ทำไมคนโบราณชอบ “เคี้ยวหมากพลู”? มีประโยชน์หรือโทษอย่างไรบ้าง?
คนรุ่นนี้อาจไม่เข้าใจว่าทำไมคนเฒ่าคนแก่ถึงชอบเคี้ยวหมากกันจนฟันดำปิ๊ดปี๋ ยิ่งวันไหนที่คุณตาคุณยายไม่ได้เคี้ยวหมาก คงจะหงุดหงิดงุ่นง่านจนไม่เป็นอันทำอะไร จริงๆ แล้วการเคี้ยวหมากเป็นวัฒนธรรมการกินอย่างหนึ่งของคนไทย และคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสมัยก่อนมีความเชื่อว่า คนที่มีฟันดำสนิท คือคนคนสวย คนงาม ดังนั้นจึงไม่แปลกที่คนในสมัยก่อน ทั้งวัยหนุ่มสาว และวัยชรา พยายามที่จะมีฟันดำสนิทที่สุดเท่าที่จะทำได้จากการกินหมาก
คนที่จะกินหมาก จะมี “เชี่ยนหมาก” เป็นของตัวเอง มีทั้งหมาก และอุปกรณ์อื่นๆ ได้แก่ เต้าใส่ปูน ตะบันหมาก ยาเส้น กรรไกรหนีบหมาก ซองใส่พลู ขี้ผึ้งเคลือบริมฝีปากไม่ให้ปากตึงเพราะยางหมาก และน้ำปูน และของใช้ส่วนตัวอื่นๆ ของเจ้าของเชี่ยนหมาก
ในแต่ละคำของหมาก จะประกอบไปด้วย ปูนแดงจากเต้าปูน ใบพลู หมากชิ้นบางๆ (หมากสด หรือหมากแห้ง) เมื่อม้วนใส่ปากแล้วเคี้ยวจนจืดก็จะคายหมากทิ้ง ส่วนยาเส้นจะปั้นเป็นก้อนเล็กๆ แล้วนำมาขัดฟันเพื่อเอายางของหมากพลูออก และสุดท้าย ขี้ผึ้ง ใช้ทาริมฝีปากเพื่อป้องกันริมฝีปากแห้งแตก
เมื่อปี 2485 สมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สั่งห้ามประชาชนเคี้ยวหมาก และบ้วนหมากในที่สาธารณะ เพราะมองว่าการกินหมากทำให้ฟัน และปากแดงคล้ำ ดูเลอะเทอะไม่น่ามองสำหรับชาวต่างชาติที่เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในประเทศไทย ดังนั้นวัฒนธรรมการทานหมากจึงค่อยๆ เลือนไปเรื่อยๆ คงเหลือแต่ผู้เฒ่าผู้แก่ตามต่างจังหวัดบางคนที่ยังวนรำลึกถึงการกินหมากอยู่
อย่างไรก็ตาม หมากพลู มีประโยชน์ และโทษที่เราควรทราบ ดังนี้
ประโยชน์ของหมากพลู
- ใบพลูสด แก้ปวดฟัน รำมะนาด แก้อาการมีกลิ่นปาก ช่วยขับลมในลำไส้ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ และทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า
- ปูนแดง นิยมใช้เป็นกระสายยา แก้บิด และท้องเสีย
- หมาก และใบพลู มีสารอัลคาร์ลอยด์ที่เชื่อว่ามีส่วนช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสดชื่น เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ และเพิ่มอุณหภูมิของผิวหนังในร่างกาย
โทษของหมากพลู
- ผู้ที่เคี้ยวหมากพลูเป็นประจำ อาจมีอาการแสบร้อนในปากเมื่อทานอาหารรสเผ็ด
- อาจพบรอยฝ้าขาวบนเพดานปาก กระพุ้งแก้ม และริมฝีปาก รวมถึงมีแผลในปาก น้ำลายน้อยหรือมากเกินไป ซึ่งทั้งหมดเป็นอาการของโรคพังผืด (ใต้เยื่อบุผิว) ของช่องปาก (submucous fibrosis) โดยโรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และหากมีอาการลุกลามมากๆ อาจทำให้ทานอาหารไม่ได้เลยทีเดียว
- ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก พบว่าการเคี้ยวหมากอาจมีส่วนในการเพิ่มอัตราในการพบผู้ป่วยโรคมะเร็งในช่องปากในเอเชียตะวันออก และสัดส่วนของผู้ป่วยในวัยสูงอายุมากกว่าวัยอื่นๆ อีกด้วย
ดังนั้น อาจเป็นการดีที่ในสมัยนี้เราเลิกเคี้ยวหมากพลูกันแล้ว อย่างไรก็ตามประโยชน์ของหมาก พลู และปูนแดงเมื่อแยกส่วนกันก็สามารถทำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ นอกจากนี้หมากทั้งสด และแห้งยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้กับคนประเทศได้ดีอีกด้วย ดังนั้นอย่าลืมแนะนำหมาก และพลูให้กับชนรุ่นหลังได้รู้จัก และได้ลิ้มลองกันด้วยนะคะ