เตือนภัย! กินโซเดียมมาก เสี่ยงไตวาย
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผย กินอาหารที่มีโซเดียมมาก เสี่ยงเส้นเลือดหัวใจตีบ เส้นเลือดสมองแตก และไตวาย แนะปรับพฤติกรรมการกิน ชิมก่อนปรุง ลดกินอาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป ลดเค็มลดเสี่ยงโรค
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ทั่วโลกตระหนักถึงผลกระทบจากการกินเค็ม องค์กรเคลื่อนไหวเรื่องเกลือและสุขภาพ (World Action on Salt and Health หรือ WASH) จึงกำหนดให้สัปดาห์หนึ่งในเดือนมีนาคมของทุกปีเป็นช่วงเวลาการรณรงค์ (World salt awareness week) โดยในปีนี้ตรงกับวันที่ 12-18 มีนาคม ในประเด็น “5 หนทางสู่ 5 กรัม” ซึ่งหมายถึง 5 วิธีการสู่การบริโภคเกลือ ไม่เกิน 5 กรัมต่อวัน (เกลือ 1 ช้อนชามี 5 กรัม) และกรมอนามัยได้ดัดแปลงให้เหมาะกับวิถีไทยได้แก่
1. เลือกกินผักผลไม้สดแทนผักผลไม้แปรรูป
2. ลดการปรุงเค็มลงเพื่อปรับการรับรส
3. ใช้เครื่องเทศแทนเครื่องปรุงรสเค็มในการปรุงอาหารให้กลมกล่อม
4. ฝึกนิสัยการไม่กินเค็มให้แก่เด็กโดยนำพวงเครื่องปรุงรสออกจากโต๊ะอาหาร
5. อ่านฉลากอาหารทุกครั้งก่อนซื้อ เพื่อเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันโดยเลือกผลิตภัณฑ์ชนิดนั้นที่มีโซเดียม น้อยที่สุด
นอกจากนี้ กรมอนามัยได้ขอความร่วมมือทุกหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข เช่น ศูนย์อนามัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาล รพ.สต. เป็นแม่ข่ายจัดสัปดาห์รณรงค์ลดการกินเค็มในทุกๆ ปี เพื่อเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ให้เกิดความตระหนักและกระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการลดกินเค็ม ไม่ให้ร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินไป
แพทย์หญิงอัมพร กล่าวต่อไปว่า องค์การนานาชาติหลายแห่ง เช่น International Federation of Kidney Foundationและ International Society of Nephrology ได้ร่วมกันกำหนดให้วันไตโลก (World Kidney Day) คือทุกวันพฤหัสบดีสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคมของทุกปี ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 8 มีนาคม โดยในประเทศไทยได้มีคำขวัญ คือ “สตรีไทย ไต Strong” เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักและกระตุ้นให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มสตรีเห็นความสำคัญของการลดกินเค็ม ไม่ให้ร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินไป เนื่องจากโซเดียมไม่เพียงแต่มีในอาหารเกือบทุกชนิดตามธรรมชาติ เช่น ข้าว เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง แต่ยังมีอยู่มากในเครื่องปรุงรสและอาหารแปรรูป เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ้ว ซอสหอยนางรม ผงชูรส ไส้กรอก กุนเชียง อาหารหมักดอง รวมทั้งอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง อาหารกึ่งสำเร็จรูป และอาหารจำพวกขนมขบเคี้ยว ดังนั้นในชีวิตประจำวันแม้จะไม่ได้ปรุงอาหารเพิ่ม แต่ร่างกายก็ได้รับโซเดียมจากอาหารธรรมชาติแล้วประมาณ 600-800 มิลลิกรัม
ทั้งนี้ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ใน 1 วันร่างกายไม่ควรรับโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัม หรือเปรียบเทียบเป็นเกลือ 1 ช้อนชา หากได้รับมากเกินไปก็จะมีผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้เสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูง เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ เส้นเลือดสมองแตก และไตวาย ซึ่งมีขั้นตอนในการรักษายุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายสูงถึงปีละประมาณ 2 แสนบาทต่อคน และหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะเกิดโรคแทรกซ้อนถึงขั้นเสียชีวิต การปรับพฤติกรรมการกินเป็นวิธีที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการได้รับโซเดียมเกินความต้องการของร่างกาย และมีส่วนลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาโรคไตได้