ฝ่ากระแสผีเกมเข้าสิง กับความจริงของเกม!!

ฝ่ากระแสผีเกมเข้าสิง กับความจริงของเกม!!

ฝ่ากระแสผีเกมเข้าสิง กับความจริงของเกม!!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สังคมไทย สังคมแปลก

     เมื่อใดก็ตามที่เกิดปัญหา หรือมีคนตาย แล้วมีเกมไปเกี่ยว “หูย..เกมมันผิด เกมมันเป็นสาเหตุ” (โทษแต่เกม?) คือถ้าสาเหตุมันเกิดมาจากเกม แล้วยังไง นำเกมไปอ้างแล้วโทษของความผิดมันจะลดลงเหรอ? หรือสังคมจะให้อภัย?

     แล้วเมื่อเทียบกับข่าวฆ่าตัวตายเพราะติวหนัก สอบไม่ติด กลับไม่เห็นมีใครโทษระบบการศึกษา หรือหนังสือที่อ่าน ทุกคนกลับคิดว่า “โหย..น่าสงสาร” แล้วถ้าเป็นข่าวฉกกระเป๋าเพราะเป็นหนี้แทงบอล เคยรู้สึกอยากโทษวงการฟุตบอล หรืออยากยุบทีมที่มันแทงกันไหม? คำถามคืออะไรเป็นมาตรฐานในการตัดสินใจของคน หรือว่าประเทศเรามันบ้าเกมมากไป เลยอาจจะนำไปสู่อัตราการเกิดอาชญากรมากขึ้น สงสัยความมั่นคงของชาติอาจกำลังมีภัยเป็นแน่!

     พอไปดูประเทศหลักของวงการเกมอย่าง ญี่ปุ่น หรือเกาหลี เอ๊า..คนไทยกลับชอบ กลายเป็นประเทศที่ไปเที่ยวกันเยอะซะงั้น แล้วรู้กันหรือเปล่าว่าแถวนั้นโคตรจะแหล่งตัวจริงเลย ทั้งผลิตเกมกันอย่างโจ๋งครึ่ม แถมเกมเมอร์เดินกันให้เกลื่อนมากกว่าบ้านเราอีก ไม่กลัวมีอันตรายกันเลยเหรอไง? เมื่อฉุกคิดให้ดี จริงๆ แล้วมันอยู่ที่ความคิดของคนหรือเปล่า

     โดยเฉพาะคนหมู่มากที่เราเรียกว่า “สังคม” ประเทศไทยคิดว่า “เกมคือสิ่งไม่ดี” ที่เกาหลีมองว่า “เกมคือรายได้ของประเทศ” ญี่ปุ่นบอก “เกมคือวัฒนธรรม” เพราะอย่างนี้หรือเปล่า มันเลยทำให้วิถีชีวิตเกิดความแตกต่างกัน

 

เกมคือขยะ มันก่ออาชญากรรม

     เอ..หรือที่จริงแล้ว ประเทศเรามองเห็นถึงปัญหาได้ถ่องแท้กว่าที่อื่น เลยรีบบอกสังคมว่า เฮ้ย! “เกมคือตัวปัญหา” ผมเลยไม่นิ่งนอนใจ ลองค้นข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ เผื่อจะได้รู้สาเหตุที่แท้จริง ก็พบว่า!

ประชากรไทย 65,000,000 คน

เกมเมอร์คิดเป็น 13% = 8,450,000 คน

จำนวนปัญหาอาชญากรรมเกี่ยวกับเกมที่เช็คได้
- ม.6 แทงแท็กซี่ตาย เลียนแบบ GTA
- เด็กเล่นเกม Audition กินข้าวติดคอตาย
- เล่นเกมแฮปปี้คนเลี้ยงหมู โดนขโมยหมูผูกคอตาย

     คือ..ผมไม่เถียงเลยนะ ว่ามันมีปัญหาอาจจะเกิดที่เกมจริง แต่ลองเอาไปเทียบอัตราส่วนกับจำนวนเกมเมอร์ในประเทศดูไหม ว่าอัตราส่วนมันเท่าไหร่ มีเศษจุดศูนย์ๆๆ กี่ตัว? แต่ก็ยังมีสิ่งที่แปลกกว่านั้น โดยเฉพาะ “เรื่องดีๆ ของเกม” ที่ผมได้ยิน เคยได้เห็น ทำไมมันเมื่อลองนับนิ้วดู เฮ้ย! มันมีกว่าคดีปัญญาอ่อนเหล่านี้อีก เอาแค่ในมุมชื่อเสียงของประเทศที่มาจาก “เกม” ธงไตรรงค์ที่โบกโดยคนที่ถูกตราหน้าว่า “เด็กติดเกม” เรื่องเหล่านี้มันหายไปไหน

 

ภาครัฐกับเกม

     เคยรู้กันบ้างหรือเปล่า ว่าเด็กไทยสร้างเกมแล้วคว้าแชมป์โลก มันมีมาแล้วกี่ครั้ง หรือที่จริงแล้วรัฐบาลไทยอาจต้องทบทวนกันใหม่หรือเปล่า เพราะเกมคือสิ่งที่มันไม่ดี สมควรยกเลิกเงินสนับสนุนให้เด็กไทยสร้างเกมกันซะ ส่วนพวกมหาวิทยาลัยต้องกลับไปทำวิจัยกันใหม่ไหมว่า การเปิดหลักสูตรสอนเกี่ยวกับเกม มันเป็นการเสริมสร้างความรู้แบบผิดๆ เพราะเกมมันอาจจะนำไปสู่ความไร้อนาคตหรือเปล่า


     แต่คำตอบที่ได้ก็คือ “เปล่าเลย” เกมมันไม่ใช่สิ่งชั่วร้าย แต่เกมมันถูกใช้เป็นสื่อในด้านดีได้ จะเห็นได้จากโครงการหลายตัวที่ภาครัฐพยายามทำ ทั้งการทำเกมเอง การซัพพอร์ตเงินให้นักพัฒนารุ่นเยาว์ ภาคมหาวิทยาลัยเองก็เล็งเห็นว่าทักษะทีได้จากการพัฒนาเกมนั้น มีคุณประโยชน์ไม่น้อยเลยกับสังคม และเกมนั้นสามารถพัฒนาไปสู่สายอาชีพใหม่ของประเทศได้ ซึ่งนี่ก็เป็นอีกด้านดีอย่างหนึ่งที่ได้เกิดขึ้นไปแล้วในสังคมไทย

 

E-Sport คืออะไร มันน่าเชิดชูจริงเหรอ

     แล้วไอ้สิ่งที่วงการเกมเรียกว่า E-Sport เนี่ย ถามจริงว่ามีกี่คนที่เข้าใจถึงแก่นแท้ของมันจริงๆ สังคมคาดหวังอะไรจากตรงนี้กันแน่? แข่งเกมแล้วต้องรวย มีบ้าน มีรถ มีชื่อเสียงระดับประเทศ เป็นดารา เป็นซุปตาร์? ผมก็อยากรู้เหมือนกันว่าจะมีกี่คนที่มองเรื่องนี้ออก

     เมื่อก่อนเล่นเกมเก่งไร้อนาคต จัดอยู่ในพวกเด็กติดเกม มาถึงวันหนึ่งคนที่เล่นเกมเก่งมีเวทีให้แสดงออก มีเงินรางวัล มีเงินเดือน มีการสนับสนุนกันจริงจัง การแข่งเกมมันทำเป็นอาชีพได้ (เพราะเริ่มมีตัวอย่างให้เห็น) แต่ที่แปลกคือสังคมกลับคาดหวังสูงขึ้น ว่าเฮ้ย! “แล้วแก่ตัวไปไอ้พวกโง่เหล่าเนี่ยจะทำอะไรกิน แข่งเกมมันก็แค่ช่วงหนึ่งของชีวิตเท่านั้นแหละเว้ย” ถามจริงๆ ครับ คุณคิดว่า E-Sport มันเหมือนเปตองเหรอ ที่อายุ 70 ก็ยังโยนลูกเหล็กกันอยู่

     เข้าใจกันไหมว่าการแข่งขันทุกประเภทกีฬา หรือแม้แต่วงการบันเทิง เมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง ก็ต้องไปทำอย่างอื่นกันทั้งนั้น ทางเลือกที่จะยังอยู่ในวงการเกมแล้วทำอย่างอื่น มันก็มี ทุกวันนี้ค่ายเกมเปิดรับสมัครพนักงานใหม่กันทุกวัน ทุกบริษัท แล้วการแข่งเกมน่ะ เงินรางวัลมันเท่าไหร่ นับรวมทั้งปีวงการ E-Sport ไทยเงินรางวัลรวมกี่ล้าน!

วงการคนเล่นเกมจริงๆ ก็มีเกียรติประวัติระดับเวทีโลกมากมาย (จริงๆ มีเยอะกว่านี้อีก)
แต่มีซักครั้งไหม ที่สังคมเคยรับรู้เรื่องพวกนี้ ธงไทยทั้งนั้นนะครับ ที่พวกเขาถือด้วยความภาคภูมิใจ

 

หากินกับเกมทำเป็นอาชีพ มีจริงหรือเปล่า

     เอ..หรือว่านักกีฬาติดเกมมันอาจไม่ใช่คำตอบของสังคม หรือสังคมมองว่า ถ้าเล่นเกมแล้วรวย เสกบ้าน เสกรถ มีอนาคตถึงค่อยมาคุยกัน แล้วความจริงของปัจจุบันในวงการเกมละ? เป็นยังไง

     ในปัจจุบันคนที่รักเกม และใช้ความชอบนี้ทำมาหากินจริงๆ มีอาชีพให้ทำบานตะไท ไล่กันตั้งแต่ มาเป็นสื่อ-เป็นนักเขียน, หรือจะเลือกเดินไปสมัครงานตามบริษัทเกม ซึ่งเงินเดือนก็เลี้ยงตัวเองได้แน่, หรือจะขั้น Advance เปิดบริษัทเองไปเลย ไม่รวยก็เจ๊ง, ทำเกมขายก็ดูเข้าที แต่คุณจะเหนื่อยมาก กว่าที่จะเจอเม็ดเงิน (ไม่ต้องไปอิจฉาต่างประเทศ ที่การสร้างเกมมันลงทุนมากกว่าทำหนังซะอีกนะ เพราะบ้านเขาคนไม่ได้แอนตี้เกม การสนับสนุนจึงทำได้เต็มที่กว่า)

     อันนี้แค่ในมุมของการยึดเกมเป็นอาชีพ ที่กำลังเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นทุกปี และดูเหมือนว่าจะเพิ่มแขนงสาขาอาชีพมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นผมกล้าพูดว่า ถ้าคุณชอบเกม “อนาคตด้านการงานคุณมีแน่” แต่ถ้าจะหวังรวย ซื้อบ้านสุดหรูติดชายทะเล หรือซื้อรถ Lamborghini ซักคัน วงการเกมยังไปไม่ถึงจุดนั้นหรอก เพราะแรงต้านมันก็ยังมีเยอะอยู่

 

วงการเกมมีปัญหาจริง

     แรงต้านมันเกิดมาจากอะไร? มันก็เกิดมาจากสิ่งที่สังคมเห็นพวกเล่นเกม มันทำตัวแย่ๆ ไงละครับ ไอ้ประเภทไม่มีเงินแต่ตะแบงที่จะเล่น หรือประเภทไม่ดูแลตัวเองทำตัวซกมกๆ หรือเรียนแล้วเกรดมันตก หนักสุดก็เกิดความรุนแรงทางอารมณ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สังคมรับรู้ได้ และเป็นเรื่องปกติที่จะถูกเหมารวม!

     ผมก็ไม่ได้สนับสนุนพวกนี้หรอกนะ มันถูกแล้วที่สมควรจะโดนประนาม หยามเหยียด เพราะเป็นพวกแบ่งเวลาไม่เป็น จัดการชีวิตไม่เป็น การเล่นเกม และมีความสุขกับเกม โดยอยากให้คนรอบข้างหรือสังคมยอมรับ มันต้องทำให้เห็นของจริง ว่าการเล่นเกมน่ะ เราได้ประโยชน์อะไรจากมัน ภาษา, ทักษะ, กระบวนการคิด, ไหวพริบ, จินตนาการ หรือแม้แต่รายได้ สิ่งเหล่านี้มันต้องทำให้เกิดเป็นรูปเป็นร่างจริง ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าแค่ทำให้คนในบ้านเข้าใจ แค่นี้ก็ถือว่าคุณประสบความสำเร็จแล้วนะ ในการแสดงให้เห็นว่าเกมไม่ได้ทำให้คุณเสียคน

 

สรุป

     ตราบใดที่กลุ่ม ตาลีบัน ยังไม่เอาเกมไปฝึกผู้ก่อการร้าย ผมว่าเกมมันคงไม่ได้เป็นอะไรที่สุดโต่ง หรือถ้าจำนวนปัญหาอาชญากรรม มันเยอะจนถึงขนาดเกิดขึ้นรายวันเพราะเกม เช่น พากันออกไปล่ามังกรนอกบ้าน หรือพากันหัวโหม่งอิฐบล็อค ผมว่าสังคมก็อย่าพึ่งฟันธงว่าเกมมันคือสิ่งไม่ดี มันคือขยะ

     เพราะยังไงเสีย เกมก็คือวัฒนธรรมของคนในยุคปัจจุบัน เมื่อมันห้ามไม่ได้ ก็ต้องใช้วิธีเข้าใจมันแทน สัจธรรมอย่างหนึ่งบนโลกที่เรามักได้ยิน คือทุกอย่างมักมี 2 ด้านเสมอ สุดท้ายมันก็อยู่ที่ความคิด ความเข้าใจของคน ว่าสำหรับพวกเขาแล้ว เกมคืออะไร อยู่จุดไหนของชีวิต ผมเชื่อว่าทุกคนคิดได้ แต่จะทำได้หรือเปล่ามันอยู่ที่ความตั้งใจของแต่ละบุคคล ขอปิดท้ายด้วยประโยคในตำนานสุดคลาสสิคที่ว่า “มีปัญหา อย่ามาโทษเกม” ขอบคุณสำหรับการติดตามครับ

 

 

///////////////////////////////////////////////////////////////
UKIE เผยเกมไม่ใช่เหตุจูงใจของความรุนแรง
     ดร. Jo Twist ผู้บริหารระดับสูงของ UKIE องค์กรสำคัญที่มีบทบาทในการจัดเร็ตติ้งอายุผู้เล่นวีดิโอเกม กล่าวกับ VG247 ว่า "ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดๆ บ่งบอกว่าการเล่นวีดิโอเกมเป็นมูลเหตุสำคัญของการก่อความรุนแรงต่างๆ หรือเกมเป็นสิ่งจูงใจผู้เล่นให้กระทำการใดๆ ที่เป็นอันตรายต่อสังคมได้" ดร. Jo Twist กล่าว

     "ในความเป็นจริงคือ เด็กสามารถแยกแยะระหว่างความรุนแรงในเกมกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในชีวิต จริงจากแหล่งข่าวต่างๆ ได้ ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ยังคงมองว่าเกมเป็นสิ่งที่ให้ความบันเทิงมากกว่าจะเป็น สิ่งอันตรายนะ ผลสำรวจที่ผมทำขึ้นมาสามารถยืนยันเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี โดย 92% ของผู้ปกครองทั้งหมดแสดงความเห็นไปในทางบวกเมื่อถูกถามเกี่ยวกับความรู้สึก ที่มีต่อเกม"

     เขายังกล่าวอีกว่า บางเกมอาจมีเนื้อหาจำกัดสำหรับคนที่บรรลุนิติภาวะแล้ว ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับหนัง รายการทีวี หรือแม้แต่หนังสือหรือนิตยสารต่างๆ ตามท้องตลาด

เครดิต www.gconsole.com

///////////////////////////////////////////////////////////////

 

เครดิตภาพประกอบ :
หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก และ www.dmhweb.dmh.go.th
www.fpsthailand.com
www.thaiesports.com
www.fapgamer.com

 

สนับสนุนเนื้อหา

โดย  LannaJr.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook