผู้อ่าน จะเป็นพลังที่น่าสนใจมาก จะเห็นว่างานเขียนหลายชิ้นสามารถเปลี่ยนสังคม และเปลี่ยนโลกได้

"ไทยให้ความสำคัญยกให้วันที่ 29 ก.ค.เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ นอกจากจะเป็นความภูมิใจที่เรามีภาษาของเราเอง ทั้งภาษาถิ่นและภาษากลาง อีกส่วนหนึ่งก็คือภาษาควบคู่กับการพัฒนาทางสมอง และพัฒนาการด้านต่างๆ พี่ก็เป็นคนหนึ่งที่ใช้โซเชียลมีเดีย เพราะเราต้องสื่อสารการทำงานผ่านเส้นทางนี้ แต่ภาษาก็จะมีการหวือหวาไปตามช่วงๆ อย่างช่วงนี้ภาษาสก๋อยที่หลายคนกำลังกังวล แต่ส่วนตัวพี่คิดว่าไม่น่าห่วงเพราะเมื่อภาษาเราแข็ง สิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามาก็เป็นแค่ช่วงเวลา และคนที่เสพตรงนั้นก็เป็นเพียงเฉพาะกลุ่มเท่านั้นเอง"

นางสุดใจ ยังเล่าให้ฟังอีกว่า คำในภาษาไทยของเรามีความไพเราะจริงๆ และสามารถปลูกฝังได้ตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ขวบ หรือขณะคุณแม่ตั้งครรภ์ก็สามารถอ่านให้ลูกฟังได้เช่นกัน อย่างในต่างประเทศมีการปลูกฝังให้เด็กได้อ่านหนังสือภาพหรือนิทานมากกว่า 1,000 เล่ม ซึ่งก็จะส่งผลให้เด็กไม่มีปัญหาของการเรียนรู้ ยิ่งเด็กได้รับการเรียนรู้อย่างถูกวิธี มีหนังสือดีๆ ได้อ่าน ก็จะทำให้เขารักการอ่านได้ง่ายขึ้น เช่น เด็กแรกเกิดถึง 3 ขวบ จะชอบเรื่องใกล้เคียงกับชีวิตตัวเอง ก่อนวัยทีนก็จะสนใจเรื่องของจินตนาการ แฟนตาซี และวัยรุ่นก็จะเป็นช่วงวัยที่เริ่มสนใจเรื่องราวรอบตัวมากขึ้น

"จากการลงพื้นที่ของแผนงานฯ พบว่า หลายคนเริ่มมีความรู้ความเข้าใจมากยิ่งขึ้น สมัยก่อนเราไม่เคยรู้เลยว่า เราสามารถอ่านหนังสือให้ลูกฟังได้ตั้งแต่ลูกอยู่ในท้อง หรือต้องอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่อายุ 6 เดือนที่สายตาเขาเริ่มโฟกัสได้แล้ว พอทุกคนเริ่มรู้และรู้ว่าหน้าต่างแห่งโอกาสภาษาเปิดได้ตั้งแต่ช่วงนั้น เด็กสามารถเรียนรู้ทุกภาษาในโลกได้ หากเรามีความสามารถและรู้จังหวะของการให้ ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้กำลังไหลลงสู่พื้นที่ และแกนนำอาสาสมัครส่งเสริมการอ่าน ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศ เรากำลังโปรยปรายความรู้ร่วมกันเพื่อให้ทุกคนมีความสุขมากขึ้น" นางสุดใจกล่าว

สำหรับแกนนำอาสาสมัครส่งเสริมการอ่าน ซึ่งมีหน้าที่เสมือนส่งต่อความรู้ผ่านหนังสือไปยังพื้นที่ที่ขาดโอกาส นับเป็นภารกิจสำคัญ ซึ่งผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านบอกว่า แกนนำเหล่านี้ต้องมีความเข้าใจในแต่ละพื้นที่ว่าเหมาะสมกับเรื่องใด บางแห่งก็สนใจเรื่องเกษตร บางแห่งที่เป็นศูนย์เด็กเล็กก็จะมีหนังสือที่ส่งเสริมการอ่านสำหรับเด็กๆ หรือตัวอย่างที่จังหวัดสุรินทร์ มีการรวมกลุ่มของคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ก็ใช้การอ่านช่วยสร้างพลังใจให้เข้มแข็ง เป็นต้น

"ตอนที่เราร่วมกับภาครัฐ เราทำเรื่องมหานครแห่งการอ่าน มี 5 จังหวัดนำร่อง คือ ฉะเชิงเทรา ลำปาง เพชรบุรี ขอนแก่น และนครศรีธรรมราช และมีการเพิ่มขึ้นอีก 10 จังหวัดในปีนี้ อย่างไรก็ตามในทุกจังหวัดที่ไม่ได้เป็นมหานครแห่งการอ่านก็จะมีแกนนำอาสาสมัครส่งเสริมการอ่านอยู่ในทุกพื้นที่ผ่านเส้นทางการทำงานของ กศน.ศูนย์เด็กเล็ก เป็นต้น บางพื้นที่อย่างที่เพชรบุรี มีการส่งเสริมการอ่านที่ตลาด โดยทุกก่อนวางแผงที่ตลาดนัด 1 ชม.ก่อนจะมีคนมาซื้อ รถเข็น กศน.ก็จะขับเคลื่อนไปให้หยิบยืมหนังสือมาอ่านได้ เป็นต้น หรืออย่างที่จังหวัดสุรินทร์ มีการรวมกลุ่มของคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ก็ใช้การอ่านช่วยสร้างพลังใจให้เข้มแข็ง"นางสุดใจกล่าว

พลังจากการอ่าน คือพลังแห่งการซึมซับความรู้และความสุข ก็ได้แต่หวังว่าเราจะใช้การอ่านเป็นเครื่องมือสร้างสุขและสร้างการรักษาภาษาไทยสืบไป

เรื่องโดย : สุนันทา สุขสุมิตร Team content www.thaihealth.or.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook