สถิติแจง 'ทำแท้งเถื่อน' เสี่ยงทำสตรีไทยเสียชีวิต

สถิติแจง 'ทำแท้งเถื่อน' เสี่ยงทำสตรีไทยเสียชีวิต

สถิติแจง 'ทำแท้งเถื่อน' เสี่ยงทำสตรีไทยเสียชีวิต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยแต่ละปีทั่วโลกมีการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยประมาณ 20 ล้านคน ส่งผลให้สตรีกว่า 70,000 คน เสียชีวิตจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย เดินหน้าลดปัญหาในสตรีไทยผลักดันให้เกิดเครือข่ายอาสาส่งต่อยุติการตั้งครรภ์ (RSA: Referral System for Safe Abortion) เพื่อการเข้าถึงบริการของวัยรุ่นและสตรีที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม 

นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า การแท้งที่ไม่ปลอดภัยเป็นปัญหาสาธารณสุข ที่สำคัญของทุกประเทศทั่วโลก โดยเป็นสาเหตุสำคัญของการป่วย และตายของมารดา องค์การอนามัยโลกประมาณการว่าในแต่ละปีมีการทำแท้งทั่วโลกประมาณ 46 ล้านคน ในจำนวนนี้มีประมาณ 20 ล้านคน เป็นการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย และมีสตรีเสียชีวิตจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ปีละประมาณ 70,000 คน ในจำนวนนี้ ร้อยละ 95 เกิดขึ้นในประเทศที่กำลังพัฒนารวมทั้งประเทศไทยด้วย แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลการยุติการตั้งครรภ์ที่ชัดเจน เนื่องจากผู้ที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงบริการบริการที่ปลอดภัยและถูกกฎหมายได้ จึงหันไปใช้บริการทำแท้งเถื่อน หรือซื้อยายุติการตั้งครรภ์จากอินเตอร์เน็ต ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมาเพื่อลดอันตรายการเจ็บป่วยและตายจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขจึงร่วมมือกับ คณะแพทยศาสตร์จุฬา ศิริราช รามาธิบดี ขอนแก่น และสงขลานครินทร์ ภายใต้การสนับสนุนจาก Concept Foundation และ องค์การอนามัยโลก ได้ทำการศึกษาวิจัยระบบการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ด้วยยา หลังจากนั้นได้ผลักดันยาให้ขึ้นทะเบียนในปี 2557 และบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติในปีต่อมา เพื่อใช้ในบริการยุติการตั้งครรภ์ตามกฎหมายและข้อบังคับแพทยสภา

กว่า 60 ปีมาแล้ว ที่กฎหมายไทยอนุญาตให้ผู้หญิงยุติการตั้งครรภ์ได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 โดยผู้ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ต้องเป็นแพทย์ผู้มีใบประกอบวิชาชีพ เวชกรรม ในกรณีที่ผู้หญิงตั้งครรภ์มีปัญหาสุขภาพกาย หรือปัญหาสุขภาพจิต หรือตั้งครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 276, 277, 282, 283 หรือ 284 คือในกรณีดังต่อไปนี้ ถูกข่มขืน เด็กอายุไม่เกิน 15 ปี การค้าบริการทางเพศทั้งที่ยินยอม และไม่ยินยอม หรือการล่อลวงอนาจาร แต่เนื่องจากที่ผ่านมาสถานบริการสุขภาพที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยยังมีจำนวนน้อยมาก เนื่องจากทัศนคติของสังคมและผู้ให้บริการสาธารณสุขจำนวนมาก ยังมองเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ในทางลบ และต่อต้านการจัดให้มีบริการยุติการตั้งครรภ์ในสถานบริการของตน กรมอนามัยจึงได้ผลักดันให้เกิดเครือข่ายอาสาส่งต่อยุติการตั้งครรภ์ (RSA: Referral System for Safe Abortion) เพื่อการเข้าถึงบริการของวัยรุ่นและสตรีที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม

ทั้งนี้ ผู้มีปัญหาสามารถโทรไปที่สายปรึกษาท้องไม่พร้อม 1663 เพื่อรับบริการปรึกษาทางเลือก และ ส่งต่อดูแลไม่ว่าทางเลือกจะเป็นการตั้งครรภ์ต่อหรือยุติการตั้งครรภ์ รวมทั้งการให้บริการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันเครือข่าย RSA มีแพทย์อาสาที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากกรมอนามัย รวม 110 คน และยังมีสหวิชาชีพอาสาจำนวน 262 คน เพื่อให้สตรีไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีรับวันสตรีสากล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook