เกม ทำให้ผู้เล่นมีพฤติกรรมก้าวร้าวขึ้นจริงหรือ ?
เกมเมอร์อย่างเราๆ คงจะได้ยินกันมาจนเริ่มชินชาแล้ว ว่าเวลาที่มีเรื่องมีราวหรือปัญหาสังคมแง่ลบที่มีเด็กเข้ามาเกี่ยวข้อง จะต้องถูกจั่วหัวก่อนว่า "พฤติกรรมเลียนแบบเกม" ทุกครั้งไป ทำให้เกมตกเป็นเป้าหมายที่คนทั่วไปเริ่มพากันต่อต้าน
แต่ว่า... เกมมันทำให้ผู้เล่นมีพฤติกรรมก้าวร้าวจริงหรือ? จริง อยู่ที่เกมจากตะวันตกหลายเกมเริ่ม Hardcore มากยิ่งขึ้น มีทั้งปาดคอ แทงกัน ยิงกัน ไล่ฆ่าชาวเมืองเล่นเพื่อความสนุก ตามสไตล์ของเกมยุคใหม่ที่เน้นความมันส์สะใจ หากมีคนอื่นมาเห็น หรือพ่อแม่มาเห็นอะไรแบบนี้ ก็มักจะเข้าใจว่าเกมที่ลูกเล่นเป็นเกมที่รุนแรง ยิ่งเห็นบ่อยหลายๆ เกมเข้าไปก็จะเริ่มมองว่าเกมมีแต่เรื่องราวรุนแรง จนปลูกฝังและเหมารวมไปว่า "เกมเป็นสื่อบันเทิงที่มีความรุนแรง"
แต่จากที่กล่าวไป ถึงรุปแบบเกมบางเกมจะพัฒนาไปในรูปแบบที่ Hardcore มากขึ้น Action มากขึ้น เลือดสาดมากขึ้น เพื่อความมันส์สะใจ แต่ก็ไม่มีเหตุอะไรให้เกมเมอร์ทั้งหลายต้องมาทำพฤติกรรมอะไรเลียนแบบเกมเลย อาจ มีบ้างที่เด็กไม่บรรลุนิติภาวะที่คิดเท่าไม่ถึงการณ์ และคิดว่าการเลียนแบบตัวละครเอกในเกมจะทำให้ดูเท่ขึ้น หรือมีความกล้า ฮึกเหิมมากยิ่งขึ้น เพราะตัวผู้เขียนเองก็เคยผ่านช่วงเวลาแบบนั้นมาก่อน เคยอยากลองเป็นตัวเอกในเกม อยากเป็นฮีโร่ในสมัยเด็กๆ
แต่ทว่า เกมทุกเกมที่มีความรุนแรง โหดเลือดสาดก็มีเรทของเกมกำกับเอาไว้เสมอ ว่าอายุเท่าไรควรจะเล่นได้ และถ้าอายุยังไม่ถึง ก็ยังมีเกมอยู่มากมายที่ไม่จำกัดวัย และไม่มีความรุนแรงมากนัก ซึ่งเป็นหน้าที่ของสถาบันครอบครัวที่ควรจะเข้ามาควบคุมในส่วนนี้อย่างใกล้ชิด เพราะเด็กที่ยังไม่บรรลุภาวะ มีโอกาสเสี่ยงที่จะทำตัวเลียนแบบเกมได้สูง คนนอกอย่างบริษัทผู้ให้บริการเกม หรือคนขายเกมก็ไม่สามารถควบคุมเด็กได้ทั้งหมดแน่นอน หรือถ้าหากกลัวควบคุมไม่ได้จริงๆ ก็ควรหากิจกรรมอื่นให้เด็กทำแทนเช่นเล่นกีฬาเป็นต้น
อ่านมาถึงตรงนี้ อาจมีคนไม่เห็นด้วยและถามว่า "บางคดีก็เกิดจากเด็กวัยรุ่นที่บรรลุนิติภาวะแล้วเหมือนกัน ยังไงเกมก็เป็นสื่อบันเทิงที่ทำให้คนก้าวร้าวขึ้นอยู่ดี" บางทีก็ก่อคดีฆาตกรรมโดยใช้วิธีคล้ายกับเกมที่เล่น อันนี้ผมก็ไม่เถียงครับ ว่ามีอยู่จริง แต่จะเร็วไปไหมที่สรุปว่าทุกคดีที่เกิดขึ้นในทำนองที่คล้ายเกม จะเกิดมาจากการเล่นเกมทุกครั้งไป? ผมเชื่อว่าหลายคนเล่นเกมไล่ยิงคนเลือดสาด ฟันคอขาด แล้วหัวเราะสะใจ แต่พอปิดเกมแล้วก็กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ไม่ได้เอาไปใช้ในชีวิตจริงแต่อย่างใด
บ้างก็เอาผลวิจัยมาอ้างว่ามีบางคนที่เล่นเกม Hardcore จะมีพฤติกรรมก้าวร้าว หรือก่อคดีเลียนแบบในเกม แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนไปที่จะเป็นเช่นนั้น เพราะทุกคนเล่นเกมจะได้รับความรู้สึกที่แตกต่างกันแม้จะเป็นเกมเดียวกันก็ตาม บางคนสะใจ, บางคนเฮฮา, บางคนอินกับบทบาทสุดดราม่าจนน้ำตาไหล, บางคนอาจกดดันแทนตัวละครในเกมตามสถานการณ์ต่างๆ, หรือบางคนอาจจะก้าวร้าวจริงตามที่ผลวิจัยอ้าง
แต่ผลแค่นั้นยังไม่พอหรอกครับ ความรู้สึกของคนแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นยังต้องถามเพิ่มเติมอีกด้วยว่าคนที่เล่นเกมแล้วก้าวร้าว เป็นเพราะเกมอย่างเดียวจริงหรือไม่? เพราะในทุกๆ วันคนเราจะต้องพบเจอกับผู้คนมากมาย เสพย์สื่อต่างๆ ทั้งละครทีวี ข่าวสารบ้านเมือง หรือแม้แต่สภาพแวดล้อมที่เขาใช้ชีวิตอยู่ในแต่ละวัน ที่อาจจะมีบางอย่างทำให้คนๆ นั้นเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีบ้างก็เป็นได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีใครรู้ดีไปกว่าเจ้าตัวเองแน่นอน
สรุปแล้ว...
เกมเป็นแค่สื่อบันเทิงอย่างหนึ่ง ที่สามารถก่อให้เกิด "พฤติกรรมเลียนแบบ" ได้ สิ่งนี้ผู้ใหญ่ควรทำความเข้าใจกับมันให้ดี เพราะสำหรับเด็กเล็กแล้วอาจคิดว่าการเลียนแบบนั้นดูดี ส่วนวัยรุ่นหรือเด็กโตที่มีภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ความกดกัน ความตึงเครียดในชีวิตครอบครัว หรือด้านการเรียน ก็ต้องวิเคราะห์กันให้ลึกครับว่าเขาเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวเพราะอะไร ผู้ปกครองเข้าอกเข้าใจเด็กและวัยรุ่นมากน้อยแค่ไหน แล้วทำไมบางคนถึงเล่นเกมแล้วไม่ก้าวร้าว? เพราะ ถ้าจะฟันธงว่าทุกคนเล่นเกมแล้วต้องก้าวร้าวขึ้น ป่านนี้ทั่วโลกอาจเต็มไปด้วยอาชญากรที่เพิ่งจะได้เล่นเกม Payday2 หรือ Grand Thief Auto V ไปแล้วล่ะครับ
ป.ล.บทความนี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนหนึ่งของตัวผู้เขียนเท่านั้นครับ