รีวิว Tales of Vesperia Definitive Edition คุ้มค่าถ้าไม่เคยเล่นมาก่อน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า Tales of Vesperia เป็นหนึ่งในเกมจากซีรีส์ Tales of ที่ได้รับความนิยมชมชอบจากแฟน ๆ และนักวิจารณ์มากที่สุดภาคหนึ่ง เพราะด้วยการออกแบบตัวละครและเนื้อเรื่องที่ถูกจริตคนรักอนิเมะ ระบบการต่อสู้สุดแสนเป็นเอกลักษณ์ ฯลฯ ซึ่งการนำกลับมาวางจำหน่ายอีกครั้งในฉบับรีมาสเตอร์ที่เพิ่มชื่อพ่วงท้ายเข้าไปว่า Definitive Edition ก็เป็นเครื่องการันตีชั้นเยี่ยมถึงคุณภาพในเกมภาคดังกล่าว
แต่กระนั้นการกลับมาในครั้งนี้จะมีสิ่งปรับปรุงพัฒนาขึ้น คงไว้ดังเดิมตอบโจทย์แรงถวิลหาแฟน ๆ ได้หรือไม่ เชิญหาคำตอบในบทความรีวิวนี้ได้เลยครับ
การเดินทาง ไม่สำคัญเท่าระหว่างทาง
ตัวละครหลักทั้งหมดในกลุ่มของเราอยู่กันครบหน้า
Tales of Vesperia: Definitve Edition เป็นการนำตัวเกมจากเวอร์ชั่นที่ลงให้กับเครื่องเล่น PlayStation 3 กลับมาอีกครั้งในฉบับรีมาสเตอร์ที่ก็แน่นอนว่าการนำเกมกลับเข้าสู่ตลาดอีกครั้งในประเภทนี้ จะไม่ค่อยเกิดผลกระทบใด ๆ กับแกนหลักทั้งหมดในเกมสักเท่าไหร่ (ระบบการเล่น, เนื้อเรื่อง, เสียง ฯลฯ)
โดยเรื่องราวใน Tales of Vesperia ว่าด้วย Terca Lumireis (โลกพื้นหลังของเกมในภาคนี้) โลกที่ประชาชนต่างใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีจากอารยธรรมโบราณเมื่อ 1,000 ปีก่อนอย่าง Blastia ที่ต้องดูดซับพลังงาน Aer ให้กลายเป็นแหล่งให้พลังงานต่าง ๆ นา ๆ อีกทอด ไล่ตั้งแต่การผลิตน้ำโดยไม่ต้องพึ่งแหล่งกำเนิด, การนำมาใช้เป็นพลังงานให้กับเครื่องจักรขนาดมหึมา ไปจนถึง “การสร้างบาเรียขนาดใหญ่เพื่อใช้ป้องกันเหล่าอสูรร้ายจากโลกภายนอก”
แต่แล้ววันหนึ่ง Blastia จากเมือง Zaphias ในเขตชนชั้นล่างได้ถูกขโมยไปอย่างปริศนาจนส่งผลให้เขตดังกล่าวขาดแคลนแหล่งน้ำสะอาดที่ไว้ใช้อุปโภคและบริโภค Yuri Lowell (ตัวเอกของเกม) อดีตทหารองค์รักษาเมืองมากฝีมือที่ทั้งชีวิตอาศัยอยู่ ผูกพันและมีใจรักในการช่วยเหลือเพื่อนพ้องในเขตเดียวกัน จึงจำต้องออกตามหาและทวงมันกลับคืนมาผ่านการเดินทางที่ได้พบเจอมิตรภาพและเหตุการณ์ที่เกินกว่าที่ตัวเขานั้นจะคาดคิด
ผู้เขียนว่าเส้นเรื่องหลักในภาคนี้ยังสู้ภาคอื่น ๆ ไม่ได้สักเท่าไหร่ อาจด้วยจังหวะการเล่าของเนื้อเรื่องหลักที่ไปอย่างเชื่องช้า และมักจะถูกแทรกด้วยหลายเหตุการณ์ แต่กระนั้นก็มีสิ่งที่ทำออกมาได้ประทับใจผู้เขียนเป็นอย่างมาก นั่นก็คือเหล่าตัวละครในกลุ่มของเราที่มีติและเคมีที่เข้ากันอย่างลงตัว พระเอกของเกมที่เกลียดชังผู้ดีมีชาติตระกูลแต่ต้องจับพลัดจับผลูได้ร่วมเดินทางไปกับเจ้าหญิงผู้ไร้อ่อนต่อโลกที่พร้อมเปิดใจรับมิตรภาพจากผู้คนทุกรูปแบบไม่เว้นแม้กระทั่งจอมเวทย์สาววัยเยาว์ผู้มันสมองเป็นเลิศที่แม้ตัวเธอจะชอบแสดงกิริยาแข็งกร้าวและขี้รำคาญผู้คนรอบข้าง แต่แท้จริงแล้วเธอกลับรู้สึกผูกพันกับกลุ่มก๊วนของเรา ฯลฯ
“การเดินทาง อาจไม่สำคัญเท่าระหว่างทาง” นี่แหล่ะคือวลีที่เหมาะสมกับ Tales of Vesperia อย่างถึงที่สุด ซึ่งความดีงามในส่วนนี้ก็ยังจะถูกค้ำชูด้วยฟีเจอร์ตลอดมาของซีรีส์อย่างคัทซีนเสริม ที่สามารถเลือกจะดูหรือไม่ก็ได้เพราะไม่ส่งผลกระทบใดต่อเนื้อเรื่อง ที่แม้จะเป็นเพียงตัวละครในกลุ่มของเราพูดคุยและแสดงจริตของตนเองถึงเหตุการณ์ในขณะนั้นๆ แต่หากเราเข้าถึงหรือว่าชอบเคมีของกลุ่มตัวละครแล้ว ฟีเจอร์นี้ก็จะทำให้เรารู้สึกผูกผันกับพวกเขาเข้าไปอีกขั้น
เกม RPG ที่มีลูกล่อลูกชนด้วยระบบต่อสู้แอกชั่น
นอกเหนือจากการนำเสนอเรื่องราวและมิติของตัวละคร ระบบการต่อสู้แบบแอกชั่นคือจุดเด่นตลอดมาของซีรีส์ Tales of ที่มีเอกลักษณ์มากพอจนโดดเด่นกว่า JRPG เจ้าอื่นด้วยกัน แถมระบบดังกล่าวก็ไม่ได้ถูกทำออกมาแบบขอไปที แต่มันคือแอกชั่นที่มีตรรกะของเกมแนวนี้จริง ๆ หลบเป็นหลบ โดนเป็นโดน ไม่ได้วัดผลลัพธ์ด้วยค่าสเตตัสตัวละคร (แต่ถ้าเป็นพลังเวทย์นี่หลบไม่ได้นะ)
ซึ่งใน Tales of Vesperia และในเวอร์ชั่น Definitve Edition นี้ ก็ยังคงไว้ซึ่งของเดิมทุกระเบียดนิ้ว โดยจากในต้นฉบับของภาคดังกล่าวนั้นได้เพิ่มความยืดหยุ่นในการต่อสู้เข้าไปอีกขั้นด้วยการเคลื่อนที่ได้ถึง 8 แกนทิศทาง (ขึ้น, ลง, ซ้าย, ขวา, เฉียงล่าง, เฉียงบน) จากที่แล้วมาจะเคลื่อนที่ได้แค่แนวนอน ซึ่งก็ทำให้การต่อสู้มีความคล่องแคล่วและสร้างความได้เปรียบในการต่อสู้ได้มากขึ้น เช่นการอ้อมหลังแนวหน้าศัตรูไปโจมตีตัวที่อ่อนแอกว่า, เคลื่อนที่เพื่อหลบโจมตีที่หนักหน่วงและกินพื้นที่ในจังหวะที่เฉียดฉิว เป็นต้น
หาก Yuri หรือตัวละครเอกของเกมใช้ Dragon Swarm ด้วยอาวุธประเภทขวานก็จะเบรคการการ์ดของศัตรูได้ง่ายกว่าการใช้ดาบ
แถมทั้งการต่อสู้ในเกมก็ยังถูกส่งเสริมด้วยระบบพัฒนาตัวละคร (Progression) ที่ชักชวนให้ติดพันไปกับการเล่นนอกเหนือจากการตามติดความสนุกด้านเรื่องราวของเกม ไม่ว่าจะทั้งการปลดล็อค Artes (สกิลใช้ในตอนต่อสู้นั่นแหล่ะ แต่ซีรีส์ Tales of ใช้คำนี้เรียกแทน) ขั้นสูง เมื่อทำตามเงื่อนไขสำเร็จที่ค่อนข้างคุ้มค่าเหนื่อย อาทิ ใช้สกิล A และ B ให้ครบ 100 รอบ, สวมใส่อาวุธประเภทนี้ถึงจะใช้ได้ ฯลฯ, สกิลเสริมที่จะฝังมากับอาวุธ/เครื่องแต่งกายแต่สามารถเรียนรู้ติดตัวได้เมื่อได้รับแต้มจากการต่อสู้ครบตามจำนวน ซึ่งก็จะช่วยกำหนดทิศทางการต่อสู้ของผู้เล่นในระดับหนึ่ง เช่น ทำให้ตัวละครของเราเก่งด้านการตั้งรับทั้งท่ากดหลบการโจมตีที่เพิ่มเข้ามา หรือจากการได้รับค่าสถานะที่มากขึ้น เป็นต้น
ประสิทธิภาพที่ไม่น่าพอใจสักเท่าไหร่
เมื่อเวอร์ชั่น Definitive Edition คือการขยายความละเอียดภาพจาก 1280 x 576 จากเวอร์ชั่น PlayStation 3 ซึ่งภาพที่ได้ก็จะเบลอ ๆ แบบนี้แหล่ะครับ
ผู้เขียนรีวิว Tales of Vesperia Definitive Edition ในฉบับ PlayStation 4 และได้ใช้เครื่องเวอร์ชั่น Slim ในการเล่น โดยสิ่งที่เห็นจากการเพิ่มเสริมเข้ามาเลยคือเรื่องของเฟรมเรตที่ถูกดันขึ้นให้กลายเป็น 60 fps แต่กระนั้นในหลายจังหวะของการเล่น ตัวเกมก็มีปัญหาเฟรมเรตร่วงหล่นลงมาที่มีตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงล่วงหล่นจนน่าใจหาย ซึ่งในส่วนนี้ไม่รู้ว่าเป็นเพราะตัวเครื่องของผู้เขียนเป็นรุ่น Slim หรือเปล่า? แต่ถ้าเป็นเพราะเช่นนั้น มันก็ควรจะถูกนับเป็นข้อสังเกตอยู่ดี เพราะอย่าลืมว่าเครื่องเล่นคอนโซลมีสเปคและฮาร์ดแวร์ตัวเดียวกัน ไม่ได้มีปัญหาจิปาถะนานาจิตตังเหมือนเวอร์ชั่น PC
ในขณะที่ด้านความละเอียดของภาพที่ถูกปรับให้เป็น FullHD ก็กลับเป็นขยายสัดส่วนที่ไม่ได้ทำให้ตัวเกมดูคมชัดหรือสวยขึ้นมาอย่างก้าวกระโดดเท่าที่ควร “แต่ด้านประสิทธิภาพในข้อนี้ ผู้เขียนมองได้สองแง่นะ” คือถ้าในมุมที่เข้าใจ เราก็จะรู้กันว่าเวอร์ชั่นรีมาสเตอร์นี้เป็นการนำภาคที่วางจำหน่าบน PlayStation 3 ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2009 ซึ่งมันก็เก่ามากแล้วและตัวเกมมันมีสัดส่วนภาพเพียง 1280 x 576 แต่หากมองในมุมความคุ้มค่าที่วัดจากราคาเป็นหลัก ผู้เขียนบอกได้คำเดียวเลยครับว่าไม่คุ้มอย่างแรง
คุ้มค่าถ้าไม่เคยเล่นมาก่อน
โดยรวม Tales of Vesperia Definitive Edition อาจเป็นการรีมาสเตอร์ที่ไม่คุ้มค่าสักเท่าไหร่หากวัดจากด้านประสิทธิภาพ แต่หากคุณไม่เคยได้สัมผัสซีรีส์นี้มาก่อน “นี่คือภาคที่คู่ควรแก่การเปิดศักราชเป็นอย่างยิ่ง” หรือหากคุณต้องซื้อมาสะสมเพื่อย้อนวันวานที่เคยมีความสุขไปกับตัวเกมนี้แล้วล่ะก็ “ซื้อเถอะครับเพราะนี่ความทรงจำของคุณนะ”