ย้อนอดีตกับเครื่อง Famicom ฉลองครบรอบ 30 ปี
Famicom หรือ Family Computer เครื่องเกมส์ที่แม้จะไม่ใช่เครื่องแรกของโลก แต่ผมเชื่อว่ามันเป็นเครื่องแรกของบรรดาเกมเมอร์ชาวไทยจำนวนมาก ที่เมื่อตอนเด็กๆได้จับเจ้าเครื่องเกมส์นี้เล่นเป็นเครื่องแรก บทความนี้อาจจะดูเหมือนบทความดักแก่ไปสักหน่อย แต่ก็อยากจะเขียนขึ้นมาเพื่อรำลึกถึงเครื่องเกมส์แรกในชีวิตของใครหลายคน ที่ตอนนี้ Famicom มีอายุครบรอบ 30 ปีแล้ว เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2013 ที่ผ่านมา จะว่าไปเราแก่กว่าเครื่อง Famicom อีกนะเนี่ย -*- ว่าแล้วผมก็ขอรวบรวมเหตุการณ์ในวัยเด็กที่เคยเล่นเกมส์เครื่อง Famicom มาเล่าสู่กันฟัง และเชื่อว่าหลายคนคงเคยผ่านเหตุการณ์นี้มาแล้ว
1. ตลับแท้แสนจะแพง!
เมื่อเทียบกับราคาเครื่องเกมส์ Famicom ที่ประมาณสองพันแล้ว ตลับแท้ของเครื่อง Famicom มีราคาที่ค่อนข้างแพงมาก เกมส์ดังๆออกใหม่ตลับหนึ่งราคาก็เป็นพันแล้ว ขนาดเกมส์ที่เก่าลงมาหน่อย ขายมือสองก็ยังราคาประมาณ 600-700 เลย เรียกว่าซื้อตลับเกมส์เดียวก็เกือบจะซื้อเครื่องเกมส์ใหม่ได้หนึ่งเครื่องเลย แถมตอนไปเล่นร้าน ถ้าเกิดมีคนเล่นเกมส์ที่เราเล่นอยู่ล่ะก็ต้องรอมันเล่นจบ เราจึงจะได้เล่น เพราะตลับมันแพง ร้านซื้อมาเยอะไม่ไหว แต่พอหลังจากเริ่มหมดยุคเครื่อง Famicom ก็มีพี่จีนช่วยผลิตตลับเกมส์ก็อปออกมาให้เล่นกัน โดยมีราคาถูกกว่าตลับเกมส์ของแท้มาก แถมตลับหนึ่งยังยัดลงได้ตั้งหลายเกมส์ แต่มีข้อเสียคือมันก๊องแก๊งพังง่ายเอามากๆ
ดูออกกันไหม? อันไหนตลับแท้ อันไหนตลับปลอม
2. ตลับเสียบไม่ติด
ปัญหาใหญ่ที่สุดเลยในยุคที่ต้องเล่นเกมส์เสียบตลับก็ว่าได้ ซึ่งมันก็คล้ายๆกับการเสียบ RAM กับ PC นั่นเอง เมื่อแถบทองแดงของตลับหรือที่ช่องเสียบตลับมีบางอย่างมาขัดขวางการส่งข้อมูล ก็ทำให้เกิดปัญหาเสียบตลับเกมส์ไม่ติดได้ง่ายมาก ตอนเด็กๆที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์หลายคนก็มักจะใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการเป่าตลับ หรือเป่าช่องเสียบตลับแทน ซึ่งมันเป็นวิธีแก้ที่ผิด เพราะความชื้นจากลมเป่าของคนจะทำให้เกิดสนิมได้ แถมการเป่าถึงจะแก้ได้แต่ก็แค่ชั่วคราวเท่านั้นเอง และยิ่งถ้าเล่นตลับปลอมของพี่จีนแดงแล้วล่ะก็ ปัญหาเสียบไม่ติดจะแรงขึ้น 3 เท่า
สภาพนี้ เสียบไม่ติดก็ไม่แปลก
เป่าปู้ดดดดด!
3. เอาจอย 1 มา!
สำหรับใครที่เป็นลูกโทนเล่นเกมส์คนเดียวก็คงไม่มีเหตุการณ์นี้ แต่ถ้าเกิดมีพี่น้องและเล่นเกมส์ด้วยกันล่ะก็ผมเชื่อว่าต้องเคยเจอเหตุการณ์นี้สมัย Famicom แน่ๆ เพราะเครื่องมันมีปุ่ม Select Start แค่ที่จอย 1 เท่านั้น จอย 2 ไม่มีครับ ดังนั้นอำนวจเบ็ดเสร็จเวลาเล่นเกมส์ Famicom จะอยู่ที่จอย 1 ทั้งหมด ว่าเริ่มเกมส์เมื่อไหร่ เล่นโหมดไหน เล่นกี่คน แถมได้เริ่มเล่นก่อนสำหรับบางเกมส์ที่ต้องผลัดกันเล่นด้วย ส่วนจอย 2 ก็เป็นเบี้ยล่างเดินตามจอย 1 อย่างเดียวล่ะครับ แต่สมัยนี้ปัญหานี้หมดไปแล้ว เพราะจอยไหนก็กดเริ่มเกมส์ได้เหมือนกันหมด แต่จอย 2 แฟมิคอมมีอย่างหนึ่งที่จอย 1 ไม่มีนั่นคือมีไมค์ที่จอยด้วย แต่มันก็รองรับแค่ไม่กี่เกมส์เท่านั้นเอง
หน้าตาจอย 2 ของแท้เป็นแบบนี้แหละ
4. ปิดเกมส์อย่างไร?
อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ถกเถียงกันอย่างมากว่า Famicom ควรปิดเกมส์อย่างไรจึงจะถูก เพราะถ้าคุณเล่นร้านเกมส์ และถอดตลับออกดื้อๆทั้งๆที่เกมส์ยังเปิดอยู่ล่ะก็ อาจจะโดนเจ้าของร้านตบเกรียนเอาได้ง่ายๆ เพราะเชื่อกันว่าถ้าถอดตลับออกก่อนปิดเครื่องจะทำให้ตลับเสื่อมและเครื่องเสีย ว่ากันว่าควรปิดเครื่องก่อนแล้วค่อยถอดตลับ ซึ่งตามทฤษฎีแล้วมันก็น่าจะใช่ แต่ความจริงแล้วอะไรถูกอะไรผิดก็ไม่ทราบได้เหมือนกัน บางคนยิ่งหนักกว่าบอกกด Reset ก่อนค่อยปิดเครื่องก็มี เง้อ! เกี่ยวกันไหมเนี่ย
เครื่องแท้จะมีคำอธิบายภาษาญี่ปุ่น บอกให้ปิดสวิทช์ก่อนดันตลับออกด้วยนะ
5. แว๊ก! เกมส์ค้าง
เหตุการณ์สืบเนื่องมาจากข้อ 2 เพราะตลับเกมส์ค่อนข้างเปราะบางมาก และยิ่งเก่ามันก็จะเริ่มเสียบติดยาก ไม่เพียงเท่านั้นมันยังทำให้เกมส์ค้างง่ายขึ้นด้วย คนที่เคยเล่น Famicom ผมเชื่อว่าคงเคยเจอเหตุการณ์นี้ แบบว่ากำลังเล่นๆเกมส์อยู่ จากนั้นก็มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นเช่น คุณแม่ถูบ้านมาโดนเครื่อง, แมวเดินผ่าน, น้องสะดุดสายไฟ ฯลฯ แค่สัมผัสเพียงน้อยนิดเกมส์ก็จะค้างทันที ใครที่เล่นเกมส์ถึงบอสใหญ่แล้วเจอแบบนี้เข้าไปคงหมดอารมณ์เล่นต่อ
แค่สะกิดมันนิดๆหน่อยๆ ก็เละแบบนี้แล้ว
6. จดสูตรยิกๆ
เกมส์สมัยก่อนไม่มี Memory Card หรือ Hard Disk Drive ให้เก็บข้อมูลแบบสมัยนี้นะครับ สำหรับเกมส์ที่ต้องเล่นนานมากถึงจะจบเกมส์ได้หรือพวกเกมส์ RPG ทั้งหลายยุคแรกๆ เค้าก็จะมีระบบจดสูตร ไว้สำหรับให้เราจดและมาเล่นกันต่อในภาคหลัง ซึ่งสูตรบางเกมส์มันไม่ใช่สั้นๆเลยครับ บางเกมส์อาจจะแค่ 1 บรรทัด บางเกมส์ 2 บรรทัด แต่บางเกมส์มันล่อไป 5 บรรทัดก็มี โดยเกมส์ที่จดสูตรยาวมากที่สุดที่ผมจำความได้ก็คือ Dragon Quest II , Jump World และ กัปตันซึบาสะ ไม่แน่ใจว่ามีเกมส์ไหนยาวกว่านี้ไหมแต่แค่ 2 เกมส์แรก ก็ไม่พอสำหรับสมุดจด 1 เล่มแล้ว ยิ่งถ้าวันไหนจดผิดล่ะก็ ฝันร้ายเลยทีเดียว
สูตรของ Rockman ต้องวาดตารางกันเลยทีเดียว
7. ถ่านหมดเซฟหาย!
เหตุการณ์ต่อจากข้อ 6 หลังจากคนเล่นบ่นเรื่องจดสูตรยาว ตลับเกมส์แฟมิคอมเค้าก็พัฒนาโดยการใช้ระบบ Save เกมส์ ซึ่งใช้ถ่านกลมๆแบบถ่านนาฬิกาข้อมือ แต่ก็อย่างที่ทราบกันว่าตลับเกมส์มันก็เปราะ ดังนั้นถ่านเก็บเซฟมันก็ไม่ทนไปกว่ากันหรอก แค่ทำตลับตกพื้นก็มีสิทธิ์เซฟหายแล้ว แถมใช้ไปนานๆพอถ่านเสื่อมก็เซฟหายอีกเช่นกัน ยิ่งใครซื้อตลับเกมส์มือสองมาก็ต้องเช็คดูถ่านเซฟให้ดีๆด้วยว่ามันหายไปหรือถ่านหมดหรือยังไม่งั้นก็เซฟไม่ได้ ผมยังจำได้ว่าตอนผมอายุ 10 ขวบก็ใช้บัดกรีเชื่อมตะกั่วให้สายไฟกับถ่านในตลับเกมส์แล้วตอนนั้น เพราะมันจำเป็นจริงๆ
ถ่านเซฟในตลับเกมส์แฟมิคอม
8. 999 Games in 1
ผลงานชิ้นโบว์แดงจากพี่จีน ที่ยัดเกมส์ถึง 999 เกมส์ในตลับเดียว แต่จริงๆแล้วเกมส์มันมีไม่ถึง 30 เกมส์หรอก แค่เปลี่ยนชื่อเปลี่ยนไตเติ้ลเปลี่ยนสีตัวละครเท่านั้น ตัวเกมส์ซ้ำกันเป็นร้อยๆ
อันนี้เทพกว่า! 999999999 In 1
9. เอาเหรียญแหย่ช่องจอยเสริมด้านหน้า
จอยของแฟมิคอมเค้าให้มา 2 จอย แต่ก็มีช่องจอยเสริมด้านหน้าไว้เสียบอุปกรณ์เสริมหรือจอย 3 ด้วย แต่เนื่องจากจอยเสริมของแฟมิคอมนั้นแพงมาก ไอ้ช่องข้างหน้าก็เลยไร้ประัโยชน์ จนไม่รู้มีใครคิด เอาเหรียญแหย่ช่องด้านหน้านี้ เพื่อเปิดใช้สูตรเกมส์บางเกมส์ได้ ผมจำได้ว่าเคยใช้กับตอนเล่นเกมส์ Star Wars เท่านั้นเอง แถมเอาเหรียญแหย่ไปโดนไฟดูดอีกต่างหาก
ถ้าไม่กลัวไฟดูด ก็แหย่เลย!
10. FR 102 และ FR 202 บลาๆ
คนที่มาเล่นเกมส์แฟมิคอมยุคท้ายๆแล้ว คงจะได้เจอกับสองเครื่องนี้แทน Family Computer ที่เป็นออริจินัลของนินเทนโด โดยเครื่องพวกนี้ผลิตโดยบริษัท Third party ที่ทำออกมาเหมือนกันเท่านั้น ไม่ใช่ของที่นินเทนโดผลิตเอง ก็เลยทำให้ราคาเครื่องถูก แถมยังมีจอยปืนแถมให้ด้วย ถ้าจำไม่ผิดของยี่ห้อ Family นี้ทำถึง FR 40X ที่เป็นเครื่อง Super Famicom กันเลย
ของยี่ห้อ Family เค้าดีจริงอะไรจริง
สำหรับเหตุการณ์ที่น่าประทับใจ (จริงเหรอ) ของเครื่องเกมส์แฟมิคอมสำหรับผมเท่าที่จำได้และนำมาเล่าสู่กันฟังทั้งหมดก็มีหลักๆ 10 ข้อนี้ ถ้าเพื่อนๆเกมเมอร์มีเหตุการณ์ที่น่าจดจำสมัยแฟมคอมอื่นๆก็สามารถนำมาแชร์กันได้ที่ Comment ด้านล่างนะครับ