“ยีนนอนน้อย” คำอธิบายของคนที่นอนไม่กี่ชั่วโมง แต่สดใสเหมือนนอนเต็มที่
เราเป็นคนหนึ่งที่ใส่ใจเรื่องการนอนมากๆ หากคืนไหนนอนน้อย เมื่อตื่นขึ้นมาในตอนเช้าจะรู้เลยว่าวันนี้ต้องรีบกลับมานอนต่อที่บ้านให้ได้ และตอนบ่าย ก็จะง่วงหงาวหาวนอนมากเป็นพิเศษจนต้องพึ่งสารพัดคาเฟอีน เชื่อว่าหลายๆ คนก็น่าจะคล้ายๆ เรา แต่ก็ยังมีมนุษย์อีกกลุ่มหนึ่ง ที่นอนแค่วันละไม่กี่ชั่วโมง แต่กลับสดใสมีพลังงานมากมายเหมือนได้นอนอย่างเต็มอิ่ม ไม่แน่ว่ามนุษย์กลุ่มนี้อาจจะมี “ยีนนอนน้อย” อยู่ในร่างกายก็ได้
ตามทฤษฎีแล้ว มูลนิธิการนอนหลับแห่งชาติ ในสหรัฐอเมริกา ระบุระยะเวลาในการนอนหลับที่เหมาะสม โดยแบ่งตามอายุคร่าวๆ ว่า วัยรุ่น วัยทำงาน ควรนอนวันละ 7-9 ชั่วโมง ในขณะที่วัยประถม-มัธยม ควรนอนวันละ 8-11 ชั่วโมง (นอนกี่ชั่วโมง ถึงจะ “พอดี” กับ “อายุ”) แต่ในทางปฏิบัติแล้ว เราอาจพบว่าบางคนนอนตามเวลาที่กำหนด แต่ก็ยังรู้สึกอ่อนเพลียง่วงนอน ในขณะที่บางคนนอนแค่ 4 ชั่วโมง แต่ก็สดชื่นแจ่มใสมีพลังงานมากพอ
ยีนนอนน้อยที่ว่า เป็นการกลายพันธุ์ของยีนที่เรียกว่า DEC2 ซึ่งทำให้ร่างกายของคนเหล่านั้นต้องการเวลาในการนอนพักผ่อนน้อยกว่าคนอื่น มีพลังงานเหลือเฟือมากพอที่จะทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้อย่างเต็มที่อย่างสดชื่นแจ่มใส สมองตื่นตัวตามปกติ ไม่รู้สึกเพลียหรือง่วงเหมือนคนทั่วไป
คนทั่วไปที่ว่า หากลองได้นอนหลับในแต่ละวันต่ำกว่า 6 ชั่วโมงไปเรื่อยๆ ทุกวัน ร่างกายจะเริ่มส่งสัญญาณฟ้องว่าเริ่มไม่ไหว และอาจจะเริ่มมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกายในสักวัน พูดง่ายๆ ก็คือระบบในการทำงานของร่างกายเริ่มรวนนั่นเอง
ทั้งนี้ ยีน DEC2 ส่งผลให้คนเหล่านั้นสามารถใช้เวลาในการนอนหลับสั้นลงกว่าคนปกติได้ เพราะการนอนของเขาแม้ว่าจะใช้เวลาสั้น แต่เป็นการนอนอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าคนทั่วไป กล่าวคือ นอนหลับสนิท พักผ่อนอย่างเต็มที่จริงๆ
แต่ถึงกระนั้น การกลายพันธุ์ของยีนพิเศษที่ว่านี้เป็นไปได้ยากมาก อาจเกิดขึ้นได้แค่เพียง 1% เท่านั้น ดังนั้นหากใครที่คิดว่าเราเป็นแค่คนธรรมดาเดินดินทั่วไป ก็แนะนำว่าให้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอราวๆ 7-9 ชั่วโมงต่อวันเหมือนเดิมจะดีที่สุด