เตรียมพร้อมอย่างไรก่อนบริจาคโลหิต

เตรียมพร้อมอย่างไรก่อนบริจาคโลหิต

เตรียมพร้อมอย่างไรก่อนบริจาคโลหิต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รศ.พญ.ศศิจิต เวชแพศย์

ภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด

Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

คำว่า “โลหิต” อาจฟังดูน่าหวาดเสียวและน่ากลัวสำหรับคนบางคน แต่สำหรับโรงพยาบาลแล้ว โลหิตเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญในการรักษาผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยผ่าตัด ผู้ป่วยโรคเลือด ผู้ป่วยมะเร็ง รวมทั้งการรักษาหลายๆ อย่างในปัจจุบันนี้ จะไม่สามารถทำได้หากไม่มี

 

โลหิตมีความสำคัญอย่างไร

ในร่างกายคนเรามีเลือดไหลเวียนอยู่ในตัว เพื่อทำหน้าที่ลำเลียงอาหาร น้ำ ออกซิเจนไปทั่วร่างกาย ขณะเดียวกันก็นำสารพิษ ของเสีย และคาร์บอนไดออกไซด์จากส่วนต่างๆ เพื่อนำไปกำจัดออกจากร่างกายเพื่อให้ร่างกายทำหน้าที่ได้อย่างปกติ ในเลือดมีทั้งของเหลว (ส่วนน้ำ) และเซลล์ชนิดต่างๆ ซึ่งมีหน้าที่ต่างกัน กล่าวคือ

เม็ดเลือดแดง ทำหน้าที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อ และนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เนื้อเยื่อออกไปขับถ่าย เม็ดเลือดแดงมีปริมาณประมาณร้อยละ40–45 ของเลือดทั้งหมด และมีอายุเพียง 120 วัน

เม็ดเลือดขาว ทำหน้าที่ให้ภูมิคุ้มกันเหมือนทหารปกป้องเชื้อโรคในร่างกาย มีปริมาณประมาณ 1% ของเลือด

เกล็ดเลือด ทำหน้าที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว มีลักษณะเป็นชิ้นส่วนของเซลล์ขนาดเล็ก มีอยู่ประมาณ 5% ของเลือด 

พลาสมา เป็นสารน้ำสีเหลือง มีโปรตีน เกลือแร่ ไขมัน ฮอร์โมน ไวตามิน มีปริมาณร้อยละ 55 ของเลือด

 

ประเภทของหมู่โลหิต (กรุ๊ปเลือด)

โลหิตที่อยู่ในคนไทยเรา แบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท คือ

  1. หมู่โอ พบร้อยละ 38
                 
  2. หมู่เอ พบร้อยละ 21
     
  3. หมู่บี พบร้อยละ 34
      
  4. หมู่เอบี พบร้อยละ 7

 

นอกจากนี้ในหมู่เลือด เอ,บี,โอ แต่ละชนิดจะพบว่าประมาณ 1 ถึง 3 คน ในจำนวนประชากร 1,000 คน จะมีหมู่เลือดอาร์เอ็ชลบ ซึ่งเป็นหมู่โลหิตที่หายากหรือหมู่โลหิตพิเศษ เท่าที่พบมา เราพบว่าหมู่โลหิตโอเป็นหมู่โลหิตที่หาง่าย เมื่อเทียบกับหมู่โลหิตประเภทอื่นที่บริจาคกันเข้ามา สำหรับผู้ที่ไม่เคยบริจาคโลหิตมาก่อน แต่อยากช่วยเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไม่ยากเลยค่ะ

 

คุณสมบัติของผู้บริจาคโลหิต

  • เป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว

  • อายุ 18 – 60 ปี

  • น้ำหนักตั้งแต่ 45 กิโลกรัมขึ้นไป

  • ไม่อยู่ในระหว่างรับประทานยาปฏิชีวนะ ยาป้องกันเลือดแข็งตัว ฮอร์โมนเพศ

  • ไม่มีประวัติเป็นโรคมาลาเรียในระยะเวลา 3 ปี

  • ไม่ได้รับการถอนฟันหรือขูดหินปูน ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนบริจาคเลือด ไม่มีบาดแผลสดหรือแผลติดเชื้อใดๆ ตามร่างกาย

  • ผู้หญิงที่ไม่อยู่ในระยะตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

 

ใครบ้างที่ไม่สามารถบริจาคโลหิตได้

  • ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคปอด มะเร็ง ลมชัก โรคเลือดออกง่ายแต่หยุดยาก

  • ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นไวรัสตับอักเสบบีหรือคู่ครอง (สามีหรือภรรยา) เป็นไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี รวมทั้งผู้ติดเชื้อเอสไอวีหรือซิฟิลิส

  • ผู้เสพยาเสพติดชนิดใช้เข็มฉีดยา

  • ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ มีคู่นอนหลายคนหรือเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ ผู้ชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย

  • น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ มีต่อมน้ำเหลืองตามร่างกายโต หรือมีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ

 

เตรียมพร้อมอย่างไรก่อนบริจาคโลหิต

การเตรียมตัวก่อนบริจาคโลหิต เพื่อมิให้ผู้บริจาคโลหิตอ่อนเพลียมากหลังบริจาคโลหิต ผู้บริจาคโลหิตจึงควรเตรียมตัวดังนี้

  • ก่อนบริจาคโลหิต 1–2 วัน ควรดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อให้ร่างกายสดชื่น เลือดไหลเวียนดี

  • งดดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

  • ไม่ควรเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายที่ต้องเสียเหงื่อมากก่อนบริจาคโลหิต 1 วัน

  • รับประทานอาหารก่อนบริจาคโลหิตประมาณ 4 ชั่วโมง

  • นอนหลับพักผ่อนเพียงพอประมาณ 6 ชั่วโมง

 

แต่ละครั้งโรงพยาบาลต้องการโลหิตประมาณ 350–450 ซีซี /คน ซึ่งปริมาณจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของผู้บริจาค และเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับโลหิตที่ปลอดภัย โลหิตที่ได้จะต้องผ่านกระบวนการทดสอบก่อนนำไปให้ผู้ป่วยคือ ตรวจหาไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ซิฟิลิส และตรวจหาไวรัสเอดส์

 

รับประทานอะไรหลังบริจาคโลหิต

  • หลังการบริจาคโลหิตเสร็จแล้ว ควรนั่งพักประมาณ 10-15 นาที รับประทานขนมหรืออาหารว่าง ดื่มน้ำ/เครื่องดื่ม 1-2 แก้วแล้วรับประทานอาหารตามปกติ ไม่ควรงดอาหาร โดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ตับ ไข่ เลือดหมู เลือดไก่ ผักใบเขียวและผักที่มีสีเหลือง

  • งดสูบบุหรี่หลังบริจาคโลหิตอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง งดดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และถ้าจะดื่มผู้บริจาคโลหิตควรรับประทานอาหารให้มากพอก่อนดื่มสุราหรือแอลกอฮอล์

 

เห็นไหมคะว่า หากมีการเตรียมพร้อมก่อนมาบริจาคโลหิตก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย เมื่อคุณบริจาคโลหิตไปแล้วเท่ากับคุณได้กระตุ้นร่างกายให้สร้างเม็ดเลือดแดงขึ้นมาใหม่(เม็ดเลือดแดงมีอายุประมาณ 120 วัน)มีผลให้สุขภาพแข็งแรงยิ่งขึ้น สำหรับผู้หญิงสามารถบริจาคได้ทุก 6 เดือน ส่วนผู้ชายบริจาคได้ทุก 3 เดือน

คุณเป็นผู้หนึ่งที่สามารถช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้ มาร่วมบริจาคโลหิตกับโรงพยาบาลศิริราชได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ที่ห้องรับบริจาคเลือด ตึก 72ปี ชั้น 3 นอกจากนี้ยังมีหน่วยรับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่ ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล สอบถามรายละเอียดและนัดหมายล่วงหน้าได้ที่ โทร.02-419 8081 ต่อ 110

"เลือดท่านเพียงน้อยนิด ช่วยชีวิตผู้ป่วยได้"

 

 

อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>>  SIRIRAJ  E-PUBLIC  LIBRARY
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล  

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook