5 วิธีโน้มน้าวคนใกล้ชิดไปพบจิตแพทย์
หลายครั้งที่เราพบเห็นคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นญาติ หรือเพื่อนสนิท ที่ส่อแววว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า แต่คนเหล่านั้นก็ยังไม่ยอมเข้ารับการรักษาจากจิตแพทย์ที่โรงพยาบาล อย่างไรก็ตามการแนะนำให้มาพบจิตแพทย์เป็นเรื่องที่ควรทำ เป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่จะทำอย่างไรให้คนเหล่านั้นยินยอมที่จะมาพบจิตแพทย์ด้วยตัวเอง หมอมีฟ้าจากเฟซบุคเพจ สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย แนะนำเทคนิคที่เป็นประโยชน์ดังนี้
1) พูดถึง ความเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้น
ซึ่งอาจจะเป็นทางด้าน
- อารมณ์ เช่น หงุดหงิดฉุนเฉียวผิดปกติ, วิตกกังวลไปทุกเรื่อง, เบื่อไปหมดทุกอย่าง
- ร่างกาย เช่น ซูบผอมเพราะเบื่ออาหาร, ขอบตาคล้ำเพราะนอนไม่หลับ, มีอาการทางร่างกายมากมายแต่ตรวจมาแล้วกี่อย่าง ก็ยังไม่เคยเจอสาเหตุทางกายสักที
- พฤติกรรม เช่น ไม่ค่อยพูดคุยเหมือนแต่ก่อน, มีปากเสียงบ่อยขึ้น, ซึมเฉยเหม่อลอย, ทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าเดิม, ไม่สนใจอยากทำงานอดิเรกที่เคยชอบทำ
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้เป็นสิ่งที่ ใครๆก็เห็นได้ไม่ยาก – ทั้งตัวคนไข้และคนรอบข้าง
และเป็นความเปลี่ยนแปลง ในแง่ลบ ซึ่งตัวคนไข้เองก็รู้สึกเป็นทุกข์ (ที่หมอเจอบ่อยมากคือนอนไม่หลับ ซึม เบื่อหน่ายหงุดหงิด) แต่ที่เจ้าตัวไม่บอกใคร อาจเพราะกลัวว่าคนอื่นจะไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับ
2) แสดงความเป็นห่วง
ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว มักดำเนินมาค่อนข้างยาวนาน (อย่างน้อยก็นานกว่าที่คนส่วนใหญ่จะเป็น หากเจอสถานการณ์เดียวกัน) โดยไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้น หนำซ้ำอาจมีแนวโน้มแย่ลงด้วย
เราควรแสดงออกถึงความเป็นห่วง ว่าเราอยากให้เขา ….. (นอนหลับ/ร่าเริงแจ่มใส/ไปเล่นกีฬา ฯลฯ) ‘เหมือนเดิม’ ซึ่งจะเป็นทั้งการสร้าง ‘ความหวัง’ และทำให้มองเห็น ‘เป้าหมาย’
บางครั้งคนไข้ก็จมอยู่ในความทุกข์จนลืมไปว่าตนเองเคยมีความสุขอย่างไรบ้าง
3) แสดงความเข้าใจและเห็นใจ
ไม่มีใครอยากเป็นทุกข์ แต่คนไข้ก็ไม่ใช่คนแรกและคนเดียวแน่นอนที่ประสบปัญหานี้ บางคนผ่านช่วงเวลาแบบนี้ไปได้ แต่บางคนก็ผ่านไปได้ยาก ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เขาเองก็คงพยายามแก้ปัญหาด้วยตัวเองมาระดับหนึ่งแล้ว
4) แนะนำให้ไปพบจิตแพทย์
ถ้าคนไข้ฟังคุณอย่างเรียบร้อยดีมาจนถึงขั้นนี้ หนทางก็สดใสไปแล้วกว่า 75% อย่างไรก็ตาม ทัศนคติเกี่ยวกับการไปพบจิตแพทย์ในประเทศไทยก็ยังไม่เป็นกลางเท่าในต่างประเทศ แม้ว่าจะดีขึ้นมาก เขาถึงอาจจะมีท่าทีต่อต้านขึ้นมาอยู่บ้างเมื่อได้ยินคำว่า “จิตแพทย์” เช่น “เค้าไม่ได้ผิดปกติซะหน่อย!” , “เค้าไม่ได้เป็นบ้านะ!”
โรคทางจิตเวชที่พบบ่อย คือ โรคทางอารมณ์ค่ะ เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ส่วนโรคทางความคิด หรือที่คนทั่วไปมักเรียกกันว่า “บ้า” นั้น พบน้อยกว่ากันเยอะเลย
ในเมื่อคนทุกคนล้วน เกิด – แก่ – เจ็บ – ตาย ดังนั้นการป่วยก็น่าจะเป็นเรื่องปกติ และการมีอาการอะไรสักอย่างแล้วไปพบแพทย์ก็น่าจะเป็นเรื่องปกติเช่นกัน
5) ข้อควรระวัง
สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก มากพอๆหรืออาจจะมากกว่า “เนื้อหา” ใจความที่พูด ก็คือ
- กาลเทศะ : เวลา สถานที่ บรรยากาศในการพูดคุย ควรเลือกเวลาที่ทุกคนอารมณ์ดี ในที่ๆเป็นส่วนตัว
- ความจริง : จะไม่มีการโกหกใดๆทั้งสิ้นค่ะ เช่น หลอกว่าอีกคนเป็นคนเครียด ให้คนไข้ไปเป็นเพื่อนหน่อย หรือหลอกว่าจะพาไปหาหมอแผนกหนึ่ง แต่พอไปถึงโรงพยาบาลกลับพาไปแผนกจิตเวชแทน
เพราะคนไข้จะรู้สึกว่าถูกหักหลัง ผลที่ตามมาก็คือคนไข้จะไม่เชื่อใจญาติอีกเลย และจะไม่ร่วมมือในการพูดคุยกับจิตแพทย์ กลายเป็นว่าปิดโอกาสไปแทน
ลองคิดดูสิคะ การถูกหลอกเป็นเรื่องที่น่าโกรธน่าเสียใจอยู่แล้ว ยิ่งถ้าคนที่เรารักเป็นคนทำ แล้วเราจะไว้ใจใครได้อีก?
เราไม่จำเป็นต้องพูดความจริงทุกอย่าง แต่ทุกอย่างที่เราพูดต้องเป็นความจริง
- ความหวังดี : ให้คนไข้รับรู้ถึงความเป็นห่วงและปรารถนาดีของเรา แต่ไม่ใช่การไปกล่าวโทษว่าการที่คนไข้เป็นแบบนี้ๆ ทำให้ญาติต้องเครียดตามไปด้วย เพื่อจะบีบให้คนไข้ไปหาหมอ การพูดเช่นนี้ไม่เกิดผลดีค่ะ และคนไข้ส่วนใหญ่ก็รู้อยู่แล้วว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเองมีผลกระทบต่อคนที่รักเขา
- ความพอดี : แนะนำแต่เพียงพอ อย่าคะยั้นคะยอจนเกินไป ให้เวลาเขาได้ไตร่ตรองได้ตัดสินใจด้วย
(อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงแนวทางเบื้องต้น คนแต่ละคนไม่เหมือนกัน โรคแต่ละโรคก็แตกต่างกัน ดังนั้นถ้าหากญาติไม่สามารถเกลี้ยกล่อมคนไข้สำเร็จ ญาติก็ควรไปพบจิตแพทย์ เพื่อที่คุณหมอจะได้ซักถามและให้คำแนะนำเพิ่มเติม ซึ่งต้องดูเป็นรายๆ ไป บางกรณีอาจจำเป็นต้องเรียกรถพยาบาล)
Tips
* ในผู้สูงอายุหรือผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับคำว่าจิตแพทย์ ก็อาจใช้คำว่า หมอผู้เชี่ยวชาญเรื่องนอนไม่หลับ , หมอผู้เชี่ยวชาญด้านอารมณ์ ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องบอกว่าไปพบจิตแพทย์
* การยกตัวอย่างคนรู้จักที่เคยไปพบจิตแพทย์ จะทำให้คนไข้รู้สึกมากขึ้นว่า นี่เป็นเรื่องธรรมดา (เพราะมันก็ธรรมดาจริงๆ) และเห็นว่ามีคนที่หมอรักษาแล้วหายแล้ว ยิ่งถ้าเป็นประสบการณ์ของตัวผู้พูดเองจะยิ่งได้ผลมาก