วัคซีนพิษสุนัขบ้า ฉีดอย่างไร? ฉีดกี่ครั้ง?

วัคซีนพิษสุนัขบ้า ฉีดอย่างไร? ฉีดกี่ครั้ง?

วัคซีนพิษสุนัขบ้า ฉีดอย่างไร? ฉีดกี่ครั้ง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รศ.นพ.วินัย  รัตนสุวรรณ
ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

ในปัจจุบันยังไม่มียาใดที่ใช้รักษาโรคพิษสุนัขบ้าได้ แต่เราป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน    

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ Rabies virus โดยการฉีดวัคซีนมีได้ 2 รูปแบบ คือ การฉีดก่อนการสัมผัสเชื้อให้กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการถูกสัตว์กัดหรือการสัมผัสเชื้อจากสัตว์ที่เป็นโรค เช่น บุรุษไปรษณีย์ หรือสัตวแพทย์ และการฉีดวัคซีนหลังถูกสัตว์กัดหรือสัมผัสสัตว์ที่อาจมีเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าอยู่ในตัว 

สำหรับการฉีดวัคซีนหลังการถูกสัตว์กัดหรือสัมผัสสัตว์ ซึ่งต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงของการติดเชื้อ ถ้ามีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า ก็ต้องฉีดวัคซีน เช่น ถูกสัตว์เลียและน้ำลายสัตว์ถูกผิวหนังบริเวณที่มีแผลหรือรอยถลอก การถูกสัตว์กัด  ถูกสัตว์ข่วนจนเป็นแผลและมีเลือดออก หรือได้รับสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลายของสัตว์กระเด็นเข้าเยื่อบุตา ปาก จมูก หรือแผลตามผิวหนัง 

สำหรับการพิจารณาว่าจะต้องฉีดวัคซีนกี่ครั้ง มีเกณฑ์การพิจารณาจากประวัติการได้รับวัคซีน  เช่น ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อนเลย หรือเคยฉีดมาแล้วแต่น้อยกว่า 3 เข็ม เหล่านี้เป็นต้น 

ส่วนวิธีการฉีดวัคซีนนั้น ฉีดได้  2 วิธี คือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular; IM) หรือฉีดเข้าผิวหนัง (Intradermal; ID)  ซึ่งทั้ง 2 วิธี จะมีข้อกำหนดของความชำนาญในการฉีดและปริมาณการฉีดในแต่ละครั้ง  เช่น  กรณีที่เลือกฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อต้นแขน จะต้องได้รับการฉีด 5  ครั้ง หรือ 3  ครั้ง  ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงต่อการเป็นโรคพิษสุนัขบ้า และประวัติการฉีดวัคซีนในอดีตของผู้ป่วย แต่ถ้าเป็นการฉีดเข้าผิวหนังบริเวณต้นแขน จะต้องได้รับการฉีด 4  หรือ 5 ครั้ง  ซึ่งขึ้นอยู่กับการฉีดว่า ฉีดครั้งละกี่จุด 

อย่างไรก็ตาม  การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าด้วยการฉีดวัคซีนก่อนสัมผัส เชื้อจะได้ผลดีกว่าการฉีดวัคซีนหลังสัมผัสเชื้อ  และต้องฉีดตามวันและปริมาณที่กำหนด เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อจากพิษสุนัขบ้า ซึ่งหลังจากได้รับวัคซีนแล้ว  อาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นบ้าง  โดยอาการจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย เช่น บางรายมีอาการปวด แดง ร้อน คัน หรือ มีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายเองเมื่อได้รับการรักษาด้วยยาตามอาการ

 

 

อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>>  SIRIRAJ  E-PUBLIC  LIBRARY
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook