Review God Eater 3 เมื่อถูกพระเจ้าทอดทิ้ง เหล่ามนุษย์จึงต้องร่วมกันต่อสู้เพื่ออยู่รอด
สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่าน หลังจากที่หายหน้าหายตากันไปนาน เนื่องจากว่าตัวผมติดภาระกิจที่ไต้หวัน กับงาน Taipei Game Show 2019 ที่ผ่านมา ทำให้ไม่มีเวลามารีวิวเกมใหม่ๆที่ออกช่วงปลายเดือนมกราคมนี้เลย และมาเริ่มต้นเดือนกุมภาพันธ์นั้นก็ร้อนแรงไม่แพ้กัน นำทัพโดย Jump Force, Metro Exodus, Far Cry: New Dawn, Anthem
และแน่นอน God Eater 3 ที่จะทำให้เหล่านักล่าอารากามิต้องไม่ว่างกันอีกครั้ง และการมาครั้งนี้ของ God Eater ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ตัวเกมจะถูกพัฒนาลงให้กลับเครื่อง Next Gen อย่างจริงๆจังๆเสียที หลังจากที่ภาคเก่าๆนั้นเป็นการ Port มาจากเครื่องพกพาอย่าง PS Vita ครับ
God Eater นั้นเป็นเกมแนว Action RPG สไตล์ Hunting , Grinding โดยมีรูปแบบการเล่นคล้ายๆกับเกมอย่าง Monster Hunter โดย Gameplay หลักๆ ก็หนีไม่พ้นการล่ามอนสเตอร์เพื่อหาวัตถุดิบมาสร้างอาวุธและชุดเกราะ เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้ตัวละคร โดยจุดเด่นของเกมแนวนี้ก็คือระดับความยาก ที่ผู้เล่นไม่สามารถรัวปุ่ม Action รัวๆใส่มอนสเตอร์ได้ แต่ผู้เล่นจะต้องรู้จักการจับจังหว่ะ เรียนรู้แพทเทิร์นของศัตรู และการทำคอมโบ
โดยจุดเด่นของ God Eater นั้นจะอยู่ที่ระบบ Burst และอาวุธปืน ที่เรียกได้ว่าเป็นจุดแข็งของซีรี่ส์นี้เลยก็ว่าได้ การใช้อาวุธปืนของเกมนี้ค่อนข้างพิเศษตรงที่ว่า ตัวผู้เล่นเองสามารถ “สร้าง” กระสุนปืนในรูปแบบต่างๆเองได้ และระบบ Burst ที่จะทำให้ตัวละครของผู้เล่นทำ Combo ได้หลากหลาย และรุนแรงกว่าเดิม
“แต่ก่อนที่จะเข้ารีวิวของเกม ผมต้องบอกก่อนว่าสำหรับตัวผมเองแล้ว ทั้ง Monster Hunter และ God Eater นั้นเป็นเกมที่ไม่เคยอยู่ในสายตาผมเลย เนื่องจากว่าตัวเกมพวกนี้มีรูปแบบการเล่นที่ผมไม่ค่อยชอบเป็นการส่วนตัวสักเท่าไร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผมมองว่าเกมมันแย่ แต่แค่ไม่ได้ชอบเล่นเกมแนวๆนี้เท่านั้นเองครับ โดยรีวิว God Eater 3 ครั้งนี้ จะเป็นรีวิวในมุมมองของคนที่ไม่เคยเล่นเกมแนวนี้มาก่อน หรือไม่ได้ชอบอะไรเกมแนวนี้มากครับผม”
และแน่นอน ขอขอบคุณ Bandai Namco Entertainment ที่เป็นผู้สนับสนุนตัวเกมที่ใช้ในการ Review ครั้งนี้ด้วยครับ For the Love of God
ช้าก่อน !! ผมไม่ได้พูดถึง Steve Vai แต่ผมกำลังพูดถึง God Eater นี่แหล่ะครับ ในโลกของ God Eater นั้นจะพูดถึงโลกที่มนุษย์ถูกพระเจ้าทอดทิ้งและส่งสัตว์อสูรที่มีชื่อเรียกว่า “อารากามิ” ออกมาล้างเผ่าพันธ์ โดยเหล่ามนุษย์ต้องต่อสู้เอาชีวิตรอด โดยมีมนุษย์อยู่กลุ่มหนึ่งได้คิดค้นอาวุธที่ใช้ต่อสู้กับอารากามิเหล่านี้
Ashborn อารากามิชนิดใหม่ในภาคนี้
โดยอาวุธพวกนี้มีชื่อเรียกว่า God Arc หรือ Jin-Ki (เวอร์ชั่นญี่ปุ่น) โดยอาวุธพวกนี้มีพลังต่อกรกับพวกอารากามิได้ ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว God Arc มันก็คืออารากามิชนิดหนึ่งนั้นแหล่ะ อีกหนึ่งความสามารถของ God Arc ก็คืออาวุธชนิดสามารถ “กลืนกิน” พวกอารากามิ มาเพิ่มพลังให้ผู้ใช้งานได้อีกด้วย
และผู้ใช้งาน God Arc นั้นก็จะต้องทำการประสานเข้ากับ Oracle Cells ของอารากามิ เพื่อที่จะใช้อาวุธพวกนี้ได้ เหล่าผู้ใช้งาน God Arc นั้นเรียกว่า “The AGEs” โดยใน God Eater แต่ละภาคนั้นผู้เล่นจะได้รับบทเป็น The Protagonist หรือก็คือตัวผู้เล่นเอง โดยเข้าไปมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์และตัวละครอื่นๆภายในเกมครับ
สร้างตัวละครเองได้ ตามสไตล์อนิเมะ
God Eater 3 จะมีเนื้อเรื่องต่อจากภาค 2 โดยตัวเกมจะพูดถึงพื้นที่ใหม่ที่มีภัยพิบัติ “Ash Land” โดยพื้นที่เหล่านี้นั้นอันตรายมากกว่าเดิม เนื่องจากว่ามันมาพร้อมกับอารากามิชนิดใหม่ ที่เรียกว่า “Ashborn” เรื่องราวจะเริ่มขึ้นจากที่ตัวผู้เล่นเองถูกจับมาโดยเหล่า Pennywort Port และถูกบังคับให้เป็น The AGEs พร้อมๆกับเพื่อนอีกคน “Hugo” โดยผู้เล่นจะต้องทำงานรับใช้พวก Pennywort Port โดยพวกมันจะไม่สนว่าเหล่า The AGEs จะเป็นอย่างไร แค่ต้องทำงานให้สำเร็จก็พอ
ในภายหลังเราจะได้พบกับ Zeke อีกหนึ่ง The AGEs ที่อยู่ใน Pennywort Port ก่อนที่เราจะได้พบกับ “Hilda” เจ้าของ Ash Crawler Chrysanthemum เป็นคนที่ทำการขนส่ง และระหว่างที่ตัว Hilda เองผ่านมาที่ Pennywort พวกเขาได้เจอกับพวกของตัวเอก และได้เข้าร่วมกันในที่สุดครับ
The Protagonist & Phym
ตลอดทั้งเกมเราจะได้พบกับพรรคพวกใหม่ๆ และร่วมเข้าต่อสู้กับอารากามิ แต่ที่เป็น Highlight เลยก็คือผู้เล่นจะได้พบกับ “Phym” สาวน้อยสุดโลลิ ที่ตัวเธอเองนั้นมีความสัมพันธ์กับตัวเอกมากเป็นพิเศษ โดยเธอจะมีส่วนในเนื้อเรื่องหลักทั้งเกม หรือเรียกได้ว่าเป็นตัวดำเนินเรื่องเลย ฟังดูก็เป็นเรื่องปกติที่โผล่มาในเกมญี่ปุ่นทั่วๆไป แต่ที่มันไม่ปกติก็คือน้อง Phym ของเราเนี่ย มันดันเป็น Humanoid Aragami หรือ อารากามิ ในรูปร่างคนนั้นแหล่ะครับ
ด้วยการที่ตัวเกมนั้นเป็นแนวๆ Monster Hunter รูปแบบการเล่นก็จะเป็นการเลือกภาระกิจก่อนที่จะเข้าไปเล่นเกมหลัก ซึ่งปัญหาของมันก็คือรูปแบบการเล่น ที่ทำให้การเล่าเรื่องมันออกจะน่าเบื่อและชวนง่วงอย่างสุดๆนั้นแหล่ะครับ และสิ่งที่น่ารำคาณที่สุดก็คือการดำเนินเรื่องของตัวเกมเอง
ก็ไปเรียก Hugo มานี่สิ ตรูจะทำภาระกิจโว้ยยยย
ยกตัวอย่างเช่น ก่อนที่เราจะสามารถทำ Story Mission ต่อไปได้ แน่นอนว่าผู้เล่นต้องไปคุยกับ Amy ผู้ดูแลบอร์ดภาระกิจ แต่ถ้าหากเรายังไม่ได้ไปคุยกับ NPC ที่จำเป็นต่อการดำเนินเรื่องต่อ Amy เธอก็จะไม่ยอมให้เราทำภาระกิจ โดยผู้เล่นก็ต้องเดินไปหา NPC ตัวนั้นๆ โดยผู้เล่นสามารถดูได้ง่ายๆ NPC ที่ต้องการคุยก่อนดำเนินเรื่อง จะมีเครื่องหมาย … ขึ้นอยู่บนหัว ฟังดูอาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ก็จริง แต่ปัญหาคือเกมมันไม่บอกว่า NPC ตัวนี้มันอยู่ที่ไหน และเราก็ต้องเดินหาทั่วทั้งยาน เอาเข้าจริงเล่นไปเรื่อยๆมันก็น่ารำคาณใช้ได้เลยล่ะ
Burst Gameplay
อย่างที่ผมได้บอกไปว่า God Eater นั้นมีรูปแบบการเล่นคล้ายๆกับเกมอย่าง Monster Hunter หรือถ้าจะให้พูดตรงๆเลยก็คือ Copy ระบบการเล่นมานั้นแหล่ะครับ แต่ God Eater เองนั้นได้สร้างความแตกต่างจนมีแนวทางของตัวเองไป ทำให้ตัวเกมได้กระแสตอบรับที่ดี และอยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ แต่ที่น่าสนใจเลยคือเกมนี้เป็นเกมถูกพัฒนาลงให้กับเครื่องพกพาเป็นหลัก (PSP, PSVita) สำหรับ God Eater 3 เองถือเป็นครั้งแรกที่ตัวเกมหันมาพัฒนาให้กับ Next Gen Console อย่างจริงจัง และเลิกพัฒนาบนเครื่องพกพาไปครับ
แน่นอนว่าแฟนๆที่รอคอยก็ต่างคาดหวังว่าจะได้เห็นอะไรใหม่ๆจากเกมนี้ เพราะด้วยการที่ตัวเกมมาลงให้กับ Console นั้นแน่นอนว่ามันสามารถทำอะไรได้เยอะกว่าการที่เกมอยู่บนเครื่องพกพาแน่นอน ตรงนี้เองผมก็คงบอกถึงความแตกต่างอะไรมากไม่ได้ เนื่องจากว่าภาค 3 เป็นภาคแรกที่ผมเล่นเกมนี้เลย และหลังจากผ่านการเล่นมาเกือบ 100 ชั่วโมง ผมก็พบปัญหาอยู่หลายจุดเลยล่ะครับ
เรามาพูดถึงเรื่อง Core Gameplay กันก่อน เกมนี้เป็นเกมแนว Action RPG มุมมองบุคคลที่สาม การบังคับตัวละครก็จะให้ความรู้สึกคล้ายๆกับเกมอย่าง Monster Hunter, Dark Souls, โดยศัตรูของผู้เล่นก็คืออารากามิขนาดใหญ่ ที่ผู้เล่นจะต้องใช้ทักษะ และไหวพริบในการต่อสู้มากเป็นอย่างสูง เพราะการที่จะพุ่งเข้าไปแล้วรัวปุ่มโจมตีนั้น มันไม่ใช้ความคิดที่ดีแน่นอน แถมยังไม่ได้ผลอะไรอีกด้วย
เหล่าอารากามิพวกนี้จะมีจุดอ่อนอยู่ตามร่างกาย หากผู้เล่นสู้กับมันจนจับจุดอ่อนได้ ผู้เล่นก็สามารถล็อคเป้าหมายไปที่จุดอ่อนนั้นๆ และเข้าไปโจมตีได้เลย แน่นอนว่าการโจมตีของอารากามิเองก็จะมาเป็นแพทเทิร์น โดยถ้าหากผู้เล่นสามารถจับแพทเทิร์นของศัตรูและเรียนรู้ Move Set ของมันได้ การต่อสู้ก็จะไม่ยากเลยครับ
การต่อสู้กับอารากามินั้นเป็นสิ่งที่ทำให้เกมนี้สนุกเลยครับ เราไม่สามารถบุกไปเข้าโจมตีได้ซึ่งๆหน้าแน่นอน เราต้องจับจุดอ่อนของศัตรูให้ได้ และพยายามโจมตีส่วนต่างๆของร่างกายให้มันล้มลง แล้วเราจึงค่อยพุ่งเข้าไปรัวคอมโบใส่มัน โดยเราก็ต้องคอยเรียนรู้ท่าของศัตรูไปด้วย โดยศัตรูในเกมนี้มีหลากหลายประเภทมากๆ แน่นอนว่าแต่ละตัวมีคาแรคเตอร์ และ Move Set ที่ไม่เหมือนกันสักตัว
จุดเด่นของ God Eater คืออาวุธปืน ที่ผู้เล่นสามารถกดเปลี่ยนไปมาได้ตลอด แถมยังรวดเร็วอีกด้วย อาวุธปืนพวกนี้ เป็นเหมือนอาวุธหลักๆของผู้เล่นเลย เพราะมันสามารถทำ Damage ได้แรงมากๆ หากผู้เล่นใช้อย่างถูกวิธี อย่างที่ผมได้บอกไปว่าพวกอารากามิทุกตัวมันมีจุดอ่อน แน่นอนว่าเรื่อง”ธาตุ”เอง ก็มีส่วนเกี่ยวด้วยเช่นกัน อาวุธปืนพวกนี้จะยิงกระสุนธาตุได้ โดยเราสามารถเปลี่ยนธาตุได้ตลอดระหว่างต่อสู้ ต่างกับอาวุธระยะประชิดที่ใส่แล้วใส่เลย เปลี่ยนระหว่างต่อสู้ไม่ได้
จะลองสร้างอะไรแปลกๆดูก็ได้
โดยจุดเด่นที่สุดของอาวุธปืนเลยคือ ผู้เล่นจะสามารถ “สร้างกระสุนปืนเองได้” โดยเราจะทำให้มันเป็นรูปแบบไหนก็ได้ เช่นเมื่อยิงออกไปแล้ว ก็จะมีกระสุนจำนวนนึงบินวนรอบตัวเรา อะไรพวกนี้ โดยเราสามารถจับมันมาผสมปนกันได้ 8 อย่าง สุดท้ายคืออาวุธปืนภายในเกมก็จะมีอยู่ 4 ชนิด นั้นคือปืนไรเฟลที่สามารถยิงต่อเนื่อง ปืนลูกซองที่แรงในระยะประชิด ปืนสไนเปอร์ที่สามารถซูมได้ไกลเพื่อเล็งยิงจุดอ่อนของศัตรู และสุดท้ายคือปืนยิงเลเซอร์ ที่เป็นอาวุธใหม่ในภาคนี้ครับ
อีกหนึ่งจุดเด่นของ God Eater ก็คือ Burst Mode ครับ โดยเมื่อตัวผู้เล่นเข้าสู่สถานะ Burst Mode นี้แล้ว เราจะสามารถใช้ Burst Art ของอาวุธที่เราใช้อยู่ได้ เข้าใจง่ายๆก็คือโจมตีรุนแรงขึ้นนั้นแหล่ะ โดยเราสามารถปรับแต่ง Burst Art ได้ตามความต้องการ สิ่งที่ผมชอบก็คือการที่ตัวเกมมี Burst Art ที่หลากหลายตามอาวุธที่เลือกใช้ โดยมันจะมีคาแรคเตอร์ของตัวมันเองไม่ซ้ำกันทุกชนิดเลยล่ะ
อาวุธในเกมนี้ก็มีอยู่หลากหลายชนิดมาก ไม่ว่าจะเป็นดาบสั้น ดาบยาว ค้อนยักษ์ หอกใหญ่ และอื่นๆอีกมากมาย โดยใน God Eater 3 ได้มีอาวุธใหม่เพิ่มเข้ามาก็คือดาบคู่ ที่สามารถเปลี่ยนรูปร่างเป็น Twinblade ได้ และอาวุธทุกชนิดๆก็จะมี Move Set ที่แตกต่างกันออกไป และความสามารถที่ต่างกันครับ
พูดถึงเรื่องความสามารถ ในอุปกรณ์ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอาวุธระยะประชิด ปืน เกราะ เราสามารถติดตั้งความสามารถพิเศษให้กับมันได้ โดยจะมาในรูปแบบ Abandoned God Arcs ที่เราสามารถเอาไปผสมกันเพื่อความสามารถใหม่ๆ ก่อนที่จะนำเอามายัดใส่อาวุธของเราได้
และก็ยังมีระบบใหม่ Acceleration Trigger ที่จะทำให้ตัวละครของเรานั้นมีความ Unique มากขึ้นกว่าเดิม ในการเล่นออนไลน์ เพราะมันคือการเพิ่มความสามารถของตัวละครเราขณะต่อสู้ตามที่เราเลือกใช้ รวมไปถึงระบบ Link Aid ที่จะเป็นการเชื่อมพลังกันระหว่าง 2 ผู้เล่น ที่จะทำให้ตัวละครนั้นแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
ซึ่งโดยรวมแล้วมันก็ควรจะเป็นเกมที่เล่นได้สนุก แต่ปัญหาที่ผมพบเจอก็คือเรื่องการบังคับนั้นเอง โดยถ้าจะให้พูดกันตรงๆ ผมรู้สึกว่าทีมงานยังติดการปรับแต่งเรื่องการบังคับจากเครื่องเกมพกพามากไปหน่อย เมื่อตัวเกมมาอยู่ใน Console แล้ว ปุ่มมันเยอะกว่าเดิมมากๆ แต่ทีมงานกลับเลือกใช้ปุ่มซ้ำมากเกินไป เช่นปุ่มวิ่งกับปุ่มเปลี่ยนอาวุธเป็นปุ่ม R1 เหมือนกัน (WHAT ???) และปุ่มซูมเข้าออกตัวละครเป็นปุ่ม D-Pad บน กับ ล่าง และปุ่มขวากับซ้าย เป็นปุ่มใช้ท่าพิเศษของอาวุธ (WHAT ???)
การบังคับมันควรจะทำได้ดีกว่านี้ ทั้งเรื่องปุ่มโจมตี สลับอาวุธ และการใช้ Item ที่แปลกๆ ไม่ลื่นไหลสุดๆ ต้องใช้เวลาพักใหญ่ถึงจะคุ้นชิน ยังไม่นับเรื่องมุมกล้องที่มันมั่วมากๆ และระบบล็อคเป้าหมายที่ทำออกมาไม่ดีเท่าทีควรซึ่งปัญหานี้มันทำให้น่าหงุดหงิดมากตลอดทั้งเกมเลยล่ะครับ ยกตัวอย่างเกม Dark Souls ที่ออกแบบระบบบังคับมาโคตรดีมากๆ ผู้เล่นสามารถบังคับตัวละคร มุมกล้อง ได้อย่างคล่องมือ ตรงนี้ผมอาจจะนำเอาเกมมาเปรียบเทียบผิดเกมไปสักหน่อย แต่รูปแบบการบังคับมันก็คล้ายๆกันนะเออ
ด้วยการที่ตัวเกมนั้นเป็นแนวๆ Hunting Grinding แบบ Monster Hunter ผู้เล่นจะอยู่ในสถานที่หลักโดยใน God Eater 3 ก็คือยานขนส่งของ Hilda หรือเข้าใจกันง่ายๆ มันก็คือ Session Lobby ดีๆนี่เอง โดยภายในยานผู้เล่นสามารถที่จัดการตัวละครของเราผ่านเครื่อง Terminal ภายในยาน โดยการจัดการทั้งหมดจะอยู่ในนี้ ยกเว้นการชื้อขายไอเท็มที่ผู้เล่นจะต้องวิ่งไปที่ด้านนึงของยาน โดยในบางครั้งจะมีร้านขายของพิเศษที่จะขายของหายากสุ่มมาหลังจบภาระกิจครับ