ม.กรุงเทพเปิดบ้านผ่าน Metaverse ครั้งแรกในไทย
เมื่อวันที่ 26 - 27 มีนาคมที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยกรุงเทพจัดงานเปิดบ้านผ่าน Metaverse โดยผู้เข้าร่วมงานจะเข้าชมงานผ่านร่าง Avatar ในการพบปะสังสรรค์ของนักเรียน นักศึกษา งานนิทรรศการ และกิจกรรมแนะนำหลักสูตรวิชาต่าง ๆ ชูจุดเด่นสาขาเกม และวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่จะพัฒนาไปอย่างสมบูรณ์ในอนาคต
ดร.ถิรพล วงศ์สะอาดสกุล คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เผยว่า งาน Open House BU 2022 on Metaverse ที่ผ่านมานั้น ผู้ร่วมงานทุกคนจะได้เลือกร่าง Avatar เข้าไปสัมผัสรูปแบบใหม่ในการพบปะสังสรรค์ของนักเรียน นักศึกษา งานนิทรรศการและกิจกรรมแนะนำหลักสูตรคณะ/วิชา ได้ร่วมสนุกและชมความตระการตาของแฟชั่นโชว์และคอนเสิร์ตจากศิลปินชั้นนำ โดยสิ่งที่จัดขึ้นใช้เทคโนโลยีหลากหลายที่อยู่เบื้องหลัง อาทิ
- Virtual reality (VR) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการจำลองสภาพแวดล้อมจริงแบบ 360 องศาเข้าไปโลกเสมือนจริง สามารถรับรู้ได้จากการมองเห็น การได้ยินเสียง และสัมผัส
- Augmented Reality (AR) ผ่านภาพ 3 มิติ เป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ที่เชื่อมต่อสภาพแวดล้อมจริงเข้ากับวัตถุและผู้คนที่สร้างขึ้นในโลกเสมือน เทคโนโลยีนี้สามารถนำไปใช้ผลิตสื่อการเรียนการสอนให้เข้าใจง่ายขึ้น
- Mixed Reality (MR) เพื่อการสัมผัสและสร้างภาพยุคใหม่ที่ผสานโลกจริงเข้ากับจินตนาการ มอบประสบการณ์ใหม่ที่สามารถเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้ทดลองทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเองในโลกเสมือนจริง
สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเราสามารถเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้ทดลองทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเองในโลกเสมือนจริง แบบไร้ข้อจำกัด โดยอาจารย์จะสามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการสร้างสรรค์รูปแบบการเรียนการสอนใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นสาขาเกมและสื่อเชิงโต้ตอบ สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ สาขาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ล้วนเป็นสาขาความรู้ที่เชื่อมโยงอยู่กับเมตาเวิร์สที่หลายภาคส่วนคาดการณ์กันว่าจะพัฒนาไปอย่างสมบูรณ์แบบในอีกไม่เกิน 5 ปี 10 ปีข้างหน้านี้
ทั้งนี้ทางคณบดียังบอกอีกด้วยว่า การออกแบบและพัฒนาโลกเสมือนจริงของงาน Open House BU 2022 on Metaverse ทางมหาวิทยาลัยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากพันธมิตรมืออาชีพด้านการออกแบบและสายงานไอที โดยมีนักศึกษาของคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม เข้าร่วมสังเกตการณ์วิธีการทำงานของมืออาชีพในการสร้างโลกเสมือนจริง รวมถึงนักศึกษาในสายนิเทศที่ได้ร่วมงาน Production แบบ XR และ AR ที่สำคัญ ประสบการณ์ของนักศึกษาที่ได้จากการทำงานครั้งนี้สามารถนำมาต่อยอดการเรียนรู้และฝึกทักษะตนเองในสาขาวิชาที่เรียนได้ต่อไป