วิธีช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่ถูกต้อง ลดเสี่ยงพิการ-เสียชีวิต
อุบัติเหตุบนท้องถนนสามารถเกิดขึ้นได้ทุกวินาที ซึ่งบางครั้งอาจไม่ใช่ตัวเราเองที่เป็นผู้ประสบภัย แต่เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับบุคคลอื่น ดังนั้น ผู้ใช้รถควรทราบวิธีปฏิบัติกรณีเข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะในกรณีที่ยังไม่มีเจ้าหน้าที่กู้ภัยมาถึงที่เกิดเหตุ เพื่อที่จะให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที รวมทั้งปลอดภัยกับทุกฝ่ายด้วย
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การเรียนรู้วิธีปฏิบัติตนอย่างถูกวิธีจะช่วยป้องกันอุบัติเหตุซ้ำซ้อนที่ทำให้ผู้เข้าไปช่วยเหลือได้รับอันตราย และลดการบาดเจ็บรุนแรงจากการช่วยเหลือไม่ถูกวิธี ปภ.จึงขอแนะประชาชนเรียนรู้วิธีปฏิบัติ ดังนี้
คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก หากบริเวณที่เกิดเหตุมีปริมาณรถหนาแน่นหรือทัศนวิสัยไม่ดี ควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยหาวัสดุหรือกรวยสีสะท้อนแสงมาวางให้ห่างจากจุดเกิดเหตุ เพื่อเตือนให้รถคันอื่นทราบว่าเกิดอุบัติเหตุ ขณะเดียวกันควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตำรวจ หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน หน่วยกู้ชีพกู้ภัย มาช่วยเหลือ ณ จุดเกิดเหตุ เพื่อลดโอกาสเกิดป้องกันอุบัติเหตุซ้ำซ้อน
โทรศัพท์แจ้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน โดยพยายามจดจำและให้ข้อมูลเกี่ยวกับจุดเกิดเหตุ รวมทั้งอาการของผู้บาดเจ็บให้ได้มากที่สุด เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถวางแผนการช่วยเหลือได้อย่าง ถูกต้อง
ช่วยเหลือผู้ประสบเหตุในเบื้องต้น โดย ช่วยเหลือผู้ที่มีอาการรุนแรงเป็นลำดับแรก โดยเฉพาะผู้ที่หมดสติ หยุดหายใจ หัวใจ หยุดเต้น และเสียเลือดมาก ให้ตั้งสติและปฐมพยาบาลเบื้องต้นตามอาการ ดังนี้
กรณีหัวใจหยุดเต้น ให้นำผู้ประสบเหตุนอนราบ บนพื้นแข็ง พร้อมปั๊มหัวใจโดยใช้มือกดบริเวณกลางหน้าอกใต้ลิ้นปี่ 30 ครั้ง สลับกับการเป่าปาก หรือใช้วิธีกดหน้าอกให้ยุบประมาณ 1.5-2 นิ้ว อย่างแรงและเร็วประมาณ 100 ครั้งต่อนาที โดยทำติดต่อกันจนกว่า ผู้ประสบเหตุจะหายใจได้เอง
กรณีกระดูกแตกหรือหัก ผู้ประสบเหตุจะมีอาการบวมบริเวณผิวหนัง เลือดคั่งหรืออวัยวะผิดรูป ห้ามดึงให้กระดูกกลับเข้าที่ และไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุ เพราะอาจทำให้บาดเจ็บรุนแรงมากขึ้น ให้ทำการ เข้าเฝือกชั่วคราว โดยใช้กิ่งไม้นาบทั้งสองข้างของอวัยวะส่วนที่หัก แล้วใช้ผ้าหรือเชือกมัดให้แน่นเพื่อไม่ให้กระดูกส่วนที่หักเคลื่อนไหว
กรณีเลือดออกมาก ให้นำผู้ประสบเหตุนอนราบกับพื้น พร้อมยกส่วนที่เลือดออกมากให้สูงขึ้นจะช่วยให้ เลือดไหลช้าลง จากนั้นทำการห้ามเลือด โดยนำ ผ้าสะอาดกดบริเวณปากแผลโดยตรงหรือใช้วิธีขันชะเนาะ ด้วยการนำผ้าหรือสายยางรัดบริเวณเหนือบาดแผล หากมีอวัยวะฉีกขาด ให้ใช้ผ้าสะอาด ปิดบาดแผลและพันรัดห้ามเลือดไว้ จากนั้นนำอวัยวะส่วนที่ขาดใส่ถุงพลาสติกและปิดปากถุงให้แน่น พร้อมนำถุงไปแช่น้ำแข็ง และส่งให้แพทย์ช่วยเหลือต่อไป
ทั้งนี้ หากไม่มีความรู้ในการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ ห้ามเคลื่อนย้ายผู้ประสบอุบัติเหตุด้วยตนเอง ควรรอให้หน่วยกู้ชีพหรือทีมแพทย์ฉุกเฉินมาช่วยเหลือ จะช่วยลดการบาดเจ็บรุนแรงจากการช่วยเหลือไม่ถูกวิธี ซึ่งอาจทำให้ผู้ประสบเหตุพิการหรือเสียชีวิตได้