เผยผู้สูงอายุกระดูกหักปีละ 3 หมื่นคน บางส่วนมีภาวะกระดูกสะโพกหักซ้ำ
กรมการแพทย์ เผยสถิติปัจจุบัน ผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไปชาย-หญิงป่วยกระดูกหัก 30,000 คนต่อปี ในจำนวนนี้ 6-8% มีภาวะกระดูกสะโพกหักซ้ำอีกด้วย
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผย จากการศึกษาจากสถิติพบว่า ปัจจุบันมีผู้สูงอายุประมาณ 30,000 คน ต่อปีที่เป็นโรคกระดูกพรุนและ เกิดการหัก เช่น กระดูกข้อมือ กระดูกหลัง กระดูกสะโพกหัก โดยจำนวนนี้พบว่าเฉพาะผู้ป่วยที่กระดูกสะโพกหัก มีโอกาสหักซ้ำ 6-8% และจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เกี่ยวกับ Burden of osteoporosis in Thailand ปี 2542 พบว่าอุบัติการณ์การเกิดกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุคนไทยจะสูงขึ้นปีละ 180 รายต่อแสนประชากรผู้สูงวัย เป็น 450-780 รายต่อแสนประชากรผู้สูงวัยในปี 2568 ทั้งยังมีผลการศึกษาจากต่างประเทศพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มนี้กว่า 20% จะเสียชีวิตภายใน 1 ปี 40% ไม่สามารถเดินด้วยตัวเองได้ และมากถึง 80% ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันเองได้
กระดูกสะโพกหักนั้นถ้าไม่ได้รับการดูแลที่ดี ไม่ได้รับการรักษาทันทีก็เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเสียชีวิต ที่ผ่านมาพบว่า ผู้ป่วยหลายรายที่มีอาการสะโพกหัก แต่ยังไม่ได้รับการรักษาด้วยปัจจัยเช่น ห้องผ่าตัดไม่พร้อม หรือผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อน ก็เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย ซึ่งขณะนี้ สธ.มี นโยบายว่าผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักต้องได้รับการผ่าตัดภายใน 72 ชั่วโมง ขณะที่หลังการผ่าตัด การฟื้นฟูผู้ป่วยป้องกันไม่ให้เกิดการหักซ้ำ ก็ได้มีการอบรมทีมบุคลากรแพทย์ พยาบาลเพื่อช่วยจะเป็นกำลังสำคัญในการให้ความรู้ด้วย ซึ่งการป้องกันกระดูกพรุนทำได้ถ้าปฏิบัติตนตามหลัก 3 อ. คือ อาหาร รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย ซึ่งจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงแก่กล้ามเนื้อและมวลกระดูกหนาแน่น และอารมณ์ การพักผ่อนที่เพียงพอ
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ได้ออกนโยบายประกาศโครงการรู้ทันกันหักซ้ำ เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพปี 2560 กรมการแพทย์มีการรณรงค์โครงการดังกล่าวโดยมุ่งเน้นการขจัดการหักซ้ำกระดูกสะโพกของผู้สูงอายุ ซึ่งโรงพยาบาลในเขตสุขภาพต่างๆที่ประสบปัญหาดังกล่าวให้การตอบรับ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการด้วย