แพทย์ผิวหนังชี้ "โรคเพมฟิกัส" ไม่ใช่โรคติดต่อ

แพทย์ผิวหนังชี้ "โรคเพมฟิกัส" ไม่ใช่โรคติดต่อ

แพทย์ผิวหนังชี้ "โรคเพมฟิกัส" ไม่ใช่โรคติดต่อ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรคเพมฟิกัสยังไม่ทราบสาเหตุของโรคที่ชัดเจน แต่ไม่ใช่โรคติดต่อสามารถสัมผัสและอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยได้ตามปกติ แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาอย่างต่อเนื่อง พร้อมแนะวิธีดูแลป้องกันตัวเองอย่างถูกวิธีตามคำแนะนำของแพทย์

นายแพทย์สมศักดิ์  อรรฆศิลป์  อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีการเสนอข่าวชายวัย 68 ปี จากจังหวัดนครราชสีมา ป่วยเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง มีอาการผิวหนังพุพอง เลือดออก และคันทั้งตัว ซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และสาธารณสุขอำเภอพร้อมด้วยสหวิชาชีพได้ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วยรายดังกล่าว และนำเข้ารักษาที่โรงพยาบาลจักราช

ทั้งนี้ จากข้อมูลในพื้นที่พบว่าผู้ป่วยมีอาการของโรคในกลุ่มตุ่มน้ำพองเรื้อรังซึ่งเกิดจากภูมิต้านทานของร่างกายทำงานผิดปกติ ทำให้มีการสร้างแอนติบอดีมาทำลายการยึดเกาะของเซลล์ผิวหนัง ผิวหนังจึงหลุดลอกออกจากกันได้ง่าย ประกอบกับปัจจัยทางพันธุกรรมและปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมมีส่วนในการกระตุ้นโรคด้วย โรคนี้พบไม่บ่อยแต่จัดเป็นโรคผิวหนังที่มีความรุนแรง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 50-60 ปี อย่างไรก็ตามโรคนี้เกิดได้กับทุกวัย รวมถึงในเด็ก เพศชายและหญิงมีโอกาสเกิดโรคเท่ากัน ที่สำคัญไม่ใช่โรคติดต่อ สามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนในครอบครัวหรือสังคมได้

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคผิวหนังในผู้ป่วยรายดังกล่าว พบว่าเป็นโรคเพมฟิกัส ซึ่งจะมีแผลถลอกเรื้อรังที่บริเวณเยื่อบุในปาก เหงือก กระพุ้งแก้ม และมีตุ่มพองหรือแผลถลอกบริเวณผิวหนัง ขยายออกกลายเป็นแผ่นใหญ่ มีอาการปวดแสบมาก แผลถลอกอาจมีสะเก็ดน้ำเหลือง หากมีการติดเชื้อแทรกซ้อน จะทำให้แผลลุกลามและควบคุมได้ยาก ผู้ป่วยโรคเพมฟิกัสแต่ละรายมีความรุนแรงของโรคแตกต่างกัน การรักษาจะให้ยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน โดยใช้ในขนาดสูง 0.5-1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของโรคมาก หรือมีผื่นในบริเวณกว้าง จำเป็นต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกันร่วมด้วย  การรักษามีจุดประสงค์ในการลดการเกิด
ตุ่มน้ำใหม่และเร่งการสมานแผลให้เร็วที่สุด  ใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ แผลจะสมานหากไม่มีภาวะแทรกซ้อน และหลังจากนั้น แพทย์จะปรับลดยา โดยใช้ยาที่น้อยที่สุดที่จะควบคุมโรคได้ ผู้ป่วยบางรายอาจเข้าสู่ระยะโรคสงบหลังรักษา 3 - 5 ปี โดยอาจมีอาการโรคกำเริบและสงบสลับกันไป ผู้ป่วยบางรายจำเป็นต้องได้รับการรักษาต่อเนื่อง เนื่องจากยังไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาด  

คำแนะนำในการปฏิบัติตัว ควรทำความสะอาดร่างกายอย่างสม่ำเสมอ บริเวณที่เป็นแผลให้ใช้น้ำเกลือทำความสะอาด ไม่แกะเกาผื่น เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ผู้ป่วยที่มีแผลในปาก ควรงดอาหารรสจัด งดรับประทานอาหารแข็ง เช่น ถั่ว ของขบเคี้ยว เนื่องจากอาจกระตุ้นการหลุดลอกของเยื่อบุในช่องปาก หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักๆ ไม่ควรใส่เสื้อผ้ารัดคับ เพื่อลดการถลอกที่ผิวหนัง หลีกเลี่ยงแสงแดด และความเครียด เป็นปัจจัยกระตุ้นโรคที่สำคัญ ทั้งนี้ ผู้ป่วยต้องมารักษาอย่างต่อเนื่อง ตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ อย่าลดหรือเพิ่มยาเอง การรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอจะทำให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไปไม่มีรอยโรคใหม่เกิดขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook