วิธีสังเกตอาหารเสี่ยงโรคติดต่อทางเดินอาหาร และน้ำ

วิธีสังเกตอาหารเสี่ยงโรคติดต่อทางเดินอาหาร และน้ำ

วิธีสังเกตอาหารเสี่ยงโรคติดต่อทางเดินอาหาร และน้ำ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กระทรวงสาธารณสุข ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ดูแลมาตรฐานความสะอาดตลาดสด โรงผลิตน้ำแข็ง เฝ้าระวังโรคติดต่อที่มาจากอาหารและน้ำ หากพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อน มากผิดปกติ ให้ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่ดำเนินการป้องกันควบคุมโรค

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน อากาศที่ร้อนเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคอย่างมาก โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุการเกิดโรคระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด อหิวาตกโรค ไข้รากสาดน้อยหรือไข้ไทฟอยด์ ข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานในปี 2560 พบผู้ป่วย 5 โรคนี้รวม 1,120,372 ราย เสียชีวิต 7 ราย ในรอบ 2 เดือนปี 2561 พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษแล้ว 262,572 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใย ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรค ดูแลตรวจมาตรฐานความสะอาดตลาดสด โรงผลิตน้ำแข็ง และติดตามเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา หากพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อน จำนวนมากผิดปกติ ให้ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่ดำเนินการป้องกันควบคุมโรคโดยเร็ว

นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า อากาศที่ร้อนจัดทำให้อาหารบูดเสียได้เร็วขึ้นกว่าปกติ เนื่องจากเชื้อโรคเจริญเติบโตเร็ว จึงขอให้ประชาชนสังเกตอาหารก่อนรับประทานทุกครั้ง ว่ายังมีลักษณะ กลิ่น รสเหมือนเดิมหรือไม่ หากผิดปกติไม่ควรรับประทาน โดยเฉพาะอาหารที่มีส่วนประกอบของกะทิ หากบูดจะมีฟอง และน้ำแกงเป็นยางเหนียวข้น อย่าเสียดาย ห้ามนำไปอุ่นรับประทานต่อ อาหารที่เก็บไว้นาน 2-4 ชม. ให้อุ่นใหม่ อาหารประเภทยำควรเลือกซื้อจากร้านที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ รับประทานทันที อาหารที่ค้างมื้อต้องนำมาอุ่นให้เดือดก่อนรับประทาน แยกอาหารดิบและอาหารสุก ให้ระมัดระวังการปนเปื้อน ล้างมือก่อนจับต้องอาหารเข้าสู่ปาก ดูแลความสะอาดของห้องครัว เก็บอาหารให้ปลอดภัยจากแมลง หนู หรือสัตว์อื่นๆ ใช้น้ำสะอาดในการล้างวัตถุดิบและภาชนะใส่อาหาร รวมทั้งดื่มน้ำที่สะอาด และน้ำแข็งอนามัย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยจากโรคติดต่อระบบทางเดินอาหาร จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการปวดท้องเกร็ง และถ่ายเหลวหรือเป็นน้ำ การรักษาเบื้องต้น โดยกินน้ำละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ ห้ามกินยาหยุดถ่าย หากอาการไม่ดีขึ้น คลื่นไส้อาเจียนมาก โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook