สัตว์ป่วยตายปริศนา อย่าชำแหละกิน เสี่ยงโรคอันตราย
กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนหากพบสัตว์ตายหรือป่วยตายผิดปกติ อย่าชำแหละสัตว์ดังกล่าวมาปรุงอาหารรับประทาน ขายหรือนำไปให้สัตว์อื่นกินเด็ดขาด ขอให้รีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันที หากจำเป็นต้องสัมผัสให้สวมถุงมือยางและหน้ากากอนามัยทุกครั้ง ถ้ามีอาการป่วยสงสัยให้รีบพบแพทย์
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้มีข่าวเกี่ยวกับโรคที่เกิดในสัตว์หลายพื้นที่ โดยเฉพาะโรคพิษสุนัขบ้าและโรคอื่นๆ ในสัตว์ ซึ่งอาจติดต่อมาสู่คนได้หากมีการสัมผัสหรือนำมาปรุงอาหารรับประทาน เช่น โค กระบือ หมู แพะ แกะ หรือสัตว์ปีก เป็นต้น กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำประชาชนว่า หากพบสัตว์เลี้ยงตายหรือป่วยตายผิดปกติ โดยเฉพาะการตายที่เกิดจากสุนัขกัดหรือสัตว์ล้มป่วยตายกระทันหัน อย่านำสัตว์ดังกล่าวมาชำแหละปรุงเป็นอาหารรับประทาน โดยเฉพาะการปรุงอาหารแบบดิบ หรือสุกๆดิบๆ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่อาจติดโรคได้ และไม่ขายหรือนำไปให้สัตว์อื่นกินเด็ดขาด หลีกเลี่ยงการสัมผัส ขอให้รีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันที
นอกจากนี้ อีกโรคสำคัญที่อาจพบในสัตว์ป่วยตายได้ คือ โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นในสัตว์กินหญ้าแทบทุกชนิด ทั้งสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ แพะ หรือแกะ โดยสัตว์ติดจากการเล็มหญ้าที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส แอนทราซิส (Bacillus anthracis) เข้าไป เชื้อโรคนี้จะทำให้สัตว์ป่วยและตายอย่างรวดเร็ว โรคแอนแทรกซ์สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนจากการสัมผัสทางผิวหนังที่มีบาดแผล หรือติดต่อจากการหายใจ หรือผ่านการกินเนื้อสัตว์ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป
ผู้ป่วยจะมีอาการตามลักษณะการติดต่อ
1) การติดเชื้อที่ผิวหนัง อาการจะเป็นผื่นนูน คัน แต่ไม่เจ็บ ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นตุ่มพุพองแล้วแตกเป็นแผลแดงนูน ซึ่งต่อมาเกิดเป็นสะเก็ดสีดำ และเกิดเป็นแผลเนื้อเน่าตายได้
2) ระบบทางเดินอาหาร จะมีไข้ ปวดมวนท้อง คลื่นไส้ อาเจียน คล้ายกับอาการของอาหารเป็นพิษ
3) ระบบทางเดินหายใจ จะมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว หายใจลำบาก ซึ่งหากเข้ารับการรักษาไม่ทันหรือไม่ถูกต้อง อาจทำให้เสียชีวิตได้
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า วิธีการป้องกันโรคแอนแทรกซ์ คือ
1. หากพบสัตว์ตายหรือป่วยตายผิดปกติ ขอให้รีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันที
2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือชำแหละซากสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรค หากจำเป็นต้องสัมผัสให้สวมถุงมือยางและหน้ากากอนามัยทุกครั้ง
3. หลีกเลี่ยงนำสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่สงสัยว่าป่วยตายมากิน แจกจ่าย ขาย หรือนำไปให้สัตว์อื่นกิน เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรค
4. หลีกเลี่ยงการซื้อหรือบริโภคเนื้อสัตว์ที่ไม่ทราบแหล่งที่มาที่ชัดเจน
5. เกษตรกรหรือผู้ที่ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยงต่อ การติดโรค ควรนำสัตว์ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรค
ทั้งนี้ หากประชาชนมีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการตรวจรักษาที่ถูกต้อง ประชาชนสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422