รีวิว Super Robot Wars T เกมมัดรวมหุ่นเหล็กไหลฉากต่อสู้อลังการภาคล่าสุดที่แฟน ๆ ไม่ควรพลาด

รีวิว Super Robot Wars T เกมมัดรวมหุ่นเหล็กไหลฉากต่อสู้อลังการภาคล่าสุดที่แฟน ๆ ไม่ควรพลาด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากที่แฟนทั่วทุกมุมโลก (รวมทั้งผู้เขียน) ต้องอดทนมั่วถั่วเล่นเกมนี้ในรูปแบบต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นมาหลายภาค ตอนนี้! Super Robot Wars ก็ได้ออกภาษาอังกฤษเป็นที่เรียบร้อย! และไม่ใช่แค่นั้น นี่คือภาคที่ 3 แล้วที่ตัวเกมเป็นภาษาอังกฤษและวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการระดับโลก! แต่กระนั้น นอกเหนือจากภาษาที่เข้าใจกันอย่างทั่วถึงแล้วตัวเกมจะมีสิ่งใดเปลี่ยนแปลงและน่าสนใจเพิ่มหรือไม่ เชิญตามอ่านบทความรีวิว Super Robot Wars T นี้ได้เลยครับผม

Super Robot Wars คือเกมอะไร?

สำหรับใครที่ไม่รู้จักซีรีส์นี้เลยแม้แต่น้อย ผู้เขียนก็พร้อมจะอธิบายและจำกัดความสั้น ๆ ให้ได้รู้จักกัน นี่คือเกมแนว Turn-Base Strategy ที่มีการรวมตัวกันของเหล่ามังงะ/อนิเมะหุ่นเหล็กไหลมารวมตัวกันในเกมเดียวได้เยอะที่สุดปฐพี พร้อมนำเสนอและตรึงผู้เล่นได้อยู่หมัดด้วยอนิเมชั่นฉากต่อสู้สุดเท่ มีเท่านี้แหล่ะครับตัวเกมก็สมบูรณ์ในแบบของมันแล้ว ซึ่ง T ก็ถือว่าเป็นเกมภาคที่ 3 ที่มีเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษออกมา (เหตุผลที่ก่อนหน้านี้ทำออกมาไม่ได้เพราะเป็นเรื่องของลิขสิทธิ์ที่ก่อนหน้านี้หุ่นเหล็กไหลหลายตัวไม่ได้ครอบคลุมถึงฝั่งตะวันตก)

ฉากต่อสู้ของเหล่าหุ่นเหล็กไหลที่โคตรจะเท่! (Presentation)

เบิร์นนิ่ง ฟิงเกอร์!

ถ้าถามว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ผู้เล่นต่างหลงรักซีรีส์นี้และยอมจมอยู่กับภาคก่อนหน้าที่เป็นภาษาญี่ปุ่นทั้งดุ้น ผู้เขียนตอบให้ได้เลยครับว่าเพราะ “อนิเมชั่นต่อสู้ที่ออกแบบมาได้โคตรจะเท่และเคารพต้นฉบับ” จำภาพที่โดมอนเจ้าของ God Gundam (จี กันดั้ม) ปล่อยท่าก็อดฟิงเกอร์ หรือการ์ตูนหุ่นเหล็กไหลทั้งหลายในตอนเด็กกันได้ไหมว่ามันเท่ขนาดไหน? อยากจะบอกว่าเกมนี้สามารถคืนภาพความจำในอดีตของคุณกลับมาได้อีกครั้งในรูปแบบของเกม และมันก็ไม่ใช่การถอดแบบมาดื้อ ๆ หากแต่เป็นการผสมผสานโมเดลของต้นฉบับกับโมเดล SD (Super Deform: ผิดสัดส่วน) ของเกมนำมาตัดสลับกันในหลายกระบวนท่าที่โคตรจะลงตัวแบบสุด ๆ 

ราชันย์ผู้กล้า กาโอไกการ์! (Gaogaiger) ที่ท่า Broken Magnum จะมีการตัดสลับโมเดลต้นฉบับกับโมเดลไซส์ SD

และพวกเขาก็ไม่ได้ตั้งใจทำแค่ตัวสองตัวที่เด่น ๆ แต่หุ่นเหล็กไหลทุกตัวที่ปรากฎในเกม ศัตรูตัวประกอบ ยานรบ บอสใหญ่ไปจนถึงบอสรอง ทุกตัวมีอนิเมชั่นฉากต่อสู้ที่ทำออกมาได้บรรจงสร้างมาก ๆ และในภาคนี้ก็ยังมีการปรากฎตัวของเหล่าหุ่นเหล็กไหลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอย่างมากหน้าหลายตาภาคหนึ่ง ไล่ตั้งแต่ ไทรเดอร์ G7 จาก Invincible Robot Trider G7 (1980), VOTOMS จาก Armored trooper votoms อาร์มเมอร์ท็อปเปอร์โวท่อม (1983), หุ่นด้วงดันไบน์ จาก Aura Battler Dunbine (1983), หุ่นนักสู้สะท้านปฐพี จี กันดั้ม จาก Mobile Fighter G Gundam (1994), เมจิกไนท์ เรย์เอิร์ธ จาก Magic Knight Rayearth (1993), สไปค์และสหายนักล่าฆ่าหัวอย่างคาวบอย บีบ๊อปจาก Cowboy Bebop ที่ไม่มีความใกล้เคียงกับหุ่นเหล็กไหลเลยก็ยังมาได้! (1997) ฯลฯ

อนิเมชั่นท่าต่อสู้เป็นอะไรที่บันเทิงอย่างสุด ๆ สำหรับใครที่เป็นแฟนของหุ่นเหล็กไหล คุณจะขลุกอยู่กับเกมได้นานนับชั่วโมงไปกับการดูบรรดาท่าสวย ๆ ที่ดัดแปลงจากต้นฉบับและยังคงมีกราฟิกการนำเสนอของภาพเป็นอนิเมชั่นอยู่เช่นเดิมแต่เพิ่มเติมคือเอฟเฟคต์อลังการมากมายจากขุมพลังของฮาร์ดแวร์ปัจจุบัน แต่ทั้งนี้ถ้าคุณไม่ได้รู้สึกว้าวหรือตระการตากับการได้เห็นกระบวนท่าต่าง ๆ ของหุ่นรบทั้งหลายที่เป็นความดีงามกฉากหน้าของเกมนี้ที่เห็นชัดเป็นรูปธรรมที่สุด ผู้เขียนก็ขอฟันธงได้เลยว่านี่คงจะไม่ใช่ซีรีส์ที่เหมาะสมกับคุณสักเท่าไหร่เพราะในส่วนอื่น ๆ ของเกมนี้จะมีความจำเพาะลงลึกเข้าไปอีก

“เทิร์นเบสและจิตวิญญาณ” (Gameplay)

Super Robot Wars T ยังคงใช้รูปแบบการเล่นเหมือนกับทุก ๆ ภาคที่ผ่านมาคือ Turn-Base Strategy โดยในส่วนของเกมเพลย์พื้นฐานนั้นก็ไม่มีอะไรซับซ้อน เราและศัตรูจะได้ผลัดเทิร์นกันบังคับตัวละครทั้งหมด ซึ่งผู้เล่นก็จะต้องเลือกคำสั่งที่จะส่งผลลัพธ์ออกมาดีที่สุดให้กับตัวละครนั้น ๆ เพื่อทำให้เป้าหมายใหญ่ของแต่ละภารกิจที่เป็นการกำจัดศัตรูทั้งหมดลงสำเร็จอย่างลุล่วง และทั้งนี้ในเมื่อตัวเกมใช้วัตถุดิบหลักเป็นหุ่นเหล็กไหลแน่นอนว่าพลขับ (Pilot) หรือเจ้าของหุ่นรบนั้น ๆ จะเข้ามามีส่วนร่วมที่เอาเข้าจริง ๆ แล้วพวกเขาคือตัวแปรสำคัญในทุกการต่อสู้เลยล่ะ

หนึ่งใน Spirit ที่พลขับหลายคนมีจะถือว่าน่าหยิบมาใช้งานคือ Focus ที่เมื่อกดใช้ก็จะเป็นการเพิ่มค่าหลบหลีกและความแม่นยำขึ้น 30% ในหนึ่งเทิร์น

สิ่งที่ทำให้พลขับมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าหุ่นรบนั้น คือ “Spirit” (แปลแบบลิเกคือจิตวิญญาณ ฮ่าๆ) สกิลสนับสนุนที่จะช่วยให้การต่อสู้เป็นไปอย่างราบรื่นโดยที่ท่าทั้งหลายจะเป็นการกลบจุดด้อยหุ่นรบแต่ละตัว เช่น หุ่นบางตัวจะมีพลังชีวิตที่ต่ำและจะมีความแม่นยำที่ไม่สูงนัก พลขับที่ควบคุมจึงจะมีสกิลที่ช่วยเพิ่มความแม่นยำและค่าหลบหลีกชั่วขณะหรือหุ่นบางตัวจะมีค่าพลังชีวิต ค่าพลังป้องกัน และค่าพลังโจมตีที่สูงมาก แต่ทั้งความแม่นยำและการหลบหลีกแทบจะเป็นศูนย์ พลขับที่บังคับเลยจะมีสกิลเพิ่มพลังชีวิตและเพิ่มพลังป้องกันให้ในระดับสูงชั่วขณะเพื่อที่จะได้ทนไม้ทนมือศัตรูในแต่ละรอบได้ เป็นต้น

นอกเหนือจากนี้ตัวเกมยังมีพาร์ทของการอัปเกรดทั้งหุ่นและพลขับที่ก็จะทำให้ตัวละครของผู้เล่นเก่งขึ้นซึ่งก็สำคัญกับการเล่นไม่แพ้กันเพราะปริมาณของศัตรูในแต่ละฉากจะมาในจำนวนที่เยอะเข้าว่า แต่ด้วยความที่ค่าอัปเกรดในแต่ละครั้งที่ได้มามีจำกัด มันเลยทำให้เราต้องเลือกพัฒนากลุ่มตัวละครที่เรามีคละ ๆ กันหรือดูตัวละครที่มีหน่วยก้านดี ๆ สักตัว (ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นตัวละครเอกจากซีรีส์นั้น ๆ นั่นแหล่ะ) แล้วอัปเกรดให้เก่งกว่าใครเพื่อนเพื่อที่จะได้มีตัวละครแนวหน้าในการต่อสู้ ซึ่งบรรดาสิ่งที่อัปเกรดก็จะเป็นจำพวกค่าสถานะสำคัญทั้งหลายนั่นแหล่ะครับ พลังชีวิต, ความแม่นยำ, หลบหลีก, ป้องกัน ฯลฯ

แต่ก็จะมีพิเศษขึ้นมาหน่อยก็จะเป็นฝั่งของพลขับที่จะมีเรื่องของสกิลเฉพาะตัวของแต่ละซีรีส์ (พลขับหุ่นของซีรีส์หุ่นด้วงดันไบน์จะมีสกิลติดตัวเป็น Aura Power, ตัวละครจากแฟรนไชส์กันดั้มส่วนใหญ่จะมีสกิลติดตัวชื่อ Newtype เป็นต้น) และสกิลกลางที่นำไปอัปเกรดให้พลขับที่เราชื่นชอบเก่งขึ้นอย่างก้าวกระโดดกว่าตัวอื่น ๆ เช่น การเพิ่มค่าสถานะของพลขับเบื้องต้นอย่างความสามารถในการโจมตีระยะใกล้/ไกล พลังป้องกัน การหลบหลีก หรือว่าการเพิ่มโอกาสติดการโจมตีคริติคอล, สกิลที่จะทำให้หุ่นรบโจมตีได้สองครั้ง, เคลื่อนที่ในฉากได้เยอะขึ้น, ความเสียหายไม่ลดลงเมื่อโจมตีศัตรูที่มีขนาดใหญ่กว่า เป็นต้น

แต่ถ้าคุณเริ่มจับจุดของเกมได้เมื่อไหร่ ก็จะพบว่าตัวเกมนั้นไร้ซึ่งความท้าท้ายใด ๆ และยิ่งเมื่อคุณทำการอัปเกรดหุ่นแค่เพียงตัวใดตัวหนึ่งจนค่าสถานะเต็ม ความน่าเบื่อในการเล่นนั้นก็จะเริ่มต้นขึ้นทันที เพราะหุ่นตัวโปรดตัวนั้นของคุณจะหลบได้ทุกการโจมตีและสวนศัตรูตายภายในไม่กี่ครั้ง แถมความเก่งกาจนี้ยังลามปามไปถึงการต่อสู้ระดับบอสที่พวกมันแทบจะกลายเป็นกระสอบทรายให้คุณยำเล่นเลยล่ะ

เกมเพลย์ของ Super Robot Wars T ยังคงเป็นความสนุกในแบบเดิม ๆ อย่างที่แล้วมา ซึ่งหากใครที่ติดตามซีรีส์มาอยู่แล้วก็จะไม่ได้ยี่หระอะไรในส่วนนี้ก็จะเข้าใจจุดเด่นของเกมนี้ดี แต่หากคุณเป็นผู้เล่นมือใหม่ที่เล่นเกมแนวแอกชั่นโลดโผนเป็นหลักแล้วมาแตะเกมนี้ “คุณอาจจะต้องใช้เวลาปรับตัวสักพักใหญ่ ๆ แต่ถ้าเริ่มเข้ารูปเข้ารอยได้เมื่อไหร่ก็ต้องบอกเลยว่านี่จะเป็นอีกซีรีส์ที่คุณจะสนุกในความซ้ำซากของมัน”

เนื้อเรื่องมัดรวมแบบแถ ๆ แต่ก็ติดตามได้อย่างเพลิน ๆ (Story)

Super Robot Wars T ว่าด้วยเรื่องราวของ Tokitou Saizou/Sakurai Sagiri (ตามแต่ผู้เล่นจะตั้งชื่อและเลือกตัวละครที่เล่น) พนักงานของบริษัท VTX Union’s Special Operation Third Division ที่รับได้หน้าที่ในการทดลองขับขี่และทดสอบอาวุธของหุ่นรบรุ่นใหม่ล่าของบริษัทอย่าง Tyrando แต่ในไม่กี่อึดใจถัดมา ก็กลับมีเหล่าหุ่นรบจากผู้ก่อการร้ายไม่ทราบหน่วยปรากฎตัวขึ้นพร้อมจู่โจมพวกเขาในจำนวนที่เกินจะรับมือไหว ส่งผลให้ Tetsuya Tsurugi ผู้ขับขี่ Great Mazinger หุ่นเหล็กไหลและวีรบุรุษแห่งสงครามอาณาจักรมายซิเน (Mycenaean War) ที่ ณ ปัจจุบันได้เป็นหนึ่งในสมาชิกของสหพันธ์ป้องกันภัยระดับโลก (Earth Federation Forces) ปรากฎตัวขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือพวกเขา และนั่นคือจุดเริ่มต้นของมหากาพย์สงครามพิทักษ์จักรวาลในครั้งนี้

Domon ตอบโต้วาทะกับกัปตัน Harlock (สเกลต้นฉบับของทั้งสองเรื่องอยู่บนจักรวาลก็จริงแหล่ะ แต่การมาเจอกันของสองหน่อนี้มันเป็นได้เฉพาะกับเกมซีรีส์นี้เท่านั้นแหล่ะ ฮ่าๆ)

ว่ากันตามตรง เนื้อเรื่องของเกมภาคนี้มันก็ยังเป็นการยำรวมเรื่องราวอย่างละนิดอย่างละหน่อยจากบรรดาหุ่นเหล็กไหลให้ออกมามีความสมเหตุสมผลในแบบฉบับของมังงะ/อนิเมะ (หรืออย่างน้อย ๆ คือดันให้มันไปถึงฝั่งให้ได้) ซึ่งถ้าคุณติดตามเนื้อเรื่องอย่างใจจดใจจ่อเลย ก็จะพบว่ามันมีความสนุกในรูปแบบของมันอยู่ ทั้งจากมุกตลกที่ตัวละครพูดคุยกัน, สถานการณ์สุดอึมครึมแบบมาคุสไตล์ ไปจนถึงเรื่องราวในแต่ละจังหวะของเนื้อเรื่องที่มีความเล่นใหญ่รัชดาเธียเตอร์ในแบบของมังงะ/อนิเมะ (แม้จะมีแก๊งกันดัมดึงหน้าอย่างภาค ZZ กับภาค Crossbone มาผสมโรงแล้วก็เถอะ…) แต่ถ้าคุณต้องการความสมเหตุสมผลในระดับปรัญชาเลยล่ะก็ นี่ไม่ใช่เกมที่เหมาะกับคุณโดยสิ้นเชิงเลยแม้แต่นิดเดียว (แต่ถามหน่อยเถอะ เป็นคุณจะจัดการเอาเรื่องราวของหุ่นร่วม 20 ซีรีส์มาวางเส้นเรื่องให้แข็งแรงยังไง?)

งานภาพ 2 มิติจัดเต็มและจัดจ้าน! (Graphic)

จริง ๆ แล้วซีรีส์นี้เคยทำภาพออกมาในรูปแบบ 3 มิติอยู่หลายครั้ง (บนภาค Wii, Dreamcast ฯลฯ) แต่ในท้ายที่สุดก็ต้องกลับมาตายรังในรูปแบบของ 2 มิติเช่นเดิม ซึ่งมันก็ไม่ใช่การตัดสินใจอะไรที่ผิดพลาด แต่กลับเป็นความคิดที่ถูกต้อง เพราะ 3 มิติคงไม่สามารถตอบโจทย์การเคลื่อนไหวของสไตล์มังงะ/อนิเมะได้ Super Robot Wars T เลยยังใช้การนำเสนอภาพแบบดั้งเดิมอยู่ที่เมื่อผนวกเข้ากับความแรงของเครื่องสมัยใหม่มันก็ยิ่งสามารถจัดหนักจัดเต็มในลีลาท่วงท่าฉากต่อสู้ของเกมที่ทำออกมาได้อย่างละเมียดละมัยและดูน่าเกรงขามกว่าภาคก่อนหน้านี้มากคุณจะได้เห็นฉากการต่อสู้มากมายของเหล่าหุ่นจากในอดีตกลับมามีชีวิตชีวาและมีท่วงท่าที่แข็งขันมากกว่าภาพที่เราเคยจดจำได้ในวัยเยาว์ โดยที่มันเจ๋งเข้าไปอีกทอดคือทุก ๆ เอฟเฟกต์ที่เราได้เห็นในเกม “มันคืองานภาพสไตล์ 2 มิติทั้งหมด” ที่มันก็ทำให้เห็นแล้วว่าคู่ควรกับเหล่าหุ่นเหล็กไหลขนาดไหน

แต่ทั้งนี้ตัวเกมมีความน่าเสียดายอยู่อย่างหนึ่งตรงที่อินเตอร์เฟซส่วนใหญ่ของเกมเรียกได้ว่าแทบจะใช้ของเดิมจากภาคก่อน ๆ ทั้งเซ็ต เราเลยพอจะเห็นว่าพวกเขาไม่ได้ใส่ในทุกภาคส่วนเท่าที่ควร (แต่ถ้ามองอีกแง่อินเตอร์เฟซทั้งหลายมันก็ไม่ได้มีความสำคัญกับการเล่นสักเท่าไหร่เลยไม่มีความจำเป็นอะไรจะต้องปรับเปลี่ยนมันล่ะมั้งครับ?)

ภาคล่าสุดที่คนรักหุ่นเหล็กไหลยังคงสมควรต้องเล่น

Super Robot Wars T คือเกมที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมเดิมของซีรีส์ไว้อย่างครบถ้วน และได้พัฒนาให้ในส่วนที่เป็นจุดเด่นตลอดมาอย่างอนิเมชั่นต่อสู้มีความพริ้วไหวและดูดุดันขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งสำหรับใครที่เป็นซีรีส์นี้อยู่แล้ว ในภาคนี้ ก็ยังจะทำให้คุณตกอยู่ในภวังค์ความทรงจำในวัยเยาว์ที่มีให้ต่อเหล่าหุ่นเหล็กไหลเช่นเดิม แต่หากคุณคือผู้เล่นหน้าใหม่ของซีรีส์นี้ก็อาจจะต้องปรับตัวและเข้าใจกลไกการเล่นสักหน่อย แต่เชื่อเถอะครับว่ามันจะคุ้มค่าแน่นอน

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook