พฤติกรรมเด็กเลียนแบบเกม ปัญหาที่พ่อแม่ควรใส่ใจ
ในแวดวงเกมปัจจุบันนั้น เรายังคงได้ยินกันต่อเนื่องกับข่าวอาชญากรรมจากพฤติกรรมการเลียนแบบเกมในเด็กไม่ว่าจะเป็นในหรือนอกประเทศ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่สร้างความสูญเสียชนิดที่ย้อนคืนกลับมาไม่ได้ ทำให้เกิดข้อพิพาทย์เกี่ยวกับเกมมากมายและทำให้เกมยังไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมบ้านเรา
อันที่จริงแล้วพฤติกรรมการเลียนแบบของเด็กนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ดี หากพ่อแม่สามารถดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดีก็จะทำให้เด็กนั้นเลียนแบบแต่ในสิ่งที่ดีๆ แต่ปัจจุบันก็มีตัวแปรต่างๆ ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กเข้ามามากมาย ไม่ว่าจะเป็น ในทีวี, วิทยุหรือหนังสือการ์ตูนต่างๆ ที่มีเสียงหรือภาพที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก นอกจากนั้นยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่ตกเป็นจำเลยในบ้านเรามาช้านาน นั่นก็คือ เกมส์ นั่นเอง
นักวิจัยจาก the Max Planck Institutes for Evolutionary Anthropology and Psycholinguistics พบว่าพฤติกรรมการเลียนแบบของเด็กนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เด็กวัยเพียง 2 ขวบเท่านั้น โดยเด็กจะเริ่มเลียนแบบพฤติกรรมต่างๆ ที่เขาได้พบเห็น ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมของคนจริงๆ หรือว่ามาจากโทรทัศน์ ยิ่งถ้ามีเด็กในวัยเดียวกันทำพฤติกรรมนั้นหลายๆ คน ก็มีโอกาสที่จะลอกเลียนแบบได้ง่าย
ถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยมากมายหลากหลายที่ส่งผลต่อพฤติกรรมเด็ก แต่ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่าเกมเป็นส่วนที่มีผลต่อพฤติกรรมเด็ก เนื่องจากเกมในปัจจุบันถือว่ามีการพัฒนาอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นความสมจริงของภาพและ Graphic รวมไปถึงเนื้อหาที่มีความรุนแรง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เด็กเกิดพฤติกรรมการเลียนแบบได้ง่าย สิ่งแรกๆ ที่เด็กมักจะจำและเลียนแบบมากที่สุดก็คือการแสดงท่าทางเช่นการต่อสู้ และภาษาแปลกๆหรือคำหยาบคาย ที่เด็กๆ มีพฤติกรรมการเลียนแบบก็เพราะว่าในสมองมีเซลล์สมองที่เรียกว่า MIRROR NEURONE หรือ เซลล์กระจกเงา มีหน้าที่ทำความเข้าใจกับท่าทีของผู้อื่นด้วยการเลียนแบบในสมอง แล้วนำความเข้าใจนั้นมาปรับเป็นนิสัยหรือบุคลิกภาพของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นนิสัยรักการเรียนรู้หรือนิสัยการยึดมั่นในคุณธรรม-จริยธรรมและอื่นๆ ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัวถ้าได้ซึมซับเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เพราะจะสามารถจดจำสิ่งต่างๆ ได้เป็นอย่างดี จากที่เคยเสนอข่าวกันไปเกี่ยวเกี่ยวกับคดีที่หนูน้อยวัย 4 ขวบครึ่ง ปลิดชีพพ่อของตัวเองหลังจากที่พ่อไม่ซื้อเครื่อง PlayStation ให้ (http://www.online-station.net/news/game/27817) จะพบว่าเด็กอายุเพียง 4 ขวบครึ่งกลับสามารถใช้อาวุธปืน เพื่อหมายที่จะโจมตีพ่อของเขา ซึ่งถือว่าเป็นผลกระทบจากพฤติกรรมการเลียนแบบที่ค่อนข้างรุนแรงมาก เนื้อหาที่รุนแรง อาจจะไม่ใช่ปัญหาทั้งหมดที่เป็นผลเสียกับพฤติกรรมการเลียนแบบ ล่าสุดในประเทศจีนได้มีข่าวเด็กถูกรถชนได้รับบาดเจ็บสาหัส เนื่องจากเลียนแบบเกม Frogger ที่มีเนื้อหาของเกมเพียงแค่พากบข้ามถนนไปยังจุดหมายเท่านั้นเอง ซึ่งไม่คิดว่าจะมีผลต่อพฤติกรรมการเลียนแบบเช่นนี้
แน่นอนว่าทั่วโลกก็ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นทีวีหรือว่าเกมก็จะมีการกำหนดเรตไว้เพื่อเป็นการแบ่งแยกเนื้อหาให้เหมาะสมกับผู้ชมหรือผู้เล่น แต่สิ่งเหล่านี้มันอาจจะไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิงถ้าขาดคำแนะนำของผู้ปกครอง
สิ่งเหล่านี้เป็นผลกระทบที่ยิ่งใหญ่สำหรับเกมเมอร์ทุกคนในบ้านเรา เพราะผู้ใหญ่หลายคนยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับเกมและแก้ปัญหาปลายเหตุโดยกีดกันเกมออกไปเพราะมองว่าเป็นสิ่งยั่วยุ ซึ่งจริงๆ แล้วสิ่งยั่วยุอื่นๆ อาจจะมีผลกระทบมากกว่าด้วยซํ้าไป ถ้าคอยดูแลชี้แนะให้คำแนะนำและทำความเข้าใจกับสิ่งต่างๆ ที่เด็กบริโภค ก็จะสามารถลดปัญหาในจุดนี้ได้
ในฐานะที่ผู้เขียนก็เป็นเกมเมอร์คนหนึ่งก็อยากจะให้ผู้ปกครองคอยตรวจตราเอาใจใส่ในเรื่องนี้ให้มากขึ้น ควรที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับเกมที่ตัวเขาเล่นให้มากขึ้น เพราะเด็กเหล่านี้อาจจะยังไม่มีวิจารณญาณที่แจะแยกแยะได้ว่าสิ่งไหนควรหรือสิ่งไหนที่ไม่ควร, สิ่งไหนเป็นเรื่องจริงหรือเป็นเรื่องสมมุติ และควรที่จะสังเกตพฤติกรรมอยู่เสมอ ว่ามีท่าทางไปในทางไม่ถูกไม่ควรหรือไม่ หากพบว่าบุตรหลานของท่านเริ่มมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมก็ควรอธิบายให้ลูกเข้าใจ ไม่ควรปล่อยปละละเลยเพราะเห็นว่าเขายังเด็กอยู่และเห็นเป็นเรื่องน่ารัก เพราะเขาจะคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง การได้รับเอาใจใส่ดูและจากผู้ปกครองที่เป็นผู้ใกล้ชิดที่สุดถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อการสร้างพฤติกรรมที่เหมาะสมให้กับพวกเขา ถึงแม้ว่าเด็กบางคนจะอยู่ในวัยที่มีวุฒิภาวะพอจะแยกแยะสิ่งเหล่านี้ได้ แต่ก็ใช่ว่าพวกเขาจะรู้จักแยกแยะกันทุกคน เพราะปัญหาที่ผ่านมาไม่ได้เกิดขึ้นในเฉพาะเด็กเล็กเท่านั้น นอกเหนือจากผู้ปกครองจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งพวกนี้แล้ว ผู้เล่นเองก็ควรที่จะทำให้เขาเชื่อมั่นว่าเราสามารถที่จะแยกแยะสิ่งต่างๆ ด้วย ถ้าต่างฝ่ายต่างไม่เข้าหากัน หรือเข้าหาเพียงแค่ฝ่ายเดียว ก็ยากที่จะทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน สุดท้ายนี้ก็จะขออธิบายความหมายของเรตติ้งเกมที่มักจะเจอบนกล่องเกมเกม PC และ Console เผื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาในการเลือกเกมให้เหมาะสมกับผู้เล่น Entertainment Software Rating Board (ESRB) พบได้บนเกมฝั่งตะวันตก Early Childhood 3-6 (EC-3) เหมาะสำหรับอายุ 3 ปีขึ้นไป
Everyone 6+ (E6+) เหมาะสำหรับอายุ 6 ปีขึ้นไป
Everyone 10+ (E10+) เหมาะสำหรับอายุ 10 ปีขึ้นไป
Teen 13+ (T13+) เหมาะสำหรับอายุ 13 ปีขึ้นไป
Mature (M) เหมาะสำหรับอายุ 17 ปีขึ้นไป
Adults Only (AO) เหมาะสำหรับอายุ 18 ปีขึ้นไป
Computer Entertainment Rating Organization (CERO) พบได้บนเกมญี่ปุ่น
CERO A เหมาะสำหรับทุกวัย
CERO B เหมาะสำหรับอายุ 12 ปีขึ้นไป
CERO C เหมาะสำหรับอายุ 15 ปีขึ้นไป
CERO D เหมาะสำหรับอายุ 17 ปีขึ้นไป
CERO Z เฉพาะผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป
ขอบคุณข้อมูลประกอบบทความจาก http://motherandchild.in.th http://blog.eduzones.com นพ.อุดม เพชรสังหาร