Riot พร้อมลุย SEA เตรียมลุยทุกเกม ในทุกประเทศปีนี้!!
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 – Riot Games ประกาศการปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจในภูมิภาคที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วอย่างเอเชียแปซิฟิก (APAC) ด้วยการมุ่งเน้นในเรื่องการนำวัฒนธรรมของผู้บริโภคในภูมิภาคเป็นที่ตั้ง Riot ในฐานะบริษัทชั้นนำในด้านเกมมิ่ง สื่อบันเทิง และแบรนด์ไลฟ์สไตล์เตรียมขยายธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงญี่ปุ่นและอินเดียด้วย
ก่อนหน้านี้ Riot ได้ดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านสำนักงานศูนย์กลางภูมิภาคที่สิงคโปร์ รวมถึงสำนักงานที่ประเทศญี่ปุ่น และในขณะนี้ทาง Riot กำลังจะเปิดสำนักงานธุรกิจแห่งใหม่ใน ฟิลิปปินส์ อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย
เพื่อเป้าหมายในการเป็นผู้นำด้านธุรกิจในเอเชียแปซิฟิก Riot ได้แต่งตั้ง Alex Kraynov อดีตกรรมการผู้จัดการของฝ่ายการดูแลกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) (ประกอบด้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย ละตินอเมริกา บราซิล ตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ และญี่ปุ่น) เข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ยังเป็นการจัดโมเดลการปฏิบัติงานของ Riot ใหม่ด้วยเช่นกัน โดยมีฝ่ายนำเสนอสื่อเป็นด่านหน้า ควบคู่กับเสาหลักทางธุรกิจอื่นๆ เช่น เกม สื่อบันเทิง อีสปอร์ต และด้านธุรกิจ
ด้วยเป้าหมายในการจะเป็นบริษัทเกมที่ใส่ใจผู้เล่นมากที่สุดในโลก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทาง Riot ได้เปิดตัวเกมใหม่มากมาย อย่างเช่น VALORANT, League of Legends: Wild Rift, Legends of Runeterra รวมถึงเกมจาก Riot Forge ได้แก่ Ruined King และ Hextech Mayhem ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เกมต่าง ๆ ของ Riot ภายในจักรวาลของ League of Legends สามารถดึงดูดให้ผู้เล่นมาเข้าร่วมมากกว่า 600 ล้านคนจากทั่วโลก
นอกจากในส่วนของเกมแล้ว Riot ยังได้สร้างสรรค์ Arcane ซีรีส์แอนิเมชันบน Netflix ที่ได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลามจากทั่วโลก และยังขยายการนำเสนอภายในกลุ่มของ Riot Games Music ด้วยการปล่อยตัวคอลเลกชันเพลงที่ไม่จำกัดลิขสิทธิ์ที่มีชื่อว่า Riot Sessions รวมไปถึงการปล่อยอัลบั้มใหม่ของวงเมทัลอย่าง Pentakill ในชื่อ Lost Chapter ยิ่งไปกว่านั้น Riot ยังได้เดินหน้าสู่วงการแฟชั่น ด้วยการทำงานร่วมกับแบรนด์ต่างๆ เช่น Uniqlo เพื่อปล่อยคอลเลกชัน
เสื้อยืดในธีม League of Legends และเมื่อไม่นานมานี้ Riot ก็ยังได้ร่วมงานกับแบรนด์เสื้อผ้าสตรีทในฟิลิปปินส์อย่าง Team Manila ในการสร้างคอลเลกชันชุดพิเศษเพื่อเฉลิมฉลองการเปิดตัว Neon เอเจนท์ชาวฟิลิปปินส์คนแรกในเกมยิงเชิงกลยุทธ์อย่าง VALORANT
นับตั้งแต่การตั้งสำนักงานใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สิงคโปร์ในปี 2018 Riot ก็ได้เติบโตขึ้นอย่างมาก และตอนนี้ Riot พร้อมจะทุ่มเทมากยิ่งขึ้นในการนำเสนอสื่อธุรกิจในภูมิภาคแห่งนี้ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในครั้งนี้จะรวมไปถึงการจัดตั้งสำนักงาน และการแต่งตั้งผู้อำนวยการประจำภูมิภาคในตลาดสำคัญๆ เช่น ฟิลิปปินส์ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และอินเดีย เพื่อมาร่วมกับสำนักงานจัดจำหน่ายของ Riot ที่ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงเสริมกำลังให้กับสำนักงานใหญ่ที่สิงคโปร์โดยการว่าจ้างพนักงานมากกว่า 80 คนจากทั่วทั้งภูมิภาค แผนกหลักในฝ่ายนำเสนอสื่อของเอเชียแปซิฟิกจะประกอบไปด้วยฝ่ายปฏิบัติงานในภูมิภาค ฝ่ายนำเสนอพันธมิตรธุรกิจ ฝ่ายการตลาด ฝ่ายการเติบโตและบริการด้านการตลาด ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ และฝ่ายเทคโนโลยีภูมิภาค
Alex Kraynov กรรมการผู้จัดการของ Riot Games ประจำเอเชียแปซิฟิก กล่าวถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างว่า “นี่ถือเป็นก้าวต่อไปที่ต้องเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็วในการที่เติบโตเพื่อการนำเสนอธุรกิจของเราในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทาง Riot ก็เล็งเห็นและยอมรับว่าเอเชียแปซิฟิกมีศักยภาพที่จะกลายเป็นภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดในโลกของ Riot ได้ ด้วยการมีความหลากหลายที่ซับซ้อน อีกทั้งยังมีคอมมูนิตี้เกมขนาดใหญ่ที่มาพร้อมกับความต้องการที่หลากหลาย รวมไปถึงความต้องการเกมในตลาดมือถืออย่างมากเช่นกัน
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สำนักงานของเราในสิงคโปร์และญี่ปุ่นได้ทำงานอย่างหนักในการปล่อยตัวเกมใหม่ๆ มากมาย รวมถึงการสร้างและดูแลลีกอีสปอร์ตใหม่ๆ ที่น่าเข้าร่วมสำหรับผู้เล่นทุกคน เราตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่งกับการปรับเปลี่ยนที่จะสร้างตัวตนแบบจับต้องได้มากขึ้นในตลาดเอเชียแปซิฟิก เพื่อที่เราจะสามารถเป็นบริษัทเกมที่ใส่ใจผู้เล่นมากที่สุดในโลกต่อไป”
นอกเหนือจากการแต่งตั้ง Alex Kraynov เพื่อนำทัพทีมนำเสนอสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วนั้น Alex ยังได้จัดตั้งผู้บริหารภายในทีมของเขาด้วย ซึ่งประกอบด้วย:
- Shinji Komiyama ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารจัดการภูมิภาค, APAC
- Jennifer Poulson หัวหน้าฝ่ายนำเสนอพันธมิตรธุรกิจ, APAC
- Alasdair Gray หัวหน้าฝ่ายการตลาด, APAC
- Derek Winder หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ, APAC
- Yasushi Fujimoto ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคญี่ปุ่น
- Joel Guzman ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคฟิลิปปินส์
- Resha Pradipta ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคอินโดนีเซีย/มาเลเซีย
ทีมบริหารใหม่นี้จะยิ่งเติบโตและพัฒนาอย่างแข็งแกร่งในปี 2022 และในอนาคต พร้อมตำแหน่งใหม่ๆ ของทีมในอนาคตอย่างที่ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย ผู้อำนวยการประจำประเทศอินเดีย และหัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีภูมิภาค
นอกจากข้อมูลเบื้องต้นที่ทาง Riot บอกกับผู้สื่อข่าวแล้ว ทีมผู้บริหารได้เปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวได้ ถามคำถามกลุ่มผู้บริหารด้วย เราจึงได้รวบรวมคำถามที่น่าสนใจมาให้อ่านกัน
คำถาม : คำถามแรกเป็นการรวมคำถามที่พูดถึงการร่วมมือกับทาง Garena ที่เป็นผู้ให้บริการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวัน ไม่ว่าจะเป็นการที่เกม League of Legends จะยังอยู่กับ Garena ต่อไปมั้ย รวมถึง Teamfight Tactics เวอร์ชั่นมือถือ เมื่อไหร่จะมีการเชื่อมต่อกับเซิฟเวอร์ของ Garena
คำตอบ : ทาง Riot เกมมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับทาง Garena ต่อไปเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้ผู้เล่นของเรา
จากคำตอบนี้ดูเหมือนว่าทั้งสองฝ่ายจะมีความสัมพันธ์ที่ดี และน่าจะมีการพัฒนาในทิศทางที่ดีขึ้นสำหรับเกมที่ทาง Garena เป็นผู้ให้บริการอยู่ซึ่งเราจะต้องติดตามกันต่อไป
คำถาม : ในปีที่ผ่านมา ทางทีมงานได้ปล่อย Agent ใหม่อย่าง Neon ในเกม Valorant ซึ่งมีต้นแบบจากประเทศฟิลิปปินส์ ในอนาคตจะมีตัวละครที่มีต้นแบบจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกมั้ย?
คำตอบ : ตัวละครที่มีต้นแบบจากประเทศใน เอเชียแปซิฟิก มีด้วยกันสองตัว นั้นคือ Neon จากประเทศฟิลิปปินส์ และ Yoru จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในอนาคตเราจะพัฒนาตัวละครใหม่ๆ อีก ตามความเหมาะสมแน่นอนว่ามีโอกาสที่จะมีตัวละครจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีก
เรียกได้ว่าไม่ทิ้งโอกาสไปเสียทีเดียว แต่การออกแบบตัวละครนั้นมีเรื่องราวมากมายที่ต้องคิดถึง ดังนั้นอาจจะต้องรอกันหน่อยสำหรับในอนาคตที่อาจจะมี Agent จากประเทศไทยก็ได้
คำถาม : ถ้า VALORANT Mobile พัฒนาเรียบร้อยแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ที่เอเชียแปซิฟิก (APAC) จะเป็นภูมิภาคแรกที่ได้ลองเล่น
คำตอบ : สำหรับ VALORANT Mobile นั้นเรากำลังอยู่ในการพัฒนา ดังนั้นเรายังอยู่ในช่วงหารือกันอยู่ว่าภูมิภาคไหนจะเป็นภูมิภาคแรกที่ได้ลองเล่น
ต้องบอกว่าสำหรับ เอเชียแปซิฟิก (APAC) เป็นภูมิภาคที่ VALORANT ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก อย่างในประเทศไทยก็มีทีมที่เคยไปลุยในเวทีระดับโลกด้วย ในขณะเดียวกัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็เป็นภูมิภาคที่ได้รับความนิยมในการเล่นเกมบนมือถือ เป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นภูมิภาคแรกๆที่ทาง Riot จะเข้ามาทำการตลาดก็ได้ ถึงแม้ทางทีมผู้บริหารจะยังไม่ได้ยืนยันก็ตาม
คำถาม : การแข่ง PCS ของเกม League of Legends เป็นการแข่งของไต้หวันและ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ปัจจุบันมีทีมที่มาจาก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้แค่ มาเลเซียเท่านั้น ไม่เหลือทีมจากประเทศ ไทย หรือประเทศอื่นๆแล้ว ทางทีมงานมีแผนการในเรื่องนี้ยังไงบ้าง หรือตัดสินใจทิ้งการแข่งขันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปแล้ว
คำตอบ : การแข่งขันนี้เป็นการรวมตัวกันของสุดยอดทีมจากภูมิภาคต่างๆ ในแต่ละปี ซึ่งจะนำการแข่งขันไปสู่ระดับที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่ายังมีทีมที่มาจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีก นอกจากไต้หวัน เช่น Impunity Gaming ที่มีผู้เล่นจากสิงคโปร์ เรามองว่า APAC ยังคงเป็นภูมิภาคที่เปี่ยมด้วยประชากรรุ่นใหม่จำนวนมากที่ชื่นชอบและเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ซึ่งให้ความสนใจในและติดตามเกมการแข่งขันอีสปอร์ต และเราหวังว่าจะมีทีมระดับภูมิภาคเข้าร่วมในฤดูกาลหน้ามากขึ้น ด้วยการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการดำเนินงานของ Riot Games ส่งผลให้วงการอีสปอร์ตกลายเป็นเสาหลักของธุรกิจที่สามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากทีม Publishing และ Enterprise ผ่านความร่วมมือและการให้ความสำคัญทางธุรกิจในวงการอีสปอร์ตที่มากขึ้น เราหวังว่าจะสามารถสนับสนุนระบบนิเวศที่ดีขึ้นสำหรับผู้เล่นและผู้เข้าแข่งขันทุกคนในวงการอีสปอร์ต
เรียกว่าเป็นคำถามที่ผู้ติดตามการแข่งขัน League of Legends เวอร์ชั่น PC ในประเทศไทยตั้งคำถามกันทีเดียวเมื่อ Rockky ผู้เล่นคนสุดท้ายของไทยในระดับประเทศ ไม่ปรากฏตัวใน 2022 Pacific Championship Series (PCS) และทิศทางของผู้เล่นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการแข่งขันก็ลดลงเรื่อยๆ แต่เหมือนทางผู้บริหารเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องนี้ พวกเขามีแผนจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขันในอนาคตเพื่อเปิดรับผู้เล่นรุ่นใหม่ๆ ถือว่าเป็นข่าวดีทีเดียวในกรณีนี้
ต้องบอกว่าในตอนนี้ Riot พร้อมลุยในตลาดเอเชียแปซิฟิกมากขึ้น รวมถึงในประเทศไทยด้วย ซึ่งนั้นจะเป็นผลดีกับผู้เล่นชาวไทยอย่างแน่นอน
Riot Games ก่อตั้งขึ้นในปี 2006 เพื่อพัฒนา เผยแพร่ และสนับสนุนเกมที่มุ่งเน้นผู้เล่นมากที่สุดในโลก ในปี 2009 Riot ได้เปิดตัวเกม League of Legends ซึ่งเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก League กลายเป็นเกม PC ที่มีผู้เล่นมากที่สุดในโลก และเป็น ตัวขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตอย่างรวดเร็วของอีสปอร์ต
เมื่อ League เข้าสู่ทศวรรษที่สอง Riot ก็ได้พัฒนาเกมอื่น ๆ เพื่อส่งทอดประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับผู้เล่นอย่าง Teamfight Tactics, Legends of Runeterra, VALORANT, League of Legends: Wild Rift และอีกหลาย ๆ เกมที่อยู่ในระหว่างพัฒนา Riot ยังได้สร้างและขยายโลกของรูนเทอร์ราผ่านโครงการมัลติมีเดีย ทั้งเพลง หนังสือการ์ตูน บอร์ดเกม และซีรีส์แอนิเมชันเรื่องใหม่ Arcane
ใครที่ไม่เคยรู้จักกับ Riot Games ก็ไปลองเล่นเกมของพวกเขา หรือรับชมซีรีส์แอนิเมชัน Arcane กันได้เลย